ทุ่ง ป่า และภู เพื่อล่าโพนช้าง ของสมเด็จพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์ ทรงช้าง ลพบุรี
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงช้าง

ผู้เขียนเป็นชาวลพบุรี คุ้นเคยกับวัง วัด และโบราณสถานที่นั่น ตลอดจนทุ่งนา ป่าเขาของเมืองแห่งประวัติศาสตร์นี้ค่อนข้างมากมาแต่ครั้งเรียนหนังสือชั้นมัธยม โบราณสถานชื่อฝรั่งฟังแปลกๆ เช่น ตึกพระเจ้าเหา วัดสันเปาโล ตึกปิจู้ และตึกโคระส่าน เป็นต้น รวมทั้งชื่อไทยๆ ที่ไม่คุ้นเคยอีกหลายชื่อ เช่น บ้านพระยาวิชาเยนทร์ ทิมดาบ ช่องกุด สะพานเรือก เพนียด ปากจั่น ทะเลชุบศร ทุ่งพุดซ้อน และประตูชัย ล้วนชวนให้สงสัย และความสงสัยในครั้งนั้นเป็นแรงหนุนส่งให้อ่านและค้นหาในเวลาต่อมา ก่อนจะเรียบเรียงขึ้นเป็นบทความนี้ หากมีข้อบกพร่องผิดพลาดและอาจทำให้รู้สึกขุ่นเคืองใจท่าน ต้องขออภัยและโปรดชี้แนะด้วยก็จะเป็นพระคุณ

เสร็จเสด็จดลด้าวด่าน   ดงดอน

ชลชะเลวุธศร   เหล่าช้าง

คชสารปั่นสมสลอน   กรีนิศ

ชมทรหึงเคียงข้าง   จรวดร้องเรียงรมย์ ฯ

เป็นโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งในโคลงเฉลิมพระเกียรติหรือโคลงหลวงศรีมโหสถยอพระยศสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าเมืองลพบุรี พรรณนาว่าโปรดการล่าและโพนช้างในป่า ซึ่งมีอยู่ชุกชุมอย่างเป็นพิเศษ เมื่อเสร็จการล่าโพนช้างคราวหนึ่งจึงเสด็จประทับคลายร้อน ณ ตำหนักพระที่นั่งเย็น ริมทะเลชุบศร เมืองลพบุรี

พระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรี

มีจดหมายเหตุฝรั่งอย่างน้อย 3 คน ที่ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์โปรดการล่าช้างและโพนช้างที่เมืองลพบุรี ราชธานีอีกแห่งหนึ่งนั้น และประทับอยู่ที่นั่นนาน ปีละ 8-9 เดือนเสมอ กล่าวคือมักเสด็จเดือนพฤศจิกายนและประทับยาวถึงต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นจึงเสด็จกลับประทับที่อยุธยาเพียง 3-4 เดือนในปีหนึ่งๆ เท่านั้น ส่วนจะมีแรงจูงใจ (motivation) ใด ชวนให้พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนั้น จะได้กล่าวถึงในตอนท้ายบทความนี้

เดอ ลาลูแบร์ : “…พระมหากษัตริย์สยาม (สมเด็จพระนารายณ์) โปรดเสด็จประพาสป่า ล่า ไล่ช้าง บางทีประทับแรมหลายๆ วันกลางป่า มีพลับพลาค้างแรมทำด้วยไม้ไผ่อยู่บางแห่ง หรือจะเป็นพลับพลาประจำก็ได้…” (ดู De La Loubere. A New Historical Relation of the Kingdom of Siam. Bangkok : White Lotus, 1980.)

“…เพื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังเมืองละโว้ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างกรุงศรีอยุธยาไปทางเหนือประมาณสิบห้าหรือยี่สิบลิเออ และประทับที่เมืองนั้นเก้าหรือสิบเดือนในปีหนึ่งๆ ด้วยว่าเป็นเสรีดี ไม่ต้องทรงทนอุดอู้อยู่แต่ในพระบรมมหาราชวัง เช่นที่กรุงศรีอยุธยา…”

แปร์ ตาชารด์ : “…พระองค์ทรงมีพระอาการกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว เป็นศัตรูของความเกียจคร้าน…ทรงเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ ถ้าไม่เสด็จประพาสล่าช้าง ก็ประทับอยู่ในราชวัง เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน…” (ดู บาทหลวงตาชารด์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. บรรณากิจ, 2519.)

