เมื่อแรก “เหล้าฝรั่ง” บุกในไทย มีครบเบียร์-ไวน์-บรั่นดี ฯลฯ

เหล้าฝรั่ง
ร้านขาย "เหล้าฝรั่ง" โดยเฉพาะ จะเห็นว่ามีเฉพาะเหล้าประเภทต่างๆ และบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าคู่กัน [ไม่ปรากฏปี] (ภาพจาก "สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ")

การนำสุราจากต่างประเทศ หรือ “เหล้าฝรั่ง” เข้ามาจัดจำหน่ายในเมืองไทยนั้น คงมีมานานแล้ว น่าจะนับได้ตั้งแต่เมื่อประเทศไทยมีการติดต่อการค้ากับฝรั่งชาติยุโรป

ในเอกสารของสังฆราชปาลเลกัวซ์ ที่เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ขณะที่ท่านสังฆราชเดินทางกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะเดินทางมาที่เมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้มีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าต่างๆ จากนานาประเทศของประเทศไทย ตอนหนึ่งความว่า

“ในช่วงนั้นมีสินค้าขาเข้า คือ ผ้านุ่ง ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องลายคราม เครื่องเหล็กจากยุโรป ปืนใหญ่ ปืนยาว ผ้าแดงและเขียว เครื่องมีด ผ้าลาย ผ้าขนสัตว์ สีแดงและเขียว ฯลฯ แท่งเหล็กกล้า หัวน้ำมันจันทน์ กระแจะคราม ฝิ่น แพรจากเมืองจีน ใบชา แป้งสาลี สบู่ กระเช้า แว่นตา กระจก ลูกตะกั่ว อบเชย เส้นฝ้ายสีแดง ร่มกันฝน ร่มกันแดด ดินปืน ทองแดงแผ่นบุท้องเรือ ตาปู เหล็กวิลาศ สี ผ้าใบ ผ้ากำมะหยี่ ลวดดอกไม้ไหว ทองและเงิน ดาบปลายปืน สังกะสี เบียร์ เหล้าองุ่น เหล้าบรั่นดี เหล้ารัม เหล้ายิน สารส้ม กานพลู การบูร”

ร้านนี้จำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งเครื่องใช้ต่างๆ บุหรี่ และเหล้าฝรั่ง

อันเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการนำเข้า “เหล้าฝรั่ง” อย่างเป็นกิจลักษณะ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากที่ประเทศไทยติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

ขณะเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 นั้น ประเทศไทยได้เริ่มมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปเข้ามารับราชการในประเทศไทยแล้ว ฝรั่งต่างชาติเหล่านี้ย่อมนิยมซื้อหาอาหารการกินตามวัฒนธรรมที่ตนคุ้นเคย อาหารต่างประเทศจำนวนหนึ่งจึงถูกสั่งเข้ามาเพื่อขายให้กับฝรั่งต่างชาติเหล่านี้ด้วยส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 5 รวมถึงลูกหลานขุนนางจำนวนหนึ่งสำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศ ซึมซับเอาวัฒนธรรมการกินการอยู่ของชาติตะวันตกเข้ามาปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันบ้างตามสมควร เพื่อเป็นการ “ออกสังคม” และสังสรรค์ในกลุ่มชนชั้นเดียวกัน

จึงทำให้เริ่มมีร้านจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการตัดถนนสายใหม่ๆ มีการก่อสร้างอาคารทรงยุโรปตั้งอยู่สองฟากถนน ร้านขายสินค้าจากต่างประเทศจึงกระจายโดยทั่วไปและมากขึ้นเป็นลำดับ คนทั่วไปมักเรียกอาคารหรือตึกแถวทรงยุโรปเหล่านี้ว่า “ห้าง” ที่รู้จักกันดีก็เช่น ห้างแบดแมน เป็นต้น

เทพชู ทับทอง ได้เล่าถึงร้านค้าของชาวต่างประเทศที่ตั้งอยู่ตามถนนสายใหม่ๆ นี้ ว่า

“สำหรับห้างร้านค้าขายใหญ่ๆ ที่สำคัญก็มี ห้างหลุย ตี เลียว โน เวนส์ ห้างโอเรียลเต็ล อยู่ในตรอกโอเรียลเต็ล โฮเต็ล ขายอาหารกระป๋องนมเนย เหล้าบุหรี่ เครื่องเขียน เครื่องใช้ในการเดินทาง เครื่องแก้ว และเครื่องหุงต้มเป็นร้านแบบสรรพสินค้า”

