3 กันยายน 2544 จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตกะทันหัน ฝากโฟล์คซองคำเมืองไว้ในใจ

จรัล มโนเพ็ชร
จรัล มโนเพ็ชร (ภาพจาก www.matichonweekly.com)

3 กันยายน 2544 จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตกะทันหัน ฝากโฟล์คซองคำเมืองไว้ในใจ

จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินชาวเชียงใหม่ เจ้าของเพลงดังอย่าง “พี่สาวครับ” “อุ้ยคำ” “มะเมียะ” ฯลฯ เป็นบุคคลแรก ๆ ที่บุกเบิกการทำเพลงแนว “โฟล์คซองคำเมือง” ซึ่งประสบผลสำเร็จและส่งกระแสอิทธิพลทางวัฒนธรรมพื้นเมืองล้านนา จนเป็นกระแสและได้รับความนิยมสูงมาก และเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องถึงฝีมือการประพันธ์เพลงที่ยอดเยี่ยมมากคนหนึ่งในประเทศ

จรัลเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของ สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร ข้าราชการแขวงการทาง กับ ต่อมคำ มโนเพ็ชร เชื้อสายของราชตระกูล ณ เชียงใหม่ จรัลมีความสนใจด้านดนตรีมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกีตาร์ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและโรงเรียนให้แสดงออกความสามารถมาโดยตลอด และเมื่อเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพก็ได้รับอิทธิพลดนตรีคันทรีจากตะวันตก เมื่อเรียนชั้นปีที่ 3 ก็เริ่มรับจ้างหารายได้พิเศษช่วยครอบครัว โดยไปร้องเพลงเล่นดนตรีตามงานต่าง ๆ

จุดเริ่มต้นของแนวเพลงแบบ “โฟล์คซองคำเมือง” นั้นมีขึ้นในราวทศวรรษที่ 2520 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งคำเมืองเสื่อมความนิยมลงกว่ายุคก่อนหน้า ประกอบกับอิทธิพลแนวเพลงแบบ Folk Song ในสหรัฐอเมริกาได้รับความนิยม และส่งอิทธิพลมาถึงวัยรุ่นในประเทศไทย ดังนั้น จึงได้มีการนำเอาทั้งสองแนวเพลงนี้มาผสมกัน คือการเอาภาษาคำเมืองมาขับร้องโดยใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ จึงก่อให้เกิดแนวเพลงแบบ “โฟล์คซองคำเมือง” ขึ้น

เมื่อจรัลเรียนจบได้ไปทำงานที่แขวงการทางอำเภอพะเยา แต่ยังคงรับจ้างร้องเพลงตามร้านอาหาร คลับ หรือโรงแรมไปด้วย ต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก มานิด อัชวงศ์ ชักชวนให้มาออกเทปด้วยกัน กระทั่ง พ.ศ. 2520 ได้ออกเทปแรกชื่อว่า “โฟล์คซองคำเมือง อมตะ” ที่มีเพลงดังอย่าง อุ๊ยคำ สาวมอเตอร์ไซค์ พี่สาวครับ และน้อยใจยา (ผลงานชุดแรกของจรัลมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ขณะที่เขาทำงานเป็นสมุห์บัญชี ธ.ก.ส.) ซึ่ง “โฟล์คซองคำเมือง อมตะ” ประสบผลสำเร็จสูงมาก ทำให้แนวเพลง “โฟล์คซองคำเมือง” กลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ

“โฟล์คซองคำเมือง” ในแนวของจรัลจะใช้กีตาร์และแมนโดลินมาแทนซึง ใช้ขลุ่ยฝรั่งแทนขลุ่ยไทย และใช้เครื่องดนตรีตะวันตกอื่น ๆ มาบรรเลงผสมผสานกัน และหยิบเอาเพลงเก่าแก่ของล้านนามาทำแบบ “โฟล์คซองคำเมือง” โดยจรัลให้เหตุผลว่า “บทเพลงเก่า ๆ นั้นมีคนทำอยู่มากแล้ว และมันไม่สนุกสำหรับผมที่จะไปเลียนแบบของเก่าเสียทุกอย่าง” จรัลได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นนักแต่งเพลงที่มีฝีมือยอดเยี่ยม โดยเฉพาะบทเพลงที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นล้านนาออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

จรัล มโนเพ็ชร (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : จรัล มิวเซียม)

ผลงานของจรัลมีเนื้อหาเสมือนเป็นการบันทึกเรื่องราวหรือวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของคนล้านนา อันเป็นถิ่นกำเนิดของจรัลเอง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของ “คนเมือง” ซึ่งนอกจากจะปลุกกระแสความภาคภูมิใจและการพูดภาษาคำเมืองให้คนรุ่นใหม่ในช่วงทศวรรษ 2520-2530 แล้ว ยังส่งอิทธิพลเรื่องภาษาต่อคนไทยในภาคอื่น ๆ ให้เข้าถึง และเข้าใจภาษาคำเมืองได้ง่ายมากขึ้น

