19 มิถุนายน วันคล้ายวันเกิด “อองซาน ซูจี” สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเมียนมาร์

อองซาน ซูจี ขณะกล่าวปราศรัยกับแรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 (AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA)

อองซาน ซูจี เกิดวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำนำเนียบนายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพเมียนมาร์ พร้อมทั้งควบตำแหน่งประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เธอเป็นนักการเมืองชาวพม่าและผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากในเมียนมาร์

อองซาน ซูจี เกิด ณ กรุงย่างกุ้ง ในยุคที่พม่าเป็นของอังกฤษ (British Burma) บิดาของเธอ นายพลอองซาน บิดาแห่งเอกราชและวีรบุรุษของพม่า ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ขณะเธออายุเพียง 2 ขวบ ดอว์ขิ่นจี มารดาต้องเลี้ยงดูบุตรชายหญิง 3 คนตามลำพัง ซูจีซึ่งเป็นลูกคนเล็ก และบุตรสาวคนเดียวต้องสูญเสียพี่ชายคนรองจากอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตบริเวณบ้านพัก เธอกับอองซาน อู พี่ชายคนโต เติบโตมาพร้อมดูแลมารดาไปด้วย และได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายมิตรและบริวารเก่าของบิดา

พ.ศ. 2503 ดอว์ขิ่นจี ดำรงตำแหน่งทูตพม่า ประจำประเทศอินเดีย ซูจีมีโอกาสเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยสตรีศรีราม ในนิวเดลี ระหว่าง พ.ศ. 2507-2510 จึงเรียนเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาที่ เซนต์ฮิวส์คอลเลจ สหราชอาณาจักร และพบรักกับไมเคิล อริส นักศึกษาวิชาอารยธรรมทิเบต มารดาของซูจีหมดวาระตำแหน่งและย้ายกลับย่างกุ้ง พ.ศ. 2510 ซูจีเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

พ.ศ. 2515 อองซาน ซูจี สมรสกับ ไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่ภูฏานกับสามี ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ซูจีเริ่มเขียนงานชีวประวัติบิดาผ่านความทรงจำ ในพ.ศ. 2520 หลังย้ายมาอยู่กรุงลอนดอน ช่วง พ.ศ. 2528 – 2529 ซูจีแยกกับสามีพาบุตรชายคนเล็กไปญี่ปุ่น เนื่องจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ติดต่อมาเพื่อขอทำวิจัยกี่ยวกับบทบาทบิดาของเธอ กระทั่ง พ.ศ. 2530 หลังกลับมาอยู่ลอนดอนซูจีเริ่มสนใจเกี่ยวกับวรรณคดีพม่า

ล่วงเข้าวัย 43 ปี ซูจีกลับสู่บ้านเกิดไปเยี่ยมมารดา ณ กรุงย่างกุ้ง ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความวุ่นวายทางการเมืองในพม่า จากระบอบรัฐบาลทหารของนายพลเนวิล ซึ่งปกครองพม่ามากว่า 26 ปี ซูจีเริ่มเข้าไปพัวพันกับการเรียกร้องประชาธิปไตย ในฐานะทายาทของอดีตวีรบุรุษของชาติ ซูจีได้ปราศรัยเรียกร้องจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย และจัดตั้งพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พร้อมดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

เส้นทางการเมืองของอองซาน ซูจี เต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร เธอเคยถูกจับกักบริเวณ ริดรอนสิทธิหลายครั้ง อย่างไรก็ตามพรรคNLD ของซูจีมักจะชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคของรัฐบาล หลังการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพ ในการเลือกตั้งปี 2555 ของพม่า พรรคNLD ได้ตำแหน่งในสภาผู้แทนในตำแหน่งที่ว่าง มากถึง 43 จาก 45 ที่นั่ง พ.ศ. 2557 ซูจีถูกจัดอันดับเป็นสตรีที่ทรงอำนาจอันดับที่ 61 โดยนิตยสารฟอบส์ ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2558 หลังรัฐบาลทหารยอมแก้รัฐธรรมนูญบางประการ พรรคNLD ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย คะแนนเสียงสูงถึง 86% ซูจีในฐานะประธานพรรคยังติดปัญญาข้อห้ามในรัฐธรรมนูญทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลในบทบาทผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี

ท่ามกลางปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยและความรุนแรงภายในประเทศพม่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้อองซาน ซูจี ในฐานะผู้ที่เคยเป็นกำลังหลักในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพชาวพม่ามักถูกโจมตีเรื่องความชาตินิยม และการเพิกเฉยต่อปัญหาความรุนแรงในพม่า แต่ด้วยเกียรติคุณในอดีตทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอองซาน ซูจี เป็นหนึ่งในสตรีที่ชาวพม่ายกย่องเชิดชูอย่างมากทีเดียว

 


ข้อมูลจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Aung_San_Suu_Kyi

2 สิงหาคม 2013 : “ตลกบัญชีดำแห่งพม่า” เสียชีวิต

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ.2562