ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | บูรพา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
วงการดนตรีสูญเสียบุคคลสำคัญอย่าง เศรษฐา ศิระฉายา ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นักร้องวงในตำนาน ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ (The Impossibles) ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับสมาชิกอีก 3 รายเมื่อปี 2561 เป็นครั้งสุดท้ายที่สมาชิกวงซึ่งเหลืออยู่ได้ร่วมแสดงด้วยกัน
ช่วงกลางเดือนกันยายน (พ.ศ. 2561 – กองบรรณาธิการ) เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินแห่งชาติ หัวหน้าวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ประกาศจัดคอนเสิร์ตแบบทิ้งทวน โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนร่วมกับสมาชิกอีก 3 คน
“คอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ จากที่เรานับจำนวนสมาชิกของวงแล้วก็จากกันไปทีละคน ตอนนี้ (2561 – กองบรรณาธิการ) เหลือกันแค่ 3 คน ที่เป็นสมาชิกหลัก ก็เลยคิดว่าน่าจะต้องปิดตำนานวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์กันสักที อย่ารอให้ไม่เหลือใครเลยดีกว่า
ความพิเศษของคอนเสิร์ตครั้งนี้ จะเป็นเพลงวงดิอิมฯ ที่จะเลือกมาร้อง พยายามให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ หมายถึงดนตรีนะครับไม่ใช่เสียงร้อง คือถ้าร้องแบบเดิมคงต้องปีนบันไดร้องกันแล้ว ปีนี้จะเป็นปีของวงดิอิมฯ ล้วนๆ ไม่มีแขกรับเชิญเลย อยากให้ฟังเพลงดิอิมฯ กันแบบเต็มอิ่ม เป็นการทิ้งทวนครับ”
นั่นคือคำพูดสุดท้ายก่อนที่จะมีคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกวงดิอิมฯ ประกอบด้วย เศรษฐา ศิระฉายา วินัย พันธุรักษ์ พิชัย ทองเนียม และ ยงยุทธ มีแสง ทุกคนอายุอานามเลย 70 นับรวมกันตอนนั้นก็ร่วม 300 ปีเข้าไปแล้ว ดูได้จากประวัติของสมาชิกทั้ง 4 คน ได้แก่
เศรษฐา ศิระฉายา เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2487
พิชัย ทองเนียม เกิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2487
วินัย พันธุรักษ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2490
ส่วน ยงยุทธ มีแสง ซึ่งเข้าร่วมกับวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ช่วงก่อนเดินทางไปเล่นที่ฮาวายก็เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487
การมารวมตัวครั้งนี้เพื่อปิดวงอย่างเป็นทางการจึงใช้ชื่อคอนเสิร์ตว่า THE END OF THE IM (ดิ เอ็นด์ ออฟ ดิ อิม) ต้นฉบับที่คุณกำลังอ่านขณะนี้ ผมเขียนก่อนคอนเสิร์ตแสดง
แต่ทราบจากการเปิดเผยของ วินัย พันธุรักษ์ นักร้องของวงบอกว่า เพลงที่จะแสดงในคืนนั้นล้วนเป็นเพลงฮิตติดอันดับที่สร้างชื่อเสียงให้ดิอิมฯ โด่งดังอยู่ในโลกดนตรีมานมนาน ก็ต้องโดนใจคอเพลงทั้งสิ้น คือแฟนๆ ยังชอบร้องอยู่ถึงจนทุกวันนี้ เช่น
ทะเลไม่เคยหลับ เป็นไปไม่ได้ หนาวเนื้อ ไหนว่าจะจำ ชั่วนิจนิรันดร โลกมายา ชาวดง ลำนักรัก ชื่นรัก ทัศนาจร เริงรถไฟ คอยน้อง เจ้าพระยา ขาดเธอขาดใจ ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน
หลายเพลงที่ศิลปินนักร้องเอ่ยมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพลงดังจากภาพยนตร์ไทยในอดีตรวมอยู่ด้วยอย่างเช่น
ทะเลไม่เคยหลับ จากเรื่องสวนสน หนาวเนื้อ จากเรื่องดวง ลำนำรัก เจ้าพระยา จากเรื่องหนึ่งนุช เริงรถไฟ ชื่นรัก จากเรื่องโทน โลกมายา จากเรื่องลานสาวกอด ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน เพลงนี้ชื่อเดียวกับภาพยนตร์
มีอีกเรื่องหนึ่งที่วงดิอิมฯ ทุกคนได้ร่วมแสดงในหนังด้วย หลังจากที่เคยแสดงเฉพาะในฉากเพลงจากภาพยนตร์เท่านั้น
จันทร์เพ็ญ เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของศรีสยามโปรดั๊กชั่น โดยนำพระเอก สมบัติ เมทะนี มาประชันบทกับสองนางเอกสาวสวย อรัญญา นามวงศ์ และ เนาวรัตน์ วัชรา และได้นำ ปรีดา จุลละมณฑล นักปั่นจักรยานทีมชาติเจ้าของฉายามนุษย์ขาเหล็กร่วมแสดงด้วย
