ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ หนึ่งในวงดนตรีดังอมตะในตำนานของวงการ

สมาชิกวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ (จากซ้าย) อนุสรณ์ พัฒนกุล, วินัย พันธุรักษ์, พิชัย ทองเนียม, ปราจีน ทรงเผ่า, เศรษฐา ศิระฉายา และสิทธิพร อมรพันธ์ (ถือกีตาร์) (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

สำรวจจุดกำเนิดของวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ (The Impossibles) หนึ่งในวงดนตรีดังอมตะในตำนานของวงการดนตรีในไทย

ระหว่างปี 2508- 2518 ที่เกิดสงครามเวียดนามขึ้น ได้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะอเมริกาขอเข้ามาตั้งฐานทัพตามต่างจังหวัดในประเทศไทย เพื่อใช้โจมตีเวียดนามเหนือ

Advertisement

ทหารอเมริกันจำนวนมากที่เข้ามาประจำการในฐานทัพเหล่านั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยหลายอย่าง เช่น ทำให้ถนนเพชรบุรีตัดใหม่กลายเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำ ที่มีบาร์และไนต์คลับจำนวนมากให้บริการ สิ่งที่ตามมาก็คือการเกิดวงดนตรีใหม่ๆ

ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ (The Impossibles)

วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ เกิดในปี 2509 โดยในระยะแรกมีสมาชิก คือ วินัย พันธุรักษ์ (กีตาร์), พิชัย ทองเนียม (เบส), อนุสรณ์ พัฒนกุล (กลอง), สุเมธ แมนสรวง (ออร์แกน), เศรษฐา ศิระฉายา (ร้องนำ) ร่วมกันตั้งวงเพื่อเล่นประจำในบาร์แห่งหนึ่ง ย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ขณะนั้นใช้ชื่อวงว่า Holiday J-3

ด้วยความที่เป็นวงซึ่งเล่นเพลงสากลได้ดี จนเป็นที่ยอมรับในวงการเป็นอย่างมาก วงดนตรี/นักร้องที่เป็นวงต้นแบบในยุคนั้น ได้แก่ The Beatles, The Rolling Stone, Elvis Presley, Ray Conniff, Frank Sinatra, Engelbert Humperdinck, Simon and Garfunkel ฯลฯ

ปี 2512 ทางสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จัดการประกวด “วงดนตรีแนวสตริงคอมโบชิงถ้วยพระราชทาน” ขึ้นเป็นครั้งแรก นริศร์ ทรัพย์ประภา ซึ่งเป็นครูเพลงแนะนำและชักชวนให้วงเข้าประกวด เมื่อสมาชิกจึงตัดสินใจเข้าร่วมประกวด มีการเปลี่ยนชื่อวงว่า “ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ (The Impossibles)” เศรษฐา ศิระฉายา ได้ชื่อนี้มาจากภาพยนตร์การ์ตูนชื่อ The Impossibles

ผลการประกวดนั้น ทำให้วงชนะวงเต็งหนึ่งอย่าง Silver sand ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีชิงถ้วยพระราชทานแห่งประเทศไทยไปครอง เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังในขณะนั้น ชักชวน ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ให้

ผลงานแรกคือเรื่อง “โทน” และอีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการเพลงประกอบภาพยนตร์ของวงด้วย

ต่อมาเมื่อ สุเมธ แมนสรวง สมาชิกวงลาออกไป ก็ได้ สิทธิพร อมรพันธ์ นักกีตาร์ฝีมือดี ทำให้วินัย พันธุรักษ์สามารถไปเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้หลากหลายชิ้นขึ้น และการเพิ่มสมาชิกใหม่สำคัญอีกคนคือ ปราจีน ทรงเผ่า ที่เชี่ยวชาญเรื่องทฤษฎีและการเรียบเรียงดนตรี ทั้งเชี่ยวชาญในเล่นแซ็กโซโฟนรวมถึงเครื่องเป่าอื่นอย่างทรอมโบน ทำให้วงมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะสามารถสลับสับเปลี่ยนกันเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ได้ และยังสามารถร้องนำและประสานได้อีกด้วย

วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ จึงสามารถชนะการแข่งขันของสมาคมดนตรีฯ ติดต่อกันถึง 3 ปี คือ ในปี 2512, 2513 และ 2515 (ปี 2514 ไม่มีการประกวด)

ความสามารถและชื่อเสียงของวง ทำให้สถานที่ต่างๆ ที่วงไปเปิดการแสดงจะเนืองแน่นไปด้วยบรรดาแฟนเพลง ต่อมาทางวงจึงเปิดบาร์ชื่อ “อิมพอสซิเบิลส์ คาเฟ่” ที่เพลินจิตอาเขต สามารถจุแฟนเพลงได้กว่าหนึ่งพันคน ซึ่งนอกจากแฟนเพลงที่ตามมาฟังเพลง ก็ยังมีแมวมองในวงการดนตรีมาชมการแสดง อันนำไปสู่การเปิดแสดงในต่างประเทศ

