ทำไมจีนมอบแพนด้า มองนัยการทูตสัตว์ฉบับจีน กลยุทธ์เก่าแก่อันใสซื่อที่สุด-แสนน่ารัก

แองเจล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เยี่ยมชมแพนด้า Jiao Qing ในสวนสัตว์เบอร์ลิน เมื่อ 5 ก.ค. 2017 ภาพจาก AXEL SCHMIDT / POOL / AFP

นับตั้งแต่มนุษย์รู้จักการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันไปจนถึงการติดต่อระหว่างท้องถิ่น “การทูต” เป็นเครื่องมือสำคัญในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ระหว่างแต่ละฝ่าย ในบรรดากลยุทธ์การทูตที่เก่าแก่ “สัตว์” เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในทางการทูตมาหลายร้อยปี นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับว่า เป็น Soft Power ในรูปแบบที่ให้ความรู้สึก “ใสซื่อบริสุทธิ์” มากที่สุด

มนุษย์ให้ความหมายกับสัตว์บนโลกใบนี้แตกต่างกันออกไป ในหลายวัฒนธรรม สัตว์ (ที่มีตัวตนจริง) บางชนิดถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจ” อาทิ สิงโต หรือหมี ขณะที่สัตว์ซึ่งสื่อถึง “กำลังวังชา” ก็มีอาทิ ม้า หรือช้าง และหากเป็นเรื่อง “ความสวยงาม” ก็อาจเป็นนกสีสันสดใสที่หาดูได้ยาก การแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเก่าแก่ และหากพูดถึงประเทศที่ใช้สัตว์ในทางการทูตมากที่สุด คนจำนวนมากต้องนึกถึงจีน

จีนใช้แพนด้าในทางการทูตมาตั้งแต่สมัยบูเช็กเทียน (625-705) มีบันทึกว่าจีนในสมัยบูเช็กเทียนส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปที่ญี่ปุ่น (Diana Usurelu, 2019) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนส่งแพนด้าไปนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง Diana Usurelu คอลัมนิสต์จากสื่อในเบอร์ลิน บรรยายว่า ตั้งแต่ 1958-1982 จีน “ส่งมอบ” แพนด้าในฐานะของขวัญให้ 9 ประเทศ บรรดาประเทศปลายทางล้วนปรากฏชื่อมหาอำนาจยักษ์ใหญ่แต่ละทวีป ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) และอีกหลายประเทศ จุดเริ่มต้นมาจากในปลายยุค 50s ซึ่งจีนส่งมอบแพนด้าให้กับสวนสัตว์มอสโคว์

จุดเปลี่ยนของการทูตมาอยู่ที่ปี 1972 เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน (Richard Nixon) เดินทางไปเยือนจีนหวังให้สัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ดำเนินไปอย่างราบรื่นขึ้น จีนตอบรับการเปิดประตูครั้งนั้นด้วยการส่งมอบแพนด้า 2 ตัวไปให้สวนสัตว์ในวอชิงตัน ดีซี ขณะที่สหรัฐฯ ส่งชะมดวัว (musk oxen) ไปตอบแทน

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่แพนด้าลดน้อยลงอย่างมากในปี 1982 จีนระงับส่งแพนด้าไปเป็นของขวัญแก่นานาประเทศ แต่เปลี่ยนนโยบายมาเป็นให้ “ยืม” แพนด้าเป็นระยะเวลา 10 ปี และมีการพิจารณาต่อสัญญากันเป็นวาระ

แต่นอกเหนือจากแพนด้า จีนยังใช้สัตว์ชนิดอื่นในทางการทูต อาทิ ปลา sturgeon, เต่ายักษ์ และม้า หากมองในภาพกว้างกว่านั้น รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล กล่าวในการปาฐกถาเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนว่า หลังค.ศ. 2049/พ.ศ. 2592 จีนเล็งว่าจะมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ แม้ว่าในปัจจุบันจีนจะมีข้อพิพาทกับหลายพื้นที่ในเรื่องหมู่เกาะต่างๆ แต่หากวิเคราะห์ในช่วงที่ผ่านมา วิธีหนึ่งซึ่งจีนนิยมใช้คือ ซอฟท์ พาวเวอร์ (soft power) กับมิตรประเทศ