นิโกลาส แชร์แวส : “…แต่ถ้าเสด็จไปทรงล่าสัตว์ (โพนช้าง) แล้วมักจะทรงพระเครื่องแบบฝรั่งเศส และแทนที่จะทรงสวมพระมาลาทรงสูง จะทรงใช้พระมาลาสีดำหรือแดงและประดับขนนกอันงดงาม” (ดู นิโกลาส แชร์แวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. ก้าวหน้า, 2506.)

ในห้วงเวลายาว 8-9 เดือน ที่ประทับ ณ เมืองลพบุรีนั้น ทรงสำราญกับการล่าโพนช้างเนืองๆ โดยได้ช้างป่าไว้ใช้ในราชการปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า 300 เชือก และขณะออกล่าโพนช้างมักฉลองพระองค์แบบฝรั่งเศส พระมาลาสีแดงหรือดำ ประดับขนนกงดงาม

ช้างทรง ภาพวาดโดยชาวฝรั่งเศส

สำหรับบริเวณพื้นที่ล่าโพนช้างในรายละเอียดจะได้พูดถึงข้างหน้า โดยก่อนที่จะกล่าวถึงตรงนั้น ใคร่จะกล่าวถึงพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับช้างหลายชนิด เช่น ช้างทรง ช้างศึก และช้างป่าฝึกหัด จากภายในกำแพงวัง ในกำแพงเมืองในเขตพื้นที่ทุ่งและพื้นที่ป่าเขาอันเป็นที่ล่าโพนช้างในที่สุด โดยสังเขปดังนี้

ช้างทรงชั้น 1 เป็นช้างเผือกและที่โปรดเป็นพิเศษ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีช้างเผือกคู่บุญญาธิการ 2 เชือก คือพระอินทร์ไอยราวรรณวิสุทธราชกิรินี เป็นช้างพังเผือก คล้องได้ที่ป่าตำบลห้วยทราย เมืองศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี) เมื่อปีจอ จุลศักราช 1020 กับช้างพลายเผือกอีกเชือกหนึ่งชื่อเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ คล้องได้ที่ป่าแขวงนครสวรรค์ เมื่อปีชวด จุลศักราช 1022 โทศก

ส่วนช้างทรงคู่บารมีอีกเชือกหนึ่งที่โปรดมาก คือพระบรมรัตนากาศ ไกรลาศคีรีวงศ์ คงจะอยู่ในกลุ่มช้างทรงชั้น 1 ด้วย เล่ากันว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต (11 กรกฎาคม 2231) พระบรมรัตนากาศฯ ก็ถึงกับกาลล้มตามในไม่ช้า

ช้างทรงชั้น 1 เหล่านี้น่าจะมีตำหนักพิเศษทำด้วยไม้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้น 2 ในพระราชวัง อาจอยู่ในลานระหว่างพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท กับพระที่นั่งจันทรพิศาล

ช้างทรงชั้น 2 ณ พระราชวังลพบุรี น่าจะมี 2-4 เชือก ที่ทรงใช้ประจำเวลาเสด็จงานพิธีเสด็จไปตำหนักทะเลชุบศรและเสด็จล่าโพนช้างในป่า รวมทั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรในบางคราวด้วย ช้างทรงเหล่านี้จะมีตำหนักก่ออิฐถือปูนแข็งแรง ปัจจุบันยังมีให้เห็น 2 ตำหนักระหว่างกำแพงเขตพระราชฐานชั้นในด้านประตูหน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ กับกำแพงด้านหลังตึกรับแขกเมืองและตึกพระเจ้าเหา

