13 มกราคม 2449 วันเกิด “โจวโหย่วกวง” นักภาษาศาสตร์ผู้ได้ชื่อว่า “บิดาระบบพินอิน”

โจวโหย่วกวง บิดาระบบพินอิน ภาพโดย Fong C จาก wikimedia commons สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 3.0

โจวโหย่วกวง บิดาระบบ “พินอิน” เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2449 ในสมัยราชวงศ์ชิง ที่เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู  โจวโหย่วกวงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในนครเซี่ยงไฮ้ โดยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเอก และภาษาศาสตร์เป็นวิชาโท แต่ก็ให้ความสนใจด้านภาษาศาสตร์ เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศทั้งอังกฤษ, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

ในวัยหนุ่มโจวโหย่วกวง ทำงานในธุรกิจการเงินการธนาคารในย่านวอลล์สตรีต สหรัฐอเมริกา จนเมื่อปี 2492 จีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โจวโหย่วกวงกลับมาประเทศจีน มาเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และผลงานของเขาที่ทำให้โลกจดจำก็คือระบบพินอิน

พ.ศ. 2498 โจวโหย่วกวงที่มีอายุ 49 ปี ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตทำงานด้านการเงินการธนาคาร เปลี่ยนไปทำงานด้านภาษาศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง เมื่อมีการจัดคณะกรรมการปฏิรูปภาษาและอักษรแห่งชาติจีนขึ้น โจวโหย่วกวงก็ได้รับเชิญไปร่วมงาน และมอบหมายให้เป็นสร้างระบบ พินอิน ด้วย

ก่อนการใช้ระบบ “พินอิน” มีระบบการถอดเสียงภาษาจีนกลางมาบ้างแล้ว (โดยคณะมิชชั่นนารีเยซูอิดเมื่อ ปี 2148  แต่การใช้ไม่แพร่หลายนัก) ส่วนระบบที่มีการใช้กว้างขวางคือ

1. ระบบ Wade-Giles ที่คิดค้นโดย Thomas F. Wade ทูตอังกฤษประจำประเทศจีน เมื่อปี 2401 และพัฒนาโดย Herbert Allen Giles ที่ใช้กันในกลุ่มผู้สนใจศึกษาภาษจีนฝั่งยุโรป ก่อนจะเป็นระบบที่นิยมแพร่หลายทั้งในประเทศจีน และนานาประเทศ จนเมื่อมีระบบพินอินขึ้นความนิยมจึงค่อยๆ ลดลง

2. ระบบ Yale ที่คิดโดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2491

สำหรับระบบพินอินมีการใช้ครั้งแรกในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2501 จากนั้นจึงได้รับการแนะนำให้รู้จักกับโรงเรียนประถมศึกษาและใช้เพื่อปรับปรุงอัตราการรู้หนังสือในหมู่ผู้ใหญ่ ระบบพินอินประกอบด้วยพยัญชนะ 21 ตัว ตัวสระ 24 ตัว และเสียง 4 เสียง ถือเป็นระบบที่มีหลักวิทยาศาสตร์ และใช้สะดวก

ระบบพินช่วยให้ภาษาจีนที่ไม่ใช่ภาษาสะกด (ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่มีพยัญชนะ, สระ, วรรณยุกต์มารวมกันเป็นคำหนึ่งคำ) มีขีดเยอะ มีโครงสร้างสลับซับซ้อน การเขียนการอ่านต่างก็ยากง่ายขึ้น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และระบบพินเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ภาษาจีนแพร่หลายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

ต้องยอมรับว่าระบบพินอินเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาภาษาจีน

ก่อนหน้าจะมีระบบพินอินมีชาวจีนมากถึงร้อยละ 85 ที่ไม่สามารถอ่านตัวอักษรจีนได้ แต่หลังจากใช้ระบบพินอินแล้ว อัตราการรู้หนังสือของชาวจีนเป็นร้อยละ 95 ในปัจจุบัน ทุกวันนี้ พินอินยังใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการพิมพ์อักษรภาษาจีนในคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

โจวโหย่วกวงยังมีงานวิชาการอีกมากมาย ก่อนจะเสียชีวิตในวัย 111 ปี ในวันที่ 14 มกราคม 2560


ข้อมูลจาก

โจว โหย่วกวง (1) http://thai.cri.cn

Pinyin celebrates 50th birthday. http://www.china.org.cn 

Huang Xing, Xu Feng. The Romanization of Chinese Languge, Review of Asian and Pacific Studies N0.41, https://www.seikei.ac.jp/


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 13 มกราคม 2563