ราว ปี 2515 การแสดงในต่างประเทศครั้งแรกก็เริ่มที่เมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ด้วยการทำสัญญาช่วงแรก 3 เดือน ปรากฏว่าในระยะเสียงตอบรับไม่ค่อยดีนัก จึงมีการปรับปรุงวง โดยเรียกตัว เรวัติ พุทธินันท์ เข้าเสริมทำให้วงมีความแข็งแกร่งและแน่นขึ้นมาก สามารถเล่นดนตรีได้หลากหลายแนว ผู้คนมาดูแน่นทุกคืน จนทำให้วงได้รับการต่อสัญญาออกไปจนครบ 1 ปี

ปี 2516 ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ เดินทางกลับมาเมืองไทย และมีการปรับปรุงวง โดยได้ ปรีดิ์เทพ มาลากุล ณ อยุธยา มาเล่นในตำแหน่งกลองชุด สมชาย กฤษณเศรณี มาเป็นมือเบส ยงยุทธ์ มีแสง เข้ามาเล่น Trumpet และมี จรัล นันทสุนานนท์ มาเป็นผู้จัดการวงคนใหม่ เพื่อให้มีการจัดการวงอย่างมีระบบ

ปลายปี 2516 ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ ทำการแสดงที่โรงแรมอินทรา ประตูน้ำ โดยการเก็บค่าเข้าชม ก่อนการเข้าไปในคลับ ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยทำการแสดงอยู่ถึง 6 เดือน

ช่วงปี 2517-2519 วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ได้รับการติดต่อให้ไปแสดงในต่างประเทศอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป ช่วงแรกวงไปทำการแสดงประมาณ 1 ปี แล้วกลับเล่นประจำที่โรงแรมมณเฑียรระยะหนึ่ง ก่อนกลับไปแสดงที่ยุโรปช่วงที่ 2 ในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย และยังมีการแสดงที่สวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย

ช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนตัวมือเบสเป็น ไพฑูรย์ วาทยะกร เมื่อ สมชาย กฤษณเศรณี ขอลาออก ทัวร์การแสดงในยุโรปครั้งนี้เป็นไปด้วยดี

ด้วยความหวังว่าจะเป็นวงดนตรีไทยที่ “โกอินเตอร์” ในระหว่างที่ทำการแสดงอยู่ในยุโรป วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ จึงจัดทำอัลบั้มและบันทึกเสียงเป็นเพลงสากลทั้งอัลบั้ม ชื่อว่า Hot Pepper โดยบันทึกเสียงที่ประเทศสวีเดน ในระหว่างกรกฎาคม-สิงหาคม 2518 แต่ผลลัพธ์ครั้งนี้ไม่ค่อยดีนัก

ปี 2519 วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์กลับเมืองไทย ระยะหนึ่งก็ได้รับการติดต่อให้ไปเปิดการแสดงที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นการเดินทางไปแสดงในต่างประเทศครั้งสุดท้าย เพราะวงเริ่มถึงจุดอิ่มตัวเต็มที เศรษฐา ศิระฉายา หัวหน้าวงและนักร้องนำ เริ่มรับงานแสดงภาพยนตร์มากขึ้น และประสบความสำเร็จถึงขั้นได้รับตุ๊กตาทองจากหนังเรื่อง “ฝ้ายแกมแพร”

สุดท้ายก็ประกาศยุบวงในปี 2519 เพราะถึงจุดอิ่มตัวของวงนั่นเอง

รวมอายุของวงที่ทำงานและสร้างผลงานร่วมกันทั้งสิ้น 10 ปี (ปี 2509-2519) หากยังมีการรวมตัวเฉพาะกิจเป็นครั้งคราวและจัดคอนเสิร์ตต่างๆ อีกหลายหน จนมีประกาศเลิกวงในครั้งสุดท้ายปี 2561 ปัจจุบันสมาชิกวงเหลือเพียง 2 คน คือ วินัย พันธุรักษ์ และ พิชัย ทองเนียม โดย เศรษฐา ศิระฉายา คือสมาชิกคนล่าสุดที่เพิ่งจากไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

จิรัฐ มัธยมนันทน์. “วงดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ : ตำนานวงดนตรีสมัยใหม่ในเมืองไทย The Legend of The Impossibles Band”  ใน, วารสารดนตรีบ้านสมเด็จฯ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2564)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2565