ย้อนวาทะปัญหาน้ำท่วม ของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จาก ฝนพันปี-อยู่บนดอย ถึง ลืมกุญแจ

ซ้ายหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 15 ขวา พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 10 ภาพจาก MATICHON ONLINE

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นวันที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครจัดการเลือกตั้งเพื่อหาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่คนที่ 17 มาดำรงตำแหน่ง หลังจากที่กรุงเทพฯ มีผู้ว่าราชการคนล่าสุดที่มาจากการเลือกตั้งย้อนไปไกลถึง พ.ศ. 2556 หรือ 9 ปีที่แล้ว

กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการนำเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตัวอย่างเช่น ปัญหารถติด ปัญหาปากท้อง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matters) และปัญหาน้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วม เป็นปัญหาที่กรุงเทพฯ ต้องประสบทุกครั้งเมื่อเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการประกาศเปิดเทอมของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ ทุกโรงเรียนเปิดเรียนที่ห้องเรียนอย่างเต็มรูปแบบ (On-Site) ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำท่วมขัง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์

การวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ได้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตระหนักถึงผู้ว่าคนต่อไปที่จะเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ว่าจะสามารถเข้ามาแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร โดยในบทความนี้จะยกตัวอย่าง “วาทะ” ของอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพ ฯ เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม ดังนี้

พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ 2 สมัย คนที่ 10 (พ.ศ. 2528-2535) โดยในการลงสมัครรับการเลือกตั้งครั้งแรก พลตรีจำลอง ศรีเมือง มาจากการสนับสนุนของ “กลุ่มรวมพลัง” ส่วนในสมัยที่สองลงสมัครในนามของ “พรรคพลังธรรม”

ในสมัยที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง บริหารราชการกรุงเทพฯ ประเทศไทยได้พบกับน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2529 เกิดจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากมีพายุจรเข้ามาในประเทศไทย และทำให้ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมฯ เป็นอย่างมากจนเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปีนั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของน้ำท่วมว่า เนื่องจากฝนตกหนักที่สุดในรอบหนึ่งพันปี เป็นที่มาของวาทะ “ฝนพันปี”

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 13 (พ.ศ. 2543-2547) ในนามพรรคประชากรไทย คู่แข่งในสมัยนั้นคือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย โดยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเกิน 1 ล้านเสียงคนแรก

นายสมัคร สุนทรเวช ก็ต้องประสบกับปัญหาเดิมๆ ที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญคือปัญหาน้ำท่วม แต่ด้วยวิธีการทำงานของนายสมัคร สุนทรเวช อาจจะไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แบบไปแก้ที่จุดปัญหา ดังวาทะว่า
น้ำท่วมทำไมผู้ว่าฯ ต้องลงมาดู ถ้ามาดูแล้วฝนจะหยุดตก และน้ำจะลดหรือ ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ 2 สมัย คนที่ 15 (พ.ศ. 2552-2559) โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ และถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่งวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 หลังมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 1,256,349 ใน พ.ศ. 2556 โดยนโยบายที่ใช้หาเสียงที่สำคัญคือ นโยบายจัดการน้ำท่วม อาทิ สร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ สร้างสถานีสูบน้ำ การปรับปรุงท่อระบายน้ำ เป็นต้น

ถึงแม้ว่านโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมจะส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากต่อคำให้สัมภาษณ์ เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม อย่างเช่น ใน พ.ศ. 2558 เกิดพายุเข้าในกรุงเทพฯ จนเป็นผลให้เกิดน้ำท่วมขังที่ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่การแถลงข่าวของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ทำให้เกิดวาทะสำคัญคือ “ประเทศเราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ”

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 16 (พ.ศ. 2559-2565) โดยเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มาจากการแต่งตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนที่จะลาออก 25 มีนาคม พ.ศ. 2565 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าสมัยที่ 2 ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

การเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการของพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ก็ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ตัวอย่างเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เกิดฝนตกอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ จนน้ำท่วมขังบริเวณวงเวียนบางเขน สูงประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่จนเกิดเป็นวาทะ “น้ำท่วมบางเขนเพราะกุญแจหาย” ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ ทุกยุคทุกสมัยจะต้องพบกับปัญหาที่แก้ไม่ตกคือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งปัญหาน้ำท่วมเหล่านี้เองได้ก่อให้เกิดวาทะอันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะคติต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แน่นอนว่าการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 คนในกรุงเทพฯ คงอยากจะเห็นผู้ว่าที่สามารถจัดการกับปัญหาน้ำท่วมได้จนเป็นผลสำเร็จ

 


อ้างอิง :

MATICHON ONLINE. (2565). ผู้ว่าฯ กทม. แจง เหตุน้ำท่วมบางเขนเพราะหากุญแจไม่เจอ ยัน จนท.ทุกคนทุ่มเทเต็มที่ เข้าถึง เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th.

ALTV4 thai pbs. (2565).  รวมสถิติผู้ว่าฯ กทม.ที่น่าสนใจ. เข้าถึงได้จาก https://www.altv.tv/content/altv-news.

Pptv online. (2560). ย้อนเวลา “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงพื้นที่ลุยน้ำ-ตากฝน ในความทรงจำ. เข้าถึงได้จาก https://www.pptvhd36.com

MATICHON ONLINE. (2559). วีรกรรม “คุณชายสุขุมพันธุ์” สารพัดเรื่องฉาว หรือคนดีถูกกลั่นแกล้ง?. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th

BBC NEWS. (2560). “น้ำคำ” รัฐบาล กับ น้ำท่วม กทม. 14 ต.ค. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand

BBC NEWS. (2565). เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.: ประวัติศาสตร์ สถิติ และเกร็ดน่ารู้. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand

MGR online. (2548). เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ นับแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2565