ช้างศึก มีอยู่เป็นจำนวนมากและส่วนหนึ่งน่าจะมีโรงเรือนช้างศึกอยู่รอบนอกกำแพงพระราชวังในระดับเดียวหรือใกล้เคียงกับกรมอัศวราช (ดูในผังเมืองอักษร เค-K) กับอีกส่วนหนึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก คงอยู่ย่านลา บาส วิล (La Basse Ville) เป็นที่ลุ่มหรือเมืองใหม่ (Nouvelle Ville) มีที่ฝึกช้างอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้น 1 และ 2 (อักษรตัวแอล-L ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์สงครามพิเศษ) ถัดจากนี้ไม่ไกลนักจะมีอ่างน้ำใหญ่ 2 อ่าง (อักษรตัวเอ็ม-M) อ่างน้ำ 2 อ่างนี้รับน้ำมาจากทะเลชุบศร โดยรับช่วงต่อมาจากสระแก้ว ซึ่งเป็นสระชนาดใหญ่รูปจัตุรัส 250 x 250 เมตร (ปัจจุบันอยู่ใกล้สวนสัตว์ด้านทิศเหนือ แต่รูปทรงเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะคลองชลประทานขุดผ่าน) น้ำจากสระแก้วนี้ระบายมาจากทะเลชุบศรตรงช่องประตูระบายน้ำที่เรียกว่าปากจั่น

แผนที่เมืองลพบุรีแสดงพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์

สำหรับสระแก้วซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญนี้ จำเดิมน่าจะใช้เก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในพระราชวัง ต่อเมื่อมีอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่กว่าและดีกว่า คือห้วยซับเหล็ก เป็นอ่างน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่และมีน้ำใสสะอาด ซึ่งเทียบได้กับทะเลสาบรงบุลเยต์ ที่ส่งน้ำให้พระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส สระแก้วจึงทำหน้าที่เพียงส่งน้ำให้กิจการช้างในกำแพงเมืองเท่านั้น ซึ่งคงจะใช้น้ำค่อนข้างมากด้วยมีช้างจับได้ถึงปีละ 300 เชือก

กล่าวสำหรับทะเลชุบศรเอง จะมีน้ำเต็มสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเป็นฤดูฝนและฤดูน้ำหลากประจำปีเท่านั้น ในฤดูร้อนน้ำจะแห้งขอดไปเป็นอันมาก จากทะเลสาบใหญ่กว้างขวางเหลือเป็นคลองแคบๆ น้ำใสก็กลายเป็นขุ่นข้นด้วยซ้ำไป

ในห้วงเดือนพฤศจิกายน ที่เสด็จขึ้นมาลพบุรีนั้น เป็นห้วงน้ำทรง ทะเลชุบศรมีน้ำเต็มพื้นที่ซึ่งน่าจะถึง 10 ตารางกิโลเมตรหรือมากกว่า และริมฝั่งทะเลด้านใต้ที่เป็นเส้นตรงยาว 3-4 กิโลเมตร มักก่อเป็นกองไฟใหญ่เป็นระยะๆ เพื่อการไล่ล่าช้างป่า ถึงยามค่ำคืนจะส่งประกายไปสว่างไสวกระทบสะท้อนผิวน้ำริมฝั่งงามนัก และเกือบสุดปลายฝั่งถึงเชิงเขาสำมะลึง (ปัจจุบันเรียกว่าเอราวัณ) และเชิงเขาพระพุทธ จะเป็นประตูป่าอันเป็นจุดสุดเขตชายทุ่งพุดซ้อนหรือทุ่งทะเลชุบศรกับเขตป่าล่าช้างที่สมเด็จพระนารายณ์จะเสด็จผ่าน จึงบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ (ระดับฟอลคอน) มักจะนำทูตและผู้ชำนาญการต่างประเทศ มารอรับเสด็จกันบริเวณนี้ และหากจำเป็นจะพระราชทางรางวัลหรือของที่ระลึกก็มักกระทำกันบนหลังช้างกลางทุ่งตรงปากประตูป่า ท่ามกลางแสงแดดและสายลมเลยทีเดียว

การคล้องช้างครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่บริเวณเขาสำมะลึง (ปัจจุบันเรียกเขาเอราวัณ) ลพบุรี โดยการดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

