ครบรอบ 108 ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในแผนที่ พ.ศ. 2457 (ซึ่งใช้เวลาสำรวจและจัดทำอยู่หลายปีจนปรากฏอาคารของโรงพยาบาลที่เริ่มก่อสร้างหลัง พ.ศ. 2454)
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในแผนที่ พ.ศ. 2475 สำรวจราวปี 2467-2468
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แห่งนี้ มิใช่เป็นโรงพยาบาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างที่ใครๆ เข้าใจ หากแต่ ย้อนไปถึงสมัยที่ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ กราบบังคมทูลขอตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2436 เพื่อเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนดูแลและจัดส่งยา อุปกรณ์ต่างๆ ให้กับทหารที่ไปรบ รวมทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงขึ้นบริเวณใกล้วัดมหาธาตุ จากนั้นจึงหยุดการดำเนินงาน เพราะจำเป็นต้องใช้พื้นที่จัดสร้างตึกถาวรวัตถุในการพระเมรุของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และมีโรงพยาบาลอื่นๆ ให้การรักษาประชาชนอยู่หลายแห่ง
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2473

แต่การมีโรงพยาบาลดีๆ สำหรับสภากาชาดไทยยังอยู่ในพระราชดำริของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาตลอด จนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 เป็นเวลาครบ 1 เดือนหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 5,800 บาท เพื่อใช้จัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์จึงทรงพร้อมพระทัยกันร่วมบริจาคทรัพย์สมทบรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 122,910 บาท และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่อีก 391,259 บาท 98 สตางค์เข้าสมทบเพิ่มเติม

ซึ่งในจำนวนนี้มีเงินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่แรกตั้งสภาอุณาโลมแดงอยู่เป็นจำนวนถึง 80,000 บาท และเพื่อให้การนี้สำเร็จได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมรับหน้าที่ดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาล จนสำเร็จสมบูรณ์ นับเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของประเทศ ณ เวลานั้น

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ พ.ศ. 2489

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2530

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พระพุทธศักราช 2457 มีพระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลความตอนหนึ่งว่า

“ในการบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น ย่อมต้องระลึกดูว่า จะทำการอย่างใด จึงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เราและพี่น้องจะฉลองพระเดชพระคุณได้ในทางใด หรือถึงแม้เสด็จสวรรคตล่วงลับไปแล้ว ถ้ามีวิธีใดที่จะทำให้ทราบถึงพระองค์ได้นั้น การอย่างใดจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อระลึกดูดังนี้ก็เห็นได้ว่า ตลอดเวลารัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถย่อมพอพระราชหฤทัยในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ทรงปกครอง สิ่งไรทำขึ้นให้นำมาซึ่งความสุขความสำราญแก่ประชาชน สิ่งนั้นย่อมพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก…จึงตกลงกันว่า ถ้าสร้างโรงพยาบาลขึ้นเป็น “ราชานุสาวรีย์” คงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นแน่แท้”

บรรยากาศภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่เหมาะแก่ภูมิภาคเขตร้อน ตึกขวามือคือตึกโปษยานนท์

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสำนึกในพระกรุณาธิคุณพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนผู้ที่อุทิศเงินสร้างอาคารต่างๆ ในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล บุคลากร ที่ยังคงทำงานหนักเพื่อบำบัด บรรเทาและรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

นับเป็น “108 ปีที่ผ่าน โรงพยาบาลแห่งน้ำพระทัย จุฬาลงกรณ์อนุสรณ์แห่งการให้ เราจะก้าวต่อไปเพื่อชีวิตผู้คน” (ท่อนหนึ่งในบทเพลง 108 พันก้าว ประพันธ์โดยคุณประภาส ชลศรานนท์)
งาน 108 พันก้าว เชิญชมนิทรรศการออนไลน์ และไปชมได้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์