นอกจากร้านจำหน่ายสุราที่เป็นของชาวต่างประเทศแล้ว ร้านจำหน่ายสุราที่แพร่หลายอีกจำพวกหนึ่งก็ได้แก่ ร้านจำหน่ายสุราของชาวจีน ขุนวิจิตรมาตรา ได้เขียนถึงคนจีนที่เข้ามาค้าขายในสยาม โดยเฉพาะจำหน่ายสุราว่า

“ของที่จีนเคยพายเรือเร่ขายในคลองบางหลวง ไม่เห็นเร่ขายในกรุงเทพฯ สมัยนั้น จำได้ว่าไม่เห็นเร่ขายตามถนน ก็มีข้าวสาร หมู และเหล้า…

ส่วนเหล้าก็ตั้งร้านขายตามริมถนนเหมือนกัน ร้านเหล้าจะมีธงแดงติดไว้หน้าร้านเป็นสัญญาว่าขายเหล้า คนติดสุรางอม พอเห็นธงแดงก็มักจะอ้วกเสียก่อน เหล้าที่ขายประจำมักจะเป็นอย่างที่เรียกว่า ‘เหล้าโรง’ ใช้กระบอกทองเหลืองตวงเหล้าใส่ถ้วยแก้วย่อมๆ ดูเหมือนกระบอกละเฟื้องเท่ากับในคลองบางหลวง…

บางคนมือขวาที่จับแก้วเหล้าสั่น จนเหล้าแทบกระฉอกออก ต้องเอามือซ้ายยันกับที่ขายเหล้า เอามือขวาที่ถือแก้วเหล้าไต่มาตามแขนซ้ายเหมือนสะพาน จนกระทั่งปากดื่มได้ ดื่มแล้วก็เอามะยมหรือส้มมะขามหรือของเปรี้ยวอะไรจิ้มเกลือแกล้มคอนิดหน่อยแล้วเดินตุปัดตุเป๋ออกจากร้านไปอย่างครึ้มใจ

ส่วนที่พายเรือขายเร่ในคลองบางหลวง ดูเหมือนจะไม่มีธงแดงปัก มีแต่เสียงร้อง ‘จิ๊วโว’ หรือไม่ก็ ‘โว’ คำเดียวเป็นรู้กัน บ้านข้าราชการริมคลองไม่กินเหล้าโรงนี้ จะมีก็แต่คนใช้ในบ้าน หรือบ้านเล็กเรือนน้อยซึ่งมีประปราย ได้ยินเสียง ‘โว’ ก็เป็นรู้กันว่าเรือเจ๊กมาแล้ว เรียกเข้าไปกินที่หัวสะพานน้ำนั้นเอง”

ร้านเหล้าฝรั่งของคนชั้นสูงในสังคมไทย มีเครื่องเล่นเพลงอยู่มุมหนึ่งของร้าน

อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 นั้น ประเทศสยามได้มีการนำเข้าสุราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีการบันทึกไว้ในสถิติสินค้าขาเข้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2444-74 แจ้งว่า ได้มีการนำเข้าเบียร์และเหล้าฝรั่งต่างๆ เป็นมูลค่าถึงปีละ 3 ล้านกว่าบาท แต่หลังจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาก็ลดลงถึง 1 ใน 3 คือเหลือเพียงปีละ 1 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนปัจจุบันนั้น ประเทศไทยน่าจะมีทั้งการนำเบียร์, ไวน์, บรั่นดี ฯลฯ ที่เรียกรวมๆ ว่า “เหล้าฝรั่ง”  ซึ่งการนำเข้านั้นคงเพิ่มขึ้นกว่าในยุคแรกหลายเท่าทวีคูณ แต่จะเป็นเท่าไรนั้น ไม่กล้าที่จะค้นคว้ามาชี้แจงแสดงผล เพราะเดี๋ยวจะเข้าข่ายเป็นการโฆษณา เผลอๆ จะทำให้ “ภาพเก่า” เหล่านี้ไม่ได้ลงตีพิมพ์ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก :

นายประสงค์ ไม่ออกนาม. “ร้านขายเหล้าต่างประเทศ”, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2561