28 มกราคม 2551 สภาโหวต “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25

สมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 (Photo by SAEED KHAN / AFP)

สมัคร สุนทรเวช ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคที่พัฒนามาจากพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อ พ.ศ. 2549 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกันสองประเด็น คือ หนึ่ง การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และสอง การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส.ส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค ส.ส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาแข่งกับนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ มีการลุกขึ้นชี้แจงของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ส่วนฝ่ายพรรคพลังประชาชนไม่ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ จึงเสียเวลาประชุมหาข้อสรุปกันในเรื่องนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบกันในที่ประชุม โดยหลังจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ส.ส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจึงมีการประชุมเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.พรรคประชาธิปตย์ (แบบสัดส่วน) มีความเห็นว่า “เพราะนายกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์การบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือความซื่อสัตย์”

ขณะที่นายสุขุมพงศ์ โง่นคํา ส.ส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) จากกาฬสินธุ์ เห็นแย้งว่า “ในการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลก็ออกมาแล้วว่าพรรคพลังประชาชนชนะได้เสียงข้างมาก 233 เสียง นั้นก็แสดงถึงเจตนาของประชาชนแล้วที่เปล่งเสียงออกมาว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะระหว่างที่มีการรณรงคหาเสียงนั้นมีการแสดงวิสัยทัศนกัน 45 วัน ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน ผมเชื่อว่าสิ่งเหลานี้รับทราบรูดีกันมาโดยตลอดถึงคุณสมบัติถึงวิสัยทัศนถึงนโยบายในการที่จะบริหารราชการแผนดิน”

สมัคร สุนทรเวชและคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เมื่ออภิปรายกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้วจึงมีมติให้เลิกประชุมเรื่องอภิปรายการแสดงวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน แล้วให้มาเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะเป้าหมายการประชุมในวันนี้คือการเลือกนายกรัฐมนตรี มิใช่การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

และผลปรากฏว่านายสมัครชนะนายอภิสิทธิ์ ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 163, งดออกเสียง 3, ไม่อยู่ในที่ประชุม 1 ดังนั้นนายสมัครจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

นายสมัครเกิดวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2478 เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พ.ศ. 2550 ในอดีตเส้นทางการเมืองเริ่มจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2511 ต่อมาลงเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2514 ก่อนลงสมัครเป็น ส.ส.ครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 หลังจากนั้นก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ไล่มาตั้งแต่รัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายบรรหาร ศิลปอาชา และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

นายสมัครดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม (ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ โดยมีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ) จนถึงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 เนื่องจากนายสมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จากการเป็นพิธีกรทำอาหารในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ที่มาตรา 267 ห้ามไว้ นายสมัครจึงสิ้นสุดการเป็นนายกตั้งแต่นั้นรวมระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีประมาณ 7 เดือน

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 มกราคม 2551

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

รายงานการประชุมสภาผูแทนราษฎร ชุดที่ 23 ปที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญทั่วไป ) วันจันทรที่ 28 มกราคม พุทธศักราช 2551. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. รัฐบาลไทย, https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/primeminister/9   

สมัคร สุนทรเวช. สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A3_%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%8A

สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12 – 13/2551, http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/t12-13-2551.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2563