คราวนี้มาดูความกว้างขวางของทุ่งและป่าล่าและโพนช้างของสมเด็จพระนารายณ์บ้าง แม้ในจดหมายเหตุอาจไม่ได้ระบุพื้นที่ไว้ชัดเจนนักก็ตาม หากจะแบ่งพื้นที่ล่าและโพนช้างของเมืองลพบุรีเป็น 4 พื้นที่ น่าจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยเริ่มต้นตรงพื้นที่ด้านตะวันออกของตัวเมืองลพบุรี เป็นเทือกเขาพระพุทธบาท อยู่ห่างจากพระราชวังราว 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เทือกเขาพระพุทธบาท, ภูเขาธารทองแดง, ประดู่, บอระเพ็ด, ถ้ำประทุน, ทำนบศรีทะนนไชย และคอกช้าง เป็นต้น

พื้นที่ล่าและโพนช้างด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง ได้แก่บริเวณกว้างขวาง ท้องทุ่ง ป่า และหมู่ภูเขาซับเหล็ก, เขาตอง, ลอมเข้า (ข้าว), ไร่ทุ่ง, เขาน้อย, เขาหงส์, เขาหนีบ และเขาถ้ำพระ เป็นต้น

ใกล้ภูเขาซับเหล็ก มีอ่างน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ คือห้วยซับเหล็กที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสคิดระบบชลประทานทดน้ำไปใช้ในพระราชวัง โดยขุดคลองจากอ่างน้ำนี้ไปยังบ้านท่าเดื่อใหม่ และบ้านท่าเดื่อเก่า แล้วฝังท่อดินเผาไปยังบ้านหนองหูช้างหรือหัวช้างก่อนจะต่อตรงเข้าพระราชวัง

ริมฝั่งด้านใต้ของห้วยซับเหล็ก ยังมีซากตำหนักพักร้อนของสมเด็จพระนารายณ์หลังหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นที่ประทับพักผ่อนในช่วงเสด็จล่าและโพนช้างบริเวณนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่งทานตะวันเต็มไปหมด เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด

จากตำแหน่งซากตำหนัก มองไปทางตะวันตกจะเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสามยอด คือ เขาถ้ำคูหา, จีนแล, หนอกวัว, พระพุทธ และเขาเอราวัณ อันเป็นพื้นที่ล่าโพนช้างเช่นกัน

พื้นที่ล่าโพนช้างด้านทิศเหนือ ได้แก่บริเวณเขาสามยอด, เขาซึงน้ำ, พุคา, พุโลน, ผ้าขาว และเขานางพระจันทร์ และเลยขึ้นไปถึงทุ่งตำบลเพนียด (อำเภอโคกสำโรง) ด้วย บริเวณนี้เป็นบริเวณป่าเขาที่กว้างที่สุด เขาสามยอดนี่แหละเป็นต้นน้ำสำคัญให้น้ำฝนไหลลงทะเลชุบศรทั้งหมด ริมเชิงเขาสามยอดมีหมู่บ้านเล็กๆ หมู่หนึ่ง ชื่อบ้านน้ำจั้น คำว่าจั้น จะมีความหมายจริงๆ ว่ากระไรไม่แน่ใจนัก แต่ชาวบ้านย่านนั้นเข้าใจคำว่าจั้นคือสั้น น้ำจั้นคือน้ำสั้น กั้นไว้ไม่อยู่ กั้นน้ำฝนไว้ไม่ทันน้ำไหลลงทะเล (ชุบศร) อย่างรวดเร็วมาก

