15 มิ.ย. 1215: กำเนิด “แมกนา คาร์ตา” กฎบัตรประกันสิทธิพลเมือง จำกัดอำนาจผู้ปกครอง

ลงนาม กฎบัตร แมกนา คาร์ตา
กษัตริย์จอห์นที่ลงนามใน “แมกนา คาร์ตา” (Magna Carta)

“เสรีชนคนใดย่อมมิอาจถูกจับกุม หรือจองจำ หรือยึดทรัพย์หรือสิทธิ หรือกลายเป็นอาชญากร หรือถูกเนรเทศ หรือทำลายล้างไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ และเราจะไม่ไปหรือถูกส่งให้ไปจัดการเขา เว้นแต่จะมีคำตัดสินอย่างเป็นธรรมจากคณะลูกขุน หรือด้วยกฎหมายของแผ่นดิน” – มาตรา 39 แห่งกฎบัตรใหญ่ หรือ “แมกนา คาร์ตา” (Magna Carta)

ถ้อยคำดังกล่าว เป็นคำประกาศยืนยันการให้ความคุ้มครองของรัฐต่อ “เสรีชน” (ที่ในขณะนั้นไม่ได้หมายรวมถึงไพร่ที่ตกอยู่ใต้อาณัติของขุนนาง) ที่จะต้องได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งกลายมาเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในยุคหลัง

ที่มาของกฎบัตรฉบับนี้ ต้องย้อนไปถึงยุคพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ดยุคแห่งนอร์มังดี (ดินแดนตอนเหนือของฝรั่งเศส) ผู้พิชิตดินแดนอังกฤษ ซึ่งทำให้ทั้งขุนนางและนักบวชยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของพระองค์และผู้สืบทอดอย่างที่ผู้ปกครองอังกฤษก่อนหน้าไม่อาจทำได้

เมื่อถึงยุคของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 (หนึ่งในพระโอรสของพระเจ้าวิลเลียม) บัลลังก์ของพระองค์ถูกท้าทายจาก โรเบิร์ต ดยุคแห่งนอร์มังดี พระเชษฐาองค์โต เพื่อรักษาสถานะ พระเจ้าเฮนรียอมอ่อนข้อให้กับขุนนางและนักบวช ด้วยการออกกฎบัตรแห่งเสรีภาพ (Chater of Liberties) ในวันที่พระองค์ประกอบพิธีราชาภิเษก

หลังจากยุคของพระเจ้าเฮนรี กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์มักออกกฎบัตรในลักษณะเดียวกันเพื่อเอาใจขุนนางและนักบวชจนกลายเป็นจารีตประเพณีที่กษัตริย์เมื่อให้สัตยาบันในพิธีราชาภิเษกแล้วจะต้องบันทึกคำสัตยาบันของพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลงประทับตราพระราชลัญจกร

แต่เมื่อถึงยุคพระเจ้าจอห์น (ขึ้นครองราชย์ปี ค.ศ. 1199) พระองค์กลับมิได้ออกกฎบัตรตามธรรมเนียมของบรรพกษัตริย์ เมื่อถึงปี 1201 เหล่าขุนนางเรียกร้องให้พระองค์ให้สัตยาบันยืนยันสิทธิของพวกตน หาไม่แล้วพวกเขาจะไม่ยอมออกรบตามพระบัญชา แต่ไม่เป็นผล

เมื่อพระเจ้าจอห์นเริ่มทำสงครามกับฝรั่งเศสในปี 1202 พระองค์ได้ชัยชนะเพียงในระยะแรกๆ แต่เมื่อต้องขาดทรัพยากรทางทหารและไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงในพื้นที่ ทำให้พระองค์ต้องเสียนอร์มังดีไปในปี 1204

ลำพังการพ่ายแพ่ในสงครามก็ทำให้พระองค์ต้องเสื่อมพระยศอยู่แล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงทำให้ชนชั้นสูงไม่พอใจยิ่งไปอีก เมื่อหลังการเสียชีวิตของฮูเบิร์ต วอลเทอร์ เสนาบดีและอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (1205) พระองค์เอาแต่ตั้งพระญาติเข้ามากุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญ จนทำให้คณะรัฐบาลเป็นเพียงตรายางของพระองค์ พร้อมกันนี้พระองค์ยังขึ้นภาษี ตรวจสอบการครอบครองทรัพย์ของชนชั้นสูง และแสวงประโยชน์จากการใช้พระราชอำนาจอย่างกว้างขวาง เพื่อสะสมทรัพย์สำหรับการทำสงครามต่อไป จนทำให้พระองค์ถูกมองว่าเป็นทรราช