จีนใช้นโยบายนี้ในรูปแบบมอบความช่วยเหลือ เช่น ให้เงินทุนช่วยเหลือแบบให้เปล่า, ให้กู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยปกติแต่กู้ระยะยาว เป็นต้น หรือบางครั้งก็ยกหนี้ให้เลยก็มี วิธีนี้จีนใช้ซื้อใจผู้นำของมิตรประเทศนั้นเพื่อให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของจีน

แน่นอนว่า การบรรลุเป้าหมายต่างๆ จีนย่อมใช้เครื่องมือหลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์นั้นๆ สำหรับการมอบสัตว์ให้เป็น “ของขวัญ” นัยหนึ่งคือการแสดงความเคารพ ให้เกียรติแก่ผู้รับมอบของขวัญ

จาง ฮีมิน (Zhang Hemin) ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์ของจีน ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ (Time) แสดงความคิดเห็นว่า บรรพบุรุษของแพนด้าเคยล่าและกินเนื้อสัตว์เหมือนหมีชนิดอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป สัญชาติญาณนี้ของพวกมันสูญหายไป

“นั่นเป็นข้อความที่สำคัญสำหรับเราที่จะส่งความหมายไปทั่วโลกว่าเราโปรโมตสันติภาพ ไม่ใช่แค่ในจีน แต่เป็นทั่วทั้งโลก” ผอ.ที่ทำงานในศูนย์ฯ มายาวนานกล่าว

ข้อมูลเมื่อปี 2017 ระบุว่า จำนวนแพนด้าทั่วโลกอยู่ที่ 1,800 ตัว สื่อในสหรัฐฯเผยว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจ่ายเงินประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้จีนเป็นค่าตอบแทนในการยืมแพนด้ามาไว้ในประเทศตัวเอง และหากพวกมันมีลูกก็จะต้องจ่ายเพิ่มตัวละ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ลูกของพวกมันก็ยังถือว่าเป็นสมบัติของจีนอยู่ (MICHELE DEBCZAK, 2017)

การทูตสัตว์ในสยามและเอเชีย

และหากมองภาพกว้างออกมาจากจีน กลยุทธ์นี้ได้รับความนิยมมากในเอเชีย ในสยามเองก็มียึดถือช้างเป็นสัตว์ที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอย่างมาก พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ล้วนมีช้างมงคล หรือช้างคู่บุญญาธิการ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีช้างเผือกคู่บุญญาธิการ 2 เชือก คือพระอินทร์ไอยราวรรณวิสุทธราชกิรินี เป็นช้างพังเผือก และช้างพลายเผือกอีกเชือกหนึ่งชื่อเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ (สีมา สมานมิตร, 2548) รายชื่อเครื่องบรรณาการที่สยามส่งให้จีนก็มีชื่อสัตว์อย่างช้าง รวมถึงสัตว์เล็กอย่างนกแก้ว นกยูงอีกด้วย

เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องราชบรรณาการจากสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งส่งไปพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถึงฝรั่งเศส ไม่ได้มีเพียงพระมหามงกุฎเท่านั้น ยังมีช้างสยามอีก 2 เชือก (ไกรฤกษ์ นานา, 2559)

ในภูมิภาคใกล้เคียง ผู้นำเวียดนามยังเคยส่งมอบช้างให้เหมา เจ๋อตุง เมื่อปี 1953 เป็นหมากที่ช่วยเรียกรอยยิ้มได้มากทีเดียว อันทำให้มีการส่งช้างตามมาอีกครั้งในปี 1960

ช้างสำหรับชาวสยามถือเป็นสัตว์ที่แสดงถึงอำนาจและบารมี ขณะที่ประเทศอื่นก็ล้วนมีสัตว์สัญลักษณ์ที่บ่งชี้เอกลักษณ์ของประเทศตน ออสเตรเลียมีการทูตสัตว์ของตัวเองเช่นกัน พวกเขาใช้ “การทูตโคอาลา” ในการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 เมื่อปี 2014 ที่บริสเบน ออสซี่นำโคอาลามาให้ผู้นำมหาอำนาจได้สัมผัสต่อหน้าสื่อ นักวิเคราะห์มองว่า โคอาลา ถูกใช้เป็นเครื่องมือผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดและจริงจังระหว่างการหารือ