พื้นที่ล่าโพนช้างด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่ค่อยพูดถึงมากนัก แต่น่าจะมีช้างป่าชุกชุมและโปรดไม่แพ้พื้นที่อื่น พื้นที่เป็นทุ่งกว้าง เป็นป่าละเมาะไม้พุ่ม ปัจจุบันเป็นทุ่งนา มีแม่น้ำลพบุรีสายเดิมไหลผ่าน จุดล่าโพนช้างน่าจะอยู่บริเวณภูเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่งชื่อเขาสมอคอน มีหมู่บ้านไม่ไกลกันนัก มีชื่อสัมพันธ์กับช้างชื่อท่าโขลง ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีสายเดิมตอนที่ผ่านทุ่งเป็นคุ้งน้ำกว้าง มีหมู่บ้านเล็กๆ อีกหมู่หนึ่ง มีชื่อเรียกสัมพันธ์กับช้างเช่นกัน ชื่อบ้านช้างทะลุ ซึ่งช้างคงจะทะลุลงมาจากป่าเขา ลุยทุ่งลงมากินน้ำในห้วงฤดูแล้ง ตรงใกล้ๆ บ้านช้างทะลุเคยพบซากตำหนักพักร้อนทำด้วยไม้ จมอยู่ในดิน ได้มีผู้ถากทำรื้อถอน นำไปทำวัตถุมงคลจนหมดแล้ว ชาวบ้านเรียกกันว่าตำหนักช้าง

เนื่องจากพื้นที่ล่าโพนช้างแต่ละทิศ (ยกเว้นทิศตะวันตกและทิศใต้เมืองลพบุรี เพราะเป็นที่ลุ่ม) มีบริเวณกว้างใหญ่ การล่าโพนช้างครั้งหนึ่งๆ ใช้ผู้คนหรือไพร่พลเป็นจำนวนมากและต้องเป็นไพร่พลที่ทรหดอดทนและเข้มแข็งอย่างยิ่งด้วย ต้องตรากตรำในป่าเขาเป็นเวลานาน บาทหลวงตาชารด์ บันทึกว่าต้องใช้คนถึง 40,000-47,000 คน ล้อมป่าและภูเขาโดยรอบยาวถึง 26 ลิเออ (ประมาณ 104 กิโลเมตร) และกว้าง 10 ลิเออ (40 กิโลเมตร) รอบบริเวณมีกองไฟเป็นระยะๆ โดยรอบถึง 2 แถวและสุมไว้ตลอดคืน มองเห็นได้แต่ไกล สว่างไสวงดงาม กับมีโคมไฟใหญ่ติดตั้งไว้เป็นระยะๆ มีผู้บังคับบัญชาเป็นเขตๆ ไป มีพนักงานขี่ช้างศึกควบคุมไพร่พล ป้องกันไม่ให้ช้างป่าหนีออกจากวงล้อมไปได้เหมือนที่เคยเป็น แสงไฟจากกองเพลิงและเสียงปืนใหญ่ดังเป็นระยะๆ ทำให้ช้างป่าตกใจไม่กล้าหนีฝ่าวงล้อมออกไปได้ วิธีการทั้งหมดนั้นคือการล่าช้าง

อย่างไรก็ดีช้างที่ฉลาดสามารถปีนข้ามภูเขาสูงหนีการล่าไปได้โดยอาศัยงวงเหนี่ยวโคนต้นไม้ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ต้นแล้วต้นเล่า จนถึงยอดภูเขาสูงซึ่งไม่มีใครคิดว่าช้างตัวใหญ่จะทำได้และอาศัยการไต่ลงด้วยวิธีเดียวกัน

ประตูเพนียด เมืองลพบุรี

ช้างป่าจะถูกต้อนด้วยช้างที่ฝึกไว้ดีแล้วเข้าสู่เพนียด ก่อนหรือหลังการต้อนเข้าเพนียด การโพนช้างหรือคล้องช้างจึงเกิดขึ้นเพื่อการคัดสรรช้าง ช้างที่มีคุณภาพดี ลักษณะดี จะถูกโพนหรือคล้องไปก่อนและนำไปฝึกต่อไป (ดู บุญส่ง เลขะกุล. ช้างและการล่าช้าง. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์; และสุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. ช้างไทย. มติชน, 2540.)

กระบวนการโพนและฝึกช้างมีพิธีกรรมที่แยบยลค่อนข้างมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ช้างลืมป่าก่อนนำเข้าโรงฝึกช้างและนำไปสู่การใช้งานเป็นช้างบ้านในที่สุด (ดูรายละเอียด สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์, เรื่องเดียวกัน.)

