ที่มา | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า |
---|---|
ผู้เขียน | ส. พลายน้อย |
เผยแพร่ |
วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากการพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว 10 ปี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เริ่มประชวรบ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะหาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ พระอาการและรายละเอียดเกี่ยวกับการประชวรนั้น ก็กล่าวกันไปต่างๆ นานา เพราะไม่มีใครรู้ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าไว้ในพระราชหัตถเลขาหลายแห่งด้วยกัน
อาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้นโดยเหตุที่ไม่มีใครได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด เพราะทรงห้ามไว้ จึงมีผู้เข้าใจผิดกันไปต่างๆ ความข้อนี้จะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาราชวรานุกูล เมื่อ ปีจอ จ.ศ. 1224 (พ.ศ.2405) มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“วังหน้านั้นท่านก็ยังบอกประชวรอยู่ดังเก่า ไม่เสด็จไปไหนได้จนบัดนี้ พระยาราชวรานุกูลจะรำพึงไปกระมังว่าเพราะแผ่นดินตั้งอยู่ช้าเนิ่นกาลนานวันมา พระสติปัญญาแลโทรมนัศขัติยมารยาอย่างไรๆ จะเป็นเหตุให้เป็นดังนี้ ตามพระยาราชวรานุกูลมักคิดมักพูดอยู่นั้น การที่จริงไม่ดังนั้นดอกท่านประชวรจริงๆ ข้าพเจ้าได้ให้บุตรไปเยี่ยมอยู่เนืองๆ ได้เห็นเป็นแดงๆ ผุดที่พระพักตร์พระองค์มาก และที่วังนั้นก็ห้ามปากเสียงว่าจะประทมไม่หลับ”
จะเห็นว่าไม่มีใครรู้อาการประชวรที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย แต่มีเสียงซุบซิบพูดกันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกวางยาพิษบ้าง ถูกยาเสน่ห์บ้าง ดังมีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงประชวรมาช้านานประมาณ 5 ปี ครั้นถึงวันอาทิตย์เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว 3 นาฬิกากับ 3 บาท (วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408) เสด็จสู่สวรรคต พระชนมายุเรียงปีได้ 58 พรรษา อยู่ในอุปราชาภิเษกสมบัติ 15 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นไปสรงน้ำ แล้วเจ้าพนักงานทรงเครื่องเชิญพระบรมศพสถิตในพระโกศทองคำ แห่มาประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แล้วโปรดให้หมายประกาศให้ข้าราชการและข้าในกรมให้โกนศีรษะแต่ฝ่ายเดียว มิให้ทั่วไปทั้งแผ่นดิน
อย่างไรก็ตามข้อที่ทรงหวาดระแวงมาตั้งแต่ต้นก็เป็นอันสงบระงับเมื่อใกล้จะสวรรคต เพราะปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปทรงรักษาพยาบาลทั้งกลางวันกลางคืน
แสดงให้เห็นถึงความรักความเป็นห่วงเหมือนอย่างที่พี่รักน้องจะพึงทำ และเมื่อสวรรคตแล้วก็โปรดให้เรียกว่าพระบรมศพ จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง เป็นการยกย่องครั้งสุดท้าย
อ่านเพิ่มเติม :
- การเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ
- ตามรอย “สมบัติพระปิ่นเกล้า” จากแคนที่ทรงโปรด ถึงวังสีทา กลายเป็นข้อมูลหายาก
- สยามสั่งซื้อเรือกลไฟมาสู้ญวน แต่ส่งมอบช้าจนเรื่องวุ่น..พระปิ่นเกล้าฯ มีดำริจะต่อเอง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า” เขียนโดย ส. พลายน้อย. (สำนักพิมพ์มติชน)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2562