14 มกราคม 2545 ประธานาธิบดีบุช เกือบเสียชีวิต เพราะขนมเพร็ทเซิล?!?

ประธานาธิบดีบุช ขนมเพร็ทเซิล 14 มกราคม 2545

14 มกราคม 2545 ประธานาธิบดีบุช เกือบเสียชีวิต เพราะขนมเพร็ทเซิล!?

นี่ไม่ใช่ข่าวขำๆ หลังข่าวภาคค่ำ หรือรายการประเภทล้อกันเล่น แต่มันเป็นเรื่องจริง เจ็บจริง และมีความรุนแรงถึงขนาดเกือบเสียชีวิต เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีอเมริกา

ส่วนผู้ก่อเหตุ หรือจำเลยของเรื่องคือ “ขนมเพร็ทเซิล”

เรื่องราวนั้น ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรียบเรียงไว้ใน “บาดแผลอเมริกา: สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาตร์สหรัฐอเมริกา” ดังนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2545 มีข่าวออกมาว่า ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชตกเก้าอี้หมดสติไปขณะนั่งดูทีวีถ่ายทอดรายการฟุตบอลในห้องที่ทําเนียบขาว ส่วนสาเหตุที่ท่านประธานาธิบดีตกเก้าอี้นั้น ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีอเมริกันต่อไป เพราะจะหาคนอื่นทําอย่างนี้ได้ยาก

นั่นคือท่านประธานาธิบดีสําลักขนมเพร็ทเซิล (pretzel) ทําให้การเต้นของหัวใจลดลงอย่างกะทันหัน จนหมดสติตกจากเก้าอี้ที่นั่งดูทีวีลงไปนอนบนพื้น หลังจากนั้นจึงได้สติลุกขึ้น หมอรีบตรวจอาการพบว่าทุกอย่างยังปกติ นอกจากรอยขีดข่วนบนใบหน้าจากการตกไปถูกแก้วบาดบนพื้น

ขนมเพร็ทเซิลนี้เป็นของขบเคี้ยวที่คนอเมริกันโปรดปรานมาก ทําด้วยแป้งเป็นเส้นรูปขดลวดอย่างกลม เลี้ยวไปมา ใหญ่ขนาดสายเคเบิลทีวี เป็นขนมที่ค่อนข้างแข็ง ต้องกัดและเคี้ยวอย่างดีในปากก่อนจะกลืน ไม่เช่นนั้นติดคอตายได้

หลังอุบัติการนี้แล้ว มีคนถึงกับเสนอว่าให้ประธานาธิบดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผลิตด้วยเนื่องจากว่าที่บนห่อไม่มีคําเตือนว่า “การกลืนโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดก่อน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของท่านได้ (Warning: Swallowing pretzel without chewing is hazardous to your health and life)

ประธานาธิบดีบุชรีบออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวหลังจากหมอตรวจร่างกายแล้ว เขาเล่นมุขตลกแบบเดียวกับบุชผู้พ่อ กล่าวว่า “ผมสบายดีแล้ว แม่ผมเคยสอนบ่อยๆ ว่า เมื่อเวลาที่ลูก (หรือมึง) กินต้องเคี้ยวเสียก่อนถึงจะกลืนลงไป” บุชตบท้าย ก่อนขึ้นเครื่องบินไปหาเสียงที่มิดเวสต์และหลุยเซียน่าว่า “จําไว้ ต้องฟังแม่ของคุณ ไว้ตลอดเวลา”

จอร์จ ดับเบิลยู บุช (Photo by Eric Draper, White House)

อาจารย์มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนียลอสแองเจลีส (UCLA) ท่านหนึ่งกล่าวประชดหลังจากฟังข่าวเรื่องนี้จบลงว่า “เหมือนเรื่อง surrealist (เหนือจริง)” นัยของเขาคือความขัดกันอย่างแรงระหว่างความจริงที่ตรงกันข้ามของสองคนสองเรื่อง แต่ผูกพันเกี่ยวดองกันอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน

นั่นคือจอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือสหรัฐกับอัฟกานิสถาน ซึ่งกําลังเป็นจุดรวมของตัวตนของจอร์จ ดับเบิลยู บุชและสหรัฐอยู่ ในเวลานั้นคนอเมริกันกําลังฟังและดูข่าวกองทัพอเมริกันถล่มทลายอัฟกานิสถานทุกวัน ผู้คนตายและบาดเจ็บอย่างน่าสังเวชและ เวทนาจากอาวุธทันสมัยของสหรัฐ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐแค่สําลักขนมเท่านั้นก็ทําให้ผู้คนเป็นห่วงถึงสุขภาพ

เวลาเดียวกับที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช สําลักแล้วตกเก้าอี้หมดสติไป เป็นเวลาที่กองกําลังอเมริกันกําลังทิ้งระเบิดในภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน เป็นการตามล่าบิน ลาเดน และพรรคพวก ในทุกถ้ำบนเขาบริเวณภูมิภาคซาวาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกับปากีสถานและถูกทิ้งระเบิดมาสองสัปดาห์แล้ว แรงระเบิดของการโจมตีทําให้กระจกในบ้านคนในเมืองคอสต์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 20 ไมล์สั่นสะเทือน ผู้คนอพยพหนีภัยสงครามกันจ้าละหวัน หลายคนตายและบาดเจ็บจากระเบิดที่ปูพรมลงมา

โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐรายงานผลงานว่า การทิ้งระเบิดที่ผ่านมาล่าสุดนี้ ได้ทําลายอาคารไปราว 60 หลัง และปิดถ้ำลงไปราว 50 แห่ง ในซาวาร์ ไม่มีคนตายและบาดเจ็บ (ขอโทษหมายถึง ทหารอเมริกันครับ คนอัฟกานิสถานไม่ทราบ)

บางคนสงสัยเหมือนกันว่า เรื่องราวการตกเก้าอี้จากการกินของประธานาธิบดีบุชนั้นเป็นเรื่องจริงๆ หรือว่าเป็นการเมือง ที่มีคนสงสัยเช่นนี้ เพราะขณะนั้นมีปัญหาใหญ่หลายลูกกำลังก่อตัวขึ้นในสังคมและวงการเมืองอเมริกัน ซึ่งอาจบันทอนความชอบธรรมและคะแนนเสียงของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตลอดจนพรรครีพับลิกันลงไปได้ และในที่สุดกระทบถึงนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายด้วย

ขนมเพร็ทเซิล
ขนมเพร็ทเซิล (ภาพโดย Couleur จาก Pixabay)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. บาดแผลอเมริกา: สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาตร์สหรัฐอเมริกา, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2563