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2520-2534 จรัลปล่อยผลงานทั้งหมดกว่า 14 ชุด 113 เพลง ซึ่งร่วมกันทำกับคนใกล้ชิดหลายคน เช่น น้องชายสามคนคือ กิจจา, คันถ์ชิด และเกษม มโนเพ็ชร รวมถึงศิลปิน นักร้อง นักดนตรีหลาย ๆ คน เช่น สุนทรี เวชานนท์ และหลังจากนั้นในช่วง 10 ปีท้ายต่างก็ไปทำผลงานและใช้ชีวิตของตนเอง

แนวเพลง “โฟล์คซองคำเมือง” ที่จรัลทำนั้นมีความแปลกใหม่ด้วยดนตรีและการประพันธ์เพลงแต่ยังคงยึดโยงกับวิถีชีวิตดั้งเดิมหรือดัดแปลงวัฒนธรรมประเพณีโบราณมาอยู่ในเพลงด้วย ยกตัวอย่างเพลง “ฮานี้บ่าเฮ้ย” ที่จรัลร้องคู่กับสุนทรี ในท่อนหนึ่งของเพลงร้องว่า “ตอนยอน ต๊ะตอนยอน ต๊ะตอนยอน ตอนยอน ตอนยอน” ซึ่งวลีนี้เป็นคำร้องในเพลงซอ เพลงพื้นบ้านของล้านนา ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ร้องกันเพื่อความสนุกสนาน เช่นใช้ร้องเล่นขณะปั่นฝ้าย วลีนี้ร้องกันมาเนิ่นนานแล้ว กระทั่งได้รับความนิยมอีกครั้งเพราะเพลง “ฮานี้บ่าเฮ้ย”

ส่วนเพลง “สาวมอเตอร์ไซค์” ก็มีเนื้อหาเข้ากับยุคสมัยในขณะนั้น คือการใช้รถจักรยานยนต์ราคาแพง ในเพลงระบุถึงรถจักรยานยนต์ทั้ง ฮอนด้า ยามาฮ่า และคาวา (ซากิ) ซึ่งคาวา (ซากิ) มีราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่น เป็นที่ชื่นชอบของหญิงสาว อันหมายถึงการบ่งบอกสถานะของผู้ขับขี่ ซึ่งสะท้อนวิถีวัตถุนิยมได้ไม่น้อยทีเดียว และในเพลง “ลูกข้าวนึ่ง” “บ้านบนดอย” “ของกิ๋นคนเมือง” และ “ผักกาดจอ” ก็เป็นเพลงสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่นล้านนาดั้งเดิมได้อย่างงดงาม และเพลิดเพลิน

การที่แนวเพลงแบบ “โฟล์คซองคำเมือง” ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งผลให้วัฒนธรรมล้านนาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แนวเพลงผสมผสานวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคเหนือกับวัฒนธรรมตะวันตกจึงแพร่หลายไปสู่การทำวงดนตรีในลักษณะเพลงสตริงคำเมือง เช่น วงนกแล วงเดอะม้ง วงสายธาราคอมโบ้ เป็นต้น นอกจากจรัลที่เป็นบุคคลแรก ๆ ที่ทำแนวเพลงแบบ “โฟล์คซองคำเมือง” แล้ว ในช่วงต่อ ๆ มา ยังมีนักร้องอีกหลายคนที่ทำเพลงแนวนี้เช่นกัน ทั้ง สุนทรี เวชานนท์, นิทัศน์ ละอองศรี, ปริญญา ตั้งตระกูล และอบเชย เวียงพิงค์ เป็นต้น

นอกจากจรัลจะเป็นนักร้องนักดนตรี เขายังมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์และละคร แต่ยังคงทุ่มเทให้กับการเป็นนักร้องนักดนตรีมาโดยตลอด และมุ่งส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2544 เป็นปีที่จรัลได้ทำงาน “โฟล์คซองคำเมือง” เข้าปีที่ 25 แล้ว เขาจึงอยากจัดการแสดงโดยตั้งใจใช้ชื่อว่า “25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม

แต่ในระหว่างการเตรียมงานนั้น จรัลเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ที่บ้านดวงดอกไม้ จังหวัดลำพูน ภรรยาของจรัลพรรณนาว่า “ร่างของจรัลอยู่ในอาการของคนหลับสนิท ศีรษะทับอยู่บนแขนซ้ายซึ่งรองรับอยู่ แขนขวาของเขาแนบไปกับลำตัว ร่างทั้งร่างทอดกายนิ่งสนิท ดูคล้ายรูปปั้นขนาดใหญ่”

เถ้าถ่านของจรัลสถิตบนยอดดอยหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตามความฝัน และคำขอ ของศิลปินผู้ล่วงลับ “จรัล มโนเพ็ชร”

จรัล มโนเพ็ชร (ภาพจาก www.matichonweekly.com)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ญาณเทพ อารมย์อุ่น. (2554). วิเคราะห์บทเพลง จรัล มโนเพ็ชร. ปริญญานิพนธ์ ศิลปกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2562