รัฐบาลออสเตรเลีย ยังเคยมอบจระเข้ให้เจ้าชายจอร์จแห่งสหราชอาณาจักร และยังส่งสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้า (อย่างจิงโจ้) 4 ตัวไปให้สิงคโปร์เป็นเวลาครึ่งปีเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย-สิงคโปร์

สัตว์หลายชนิดในเอเชียถูกมองว่าค่อนข้างแปลกหูแปลกตาสำหรับชาวตะวันตก นั่นเองจึงทำให้การส่งมอบมังกรโคโมโด (Kamodo dragon) สัตว์ที่ถูกขนานนามว่า “สัตว์เลื้อยคลานที่เซ็กซี่สุดในโลก” จากประธานาธิบดีซูฮาร์โต ของอินโดนีเซีย ถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นเรื่องฮือฮาในช่วงหนึ่ง

การทูตสัตว์ในตะวันตก

รัสเซียเองก็เป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจที่ใช้การทูตสัตว์ และเป็นที่รู้กันว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นคนรักสุนัข ซึ่งแนวทางการทูตสัตว์ของรัสเซีย (และในยุคที่เป็นสหภาพโซเวียตด้วย) ก็เห็นได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สุนัขที่พวกเขาทดลองส่งขึ้นวงโคจรและลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย สเครลกา (Strelka) เป็นหนึ่งในสองตัวที่ถูกส่งขึ้นไปและกลับมาอย่างปลอดภัย ภายหลังมันยังมีลูกตัวหนึ่งชื่อพูชินกา (Pushinka) ซึ่งประธานาธิบดีนิกิาตา ครุชเชฟ ( Nikita Khrushchev) ส่งมอบมันให้สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ในยุคจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F Kennedy) เป็นของขวัญแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำมหาอำนาจท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดช่วงสงครามเย็น

ความเป็นมาของการแลกเปลี่ยน “ของขวัญ” นี้ถูกบอกเล่าผ่านแคโรไลน์ เคนเนดี ลูกสาวของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอเล่าเหตุการณ์ระหว่างการพบปะของสองประธานาธิบดีที่เวียนนา เมื่อวงสนทนานึกหัวข้อพูดคุยกันไม่ออกแล้ว แม่ของเธอจึงเริ่มพูดคุยถึงสุนัข ช่วงหนึ่งแม่ของเธอถามเกี่ยวกับลูกของสเตรลกา

“ไม่กี่เดือนต่อมา มีลูกสุนัขถูกส่งมา พ่อของฉันไม่รู้เรื่องเลยว่ามันมาจากไหน และไม่เชื่อว่าแม่ของเธอจะมีส่วนด้วย” แคโรไลน์ กล่าวถึงสุนัขซึ่งก็คือพูชินกา ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ยังส่งจดหมายขอบคุณผู้นำรัสเซียสำหรับ “ของขวัญ” อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. “ช้างบรรณาการ” จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส จริงหรือ?”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559.

สีมา สมานมิตร. “ทุ่ง ป่า และภู เพื่อล่าโพนช้าง ของสมเด็จพระนารายณ์”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548.

DEBCZAK, MICHELE. “How China Uses Its Pandas as Diplomacy Tools”. Mentalfloss. Online. Published 24 MAR 2017. Access 17 SEP 2019. <http://mentalfloss.com/article/93627/how-china-uses-its-pandas-diplomacy-tools>

Gee, Alison. “Pushinka: A Cold War puppy the Kennedys loved”. BBC. Online. Published 6 JAN 2014. Access 17 SEP 2019. <https://www.bbc.com/news/magazine-24837199>

HANNAH BEECH / WOLONG. “How Pandas Are Becoming a Tool of Chinese Diplomacy”. Time. Online. Published 7 JAN 2016. Access 17 SEP 2019. <https://time.com/4170789/the-panda-doctrine/>

Usurelu, Diana. “Animal Diplomacy: Does it melt the Diplomats’ Hearts?”. Berlin Global. Online. Published 12 APR 2019. Access 17 SEP 2019. <http://www.berlinglobal.org/index.php?animal-diplomacy-does-it-melt-the-diplomats-hearts>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2562