หลังจากนั้นพระองค์ยังไปมีเรื่องกับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (Innocent III) เมื่อพระเจ้าจอห์นปฏิเสธที่จะยอมรับ สเตเฟน แลงตัน (Stephen Langton) ผู้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นอาร์ชบิชอปคนใหม่แทนฮูเบิร์ต วอลเทอร์โดยอ้างว่าราชสำนักคือผู้มีอำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งบิชอป ทำให้คริสตจักรประกาศลงโทษปรับและสั่งคว่ำบาตรพระเจ้าจอห์น ในปี 1209

การคว่ำบาตรทำให้โบสถ์ในอังกฤษไม่ได้รับการคุ้มครองจากโรม พระเจ้าจอห์นจึงใช้อำนาจยึดที่ดินจากบาทหลวงที่ขัดขืน หรือหลบหนี ทำให้พระองค์มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนกระทั่งปี 1213 โรมยกเลิกการคว่ำบาตร หลังพระเจ้าจอห์นยอมรับแลงตัน เพื่อหวังได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรในความพยายามที่จะยึดดินแดนในภาคพื้นทวีปคืน

ความไม่พอใจในตัวพระเจ้าจอห์นของบรรดาขุนนางนำไปสู่การวางแผนสังหารพระองค์ในปี 1212 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ พระเจ้าจอห์นยังสามารถโดดเดี่ยวบรรดาขุนนางที่ไม่พอใจพระองค์ และเปิดฉากทำสงครามกับฝรั่งเศสตามแผนที่พระองค์วางไว้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1214

แต่การทำสงครามของพระองค์มิได้สำเร็จดังเป้าหมาย ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันหลังเสด็จกลับอังกฤษพระองค์ต้องเจอกับการต่อต้านอย่างรุนแรง มีการยื่นอุทธรณ์ไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาให้เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ แต่หลังการเจรจาอย่างยาวนานทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากทำสงครามกันในเดือนพฤษภาคม 1215

สถานการณ์บีบให้พระเจ้าจอห์นต้องยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายขุนนางตามเอกสาร “กฎแห่งบารอน” (Articles of the Barons) ในวันที่ 15 มิถุนายน 1215 ก่อนได้ร่างสุดท้ายที่ได้รับความเห็นพ้องของทั้งสองฝ่ายในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อ แมกนา คาร์ตา

อย่างไรก็ดี กฎบัตรฉบับนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อขุนนางที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมปฏิบัติตาม ส่วนพระเจ้าจอห์นเองก็ยื่นอุทธรณ์ต่อพระสันตะปาปา ซึ่งครั้งนี้โรมเข้าข้างกษัตริย์อังกฤษ เกิดเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหม่กินเวลาจนกระทั่งพระเจ้าจอห์นสวรรคต โดยไม่รู้ผลแพ้ชนะเด็ดขาด

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาพระองค์จึงได้ออกกฎบัตรแมกนา คาร์ตาใหม่อีกครั้งในปี 1216 เพื่อให้ขุนนางยอมกลับมาสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์ผู้ถือสิทธิ์ปกครองอาณาจักรโดยธรรม และได้มีการออกกฎบัตรฉบับใหม่อีกสองครั้งในรัชสมัยของพระองค์เมื่อปี 1217 และ 1225

ปัจจุบันเหตุการณ์ที่พระเจ้าจอห์นทรงยอมรับกฎบัตรแมกนา คาร์ตาผ่านไปนานกว่า 800 ปี บางครั้งถูกนักประวัติศาสตร์ยกยอจนเกินจริงไปบ้าง แต่เอกสารชิ้นนี้คือ หลักฐานสำคัญของการปกครองด้วยกฎหมาย ที่แม้แต่กษัตริย์ก็ต้องยอมรับ และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษ (แม้อังกฤษจะไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร) และประเทศอื่นๆ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Magna Carta”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 14 Jun. 2016 <http://global.britannica.com/topic/Magna-Carta>.

“John”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 15 Jun. 2016 <http://global.britannica.com/biography/John-king-of-England>.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2559