การล่า-โพนช้าง จะกระทำการประมาณ 3 เดือน คือ เดือนพฤศจิกายน พฤษภาคม และกรกฎาคม คืออยู่ในช่วงฤดูฝน อันเป็นห้วงเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จมาประทับที่ลพบุรีพอดี เริ่มต้นที่พฤศจิกายน และจบลงในเดือนกรกฎาคม ก่อนเสด็จกลับอยุธยา

เมื่อพิจารณาแรงจูงใจ (motivation) ของสมเด็จพระนารายณ์ที่โปรดการล่า-โพนช้าง ต่างจากกษัตริย์อยุธยาองค์อื่นๆ อย่างเป็นพิเศษ น่าจะมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยสรุปก็คือ

ปัจจัย (กระตุ้น) จากภายนอก ได้แก่ ช้างให้ประโยชน์หลายด้านทั้งในกิจของราชสำนัก คือ ใช้พิธีการและราชพาหนะต่างๆ ดุจเดียวกับราชรถและสำหรับกระบวนแห่ประดับพระบารมี รวมทั้งใช้เป็นของขวัญเชิงการทูตเครื่องเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เช่น กับราชวงศ์โมกุลแห่งอินเดีย เป็นต้น และพระราชทานแก่ขุนนาง เช่น เชวาลิเอร์ ฟอร์บัง ได้รับพระราชทานช้างไว้ใช้ 2 เชือก

ใช้ช้างในเชิงยุทธศาสตร์ กองทัพช้างอันประกอบด้วยทัพช้างศึกย่อมทรงพลังกว่ากองทัพบกอื่นๆ กองทัพม้าของอเล็กซานเดอร์มหาราชยังไม่อาจสู้ทัพช้างจากเจ้าอินเดียได้ ทำให้มหาราชชาวกรีกต้องถอยทัพ คราวหนึ่งที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่และได้ชัยชนะก็น่าจะเป็นเพราะพลังกองทัพช้างนี่เอง

เจ้ากรมคชบาลในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือพระเพทราชา ผู้เป็นขุนนางผู้มีอำนาจมากที่สุด

ช้างที่ฝึกไว้ดีแล้วสมัยนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงการค้า ส่งไปขายประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน

สำหรับแรงจูงใจอันถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายใน เกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะประทับอยู่อยุธยา เพราะมีศัตรูจากราชวงศ์ส่วนหนึ่งกับขุนนางอีกส่วนหนึ่ง (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.) การกลับมาประทับที่อยุธยา 3-4 เดือน อันอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ถือเป็นประเพณีทั่วไปเป็นช่วงสงบ ละเว้นจากการกระทำบาป น่าจะให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า อีกประการหนึ่งชวนให้เชื่อว่าการล่า-โพนช้าง อันถือได้ว่าเป็นกีฬา เป็นคชกีฬาที่ให้การบำบัดเยียวยาโรคไอหืดของพระองค์ ซึ่งสัมพันธ์กับจิตใจที่ไม่สบาย (psychosomatic) เรื้อรัง กับช่วยส่งเสริมเพิ่มพูนสุขภาพ เพราะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่โปร่งสบาย ให้ความรู้สึกดีๆ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างสำคัญให้ทรงเลือกการล่า-โพนช้าง ณ เมืองลพบุรีมากกว่าประทับที่อยุธยา

สรุปว่า ทุ่งล่า-โพนช้าง ณ เมืองลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น มีอาณาเขตกว้างขวางมาก จากเทือกเขาพระพุทธบาท เขาสามยอด เขานางพระจันทร์ ยันทุ่งทิศเหนือตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง รวมทั้งทุ่งและเขาสมอคอนด้านทิศตะวันตกอีกด้วย และต้องใช้ไพร่พลมากมายมหาศาลเพื่อการนี้ ช้างป่าที่จับได้มีเป็นจำนวนมากอันนำมาใช้ในราชพิธี การทูต การทหาร และการค้า

สมเด็จพระนารายณ์โปรดลพบุรีและการล่า-โพนช้าง ณ ที่นั้น ซึ่งช่วยให้ทรงรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกมีสุขภาพดีสำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2561