ในหนังมีเพลงของดิอิมฯ ร้องอยู่ 5 เพลง ได้แก่ จันทร์เพ็ญ ดีดสีตีเป่า ความหวัง สายใยชีวิต และหาดสีทอง ซึ่งเพลงหลังนี่คอเพลงยังร้องกันได้ถึงทุกวันนี้…
จากบันทึกของ ปราจีน ทรงเผ่า หนึ่งในสมาชิกวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ ผู้จัดทำหนังสือรวมเพลง The Impossibles อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการดนตรีไทย พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 ระบุ(ถึงเพลงหาดสีทอง)ว่า
“สง่า อารัมภีร แต่งคำร้องและทำนอง เศรษฐาร้องนำ เป็นเพลงจากภาพยนตร์เรื่องจันทร์เพ็ญ บันทึกเสียงที่ห้องอัดเสียงกมลสุโกศล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2514 ฉากของเพลงนี้ถ่ายทำที่หาดสวนสน จังหวัดระยอง”
…ต้องบันทึกไว้ว่า เป็นอีกหนึ่งเพลงดังของวงดิอิมพอสสิเบิ้ลส์
ส่วนเพลงดังอย่าง ทะเลไม่เคยหลับ บูรพา อารัมภีร บุตรของครูสง่า อารัมภีร เขียนไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552 ว่า
“เนื้อร้อง ครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นคนแต่งครับ เสียงร้องที่แฟนๆ ชอบนักชอบหนาจะเป็นของ เศรษฐา ศิระฉายา หรือพี่ต้อยแห่งวงดิ อิมพอสสิเบิ้ลส์ ก็เห็นใครต่อใครว่าร้องเพราะชะมัด
ความโด่งดังของเพลงทะเลไม่เคยหลับ อาจารย์ปราจีน ทรงเผ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในนักดนตรีวงดิ อิมพอสสิเบิ้ลส์แชมป์วงดนตรีสตริงคอมโบ้ถ้วยพระราชทาน 3 ปีซ้อน และยังเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้เคยกล่าวไว้
‘…ทะเลไม่เคยหลับ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องสวนสน ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จนกลายเป็นหนึ่งในเพลงอมตะของ ดิ อิมฯ จากการสร้างคำร้องและทำนองของยอดนักแต่งเพลงรักอีกคู่หนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดเท่าที่เมืองไทยเคยมีอาจเป็นเพลงเดียวที่แม้ไม่พิมพ์คำร้อง ทุกคนก็ร้องได้’
ขนาดนั้นเลยล่ะ…คุณ
แต่เพลงนี้ คนร้องคนแรกไม่ใช่พี่ต้อยแห่งดิ อิมฯ กลับเป็นสาวสวยแห่งช่อง 7 สี ช่อง 7 สี ชื่อเรียกติดปากของชาวหนอนทีวีตั้งแต่ยุคสถานีโทรทัศน์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นในสมัยแรกๆ มาถึงปัจจุบันก็ได้ยินเขาเพิ่มว่า ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ อะไรยังงั้น?
ช่อง 7 สี ตอนโน้นตั้งอยู่หลังสถานีขนส่งหมอชิตริมถนนพหลโยธิน หรือที่มักเรียกสั้นๆ ว่าขนส่งสายเหนือ ซึ่งก็รวมสายอีสานไว้ที่เดียวกัน
สมัยผมทำงานอยู่เขื่อนน้ำพรมเวลาจะเดินทางกลับบ้านเมืองนนท์ก็นั่งรถทัวร์สายเมืองเลย-กรุงเทพฯ มาลงขนส่งหมอชิตแห่งนี้
ส่วนขาไปก็นั่งรถแอร์เลยนั่นแหละไปลงอำเภอชุมแพ จากนั้นจะมีรถบริการของเขื่อนวิ่งออกมารับพวกผมกลับไปที่ทำงาน แต่ปัจจุบันสถานีขนส่งแห่งนี้ย้ายไปที่อื่นแล้ว
จำได้ว่าสมัยแรกที่ช่อง 7 สีตั้งขึ้น ตอนนั้นผมเคยขับรถไปส่งพ่อ พอเลี้ยวเข้าสถานี โห! ทั้งอาคารทั้งลานจอดรถมันช่างกว้างใหญ่ซะจริงๆ มีแต่ต้นไม้ต้นไร่เท่านั้นที่ยังเห็นเล็กๆ ไม่ใหญ่โตร่มรื่นเหมือนในขณะนี้ ช่อง 7 สีตั้งมาได้ราวๆ 40 ปีแล้ว สมัยแรกเริ่มออกอากาศตอนนั้นผู้บริหารที่นั่นเขาให้พ่อไปเป็นนักจัดรายการเพลง…”
(THE END OF THE IM จัดขึ้นในวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2561 รอบเวลา 19.00 น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์)
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “เพลงหาดสีทอง” เขียนโดย บูรพา อารัมภีร เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561 นำมาเรียบเรียงใหม่ จัดย่อหน้าใหม่ โดยกองบรรณาธิการ
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2565