27 กันยายน 1540: ก่อตั้งคณะ “เยซูอิต” คณะสงฆ์ผู้ภักดีต่อโป๊ป ตอบโต้คริสเตียนสายปฏิรูป

นักบุญอิกนาเชียสแห่งโลโยลา คณะเยซูอิต
นักบุญอิกนาเชียสแห่งโลโยลา (St. Ignatius of Loyola)

คณะเยซูอิต (Jesuit) หรือคณะแห่งพระเยซูเจ้า (Society of Jesus) ก่อตั้งขึ้นโดย นักบุญอิกนาเชียสแห่งโลโยลา (St. Ignatius of Loyola) อดีตทหารสเปนซึ่งหันหน้าเข้าสู่ศาสนา เมื่อได้พบกับประสบการณ์ทางความเชื่อหลังได้รับบาดเจ็บจากการรบ

นักบุญอิกนาเชียสแห่งโลโยลา หรือนักบุญอิกนาเชียส คือผู้แต่งหนังสือการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ (Spiritual Exercises) เพื่อชี้แนะการฝึกฝนจิตใจเพื่อเข้าใกล้พระเยซูเจ้า ต่อมาเด็กหนุ่ม 6 คน ซึ่งได้พบกับนักบุญอิกนาเชียสที่มหาวิทยาลัยปารีสและได้ฝึกตนตามหนังสือดังกล่าว ก็ได้ร่วมปฏิญาณกับนักบุญอิกนาเชียสในวันที่ 15 สิงหาคม 1534 (พ.ศ. 2077) ว่าจะดำรงตนอย่างสมถะ รักษาพรหมจรรย์ และจะแสวงบุญไปยังเยรูซาเล็ม

ในคำปฏิญาณข้อสุดท้ายพวกเขาเพิ่มเงื่อนไขว่าหากทำไม่ได้ พวกเขายินดีที่จะทำกิจกรรมเผยแพร่ศาสนาตามคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างไม่มีเงื่อนไข และพวกเขาก็ทำไม่ได้จริงๆ เนื่องจากเยรูซาเล็มตกอยู่ในภาวะสงคราม พวกเขาจึงเดินทางไปพบกับพระสันตะปาปาในกรุงโรม เพื่อขอจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่

ในปี 1539 (พ.ศ. 2082) นักบุญอิกนาเชียสได้ร่างกฎแห่งคณะเยซูอิตขึ้น และสมเด็จพระสันตะปาปาพอลที่ 3 ก็ได้รับรองร่างดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 1540 (พ.ศ. 2083) ซึ่งนับเป็นวันถือกำเนิดของคณะเยซูอิต

คณะเยซูอิต เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้การนำของนักบุญอิกนาเชียส และกลายเป็นคณะสงฆ์คาทอลิกซึ่งมีบทบาทนำในการตอบโต้คริสเตียนสายปฏิรูปทั้งหลาย ทำให้หลายพื้นที่ในยุโรปที่เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของโปรแตสแตนท์กลับมานับถือคาทอลิกอีกครั้ง และคณะนักบวชเยซูอิตในยุคนักบุญอิกนาเชียสยังเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาไกลถึงอินเดีย, บราซิล, คองโก และเอธิโอเปีย

เยซูอิตให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่นักบวชเยซูอิตเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในจีน เบื้องต้นพวกเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ในฐานะผู้รู้ที่นำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้าไปเผยแพร่ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ถูกขับไล่โดยผู้ปกครองยุคหลังที่ไม่ไว้วางใจในอิทธิพลของคณะเยซูอิต

ยิ่งคณะเยซูอิตขยายอิทธิพลมากขึ้น ความขัดแย้งกับรัฐต่างๆ รวมถึงคณะสงฆ์อื่นๆ ก็ยิ่งขยายตัวจนนำไปสู่คำประกาศของสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 14 ที่ให้ยุบคณะเยซูอิตในปี 1773 ด้วยแรงกดดันจากฝรั่งเศส, สเปน และโปรตุเกส แต่รัสเซียโดยพระนางแคเธอรีนมหาราชินีไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าว ทำให้คณะเยซูอิตเหลือรอดมาได้ และภายหลังสมเด็จพระสันตะปาปาพิอุสที่ 7 ก็มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะเยซูอิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยเห็นความจำเป็นในบทบาทด้านการศึกษา และการเผยแพร่ศาสนาของคณะเยซูอิต

ปัจจุบัน แม้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันจะเป็นนักบวชจากคณะเยซูอิต (และนับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากนักบวชคณะนี้) แต่คณะเยซูอิตกำลังอยู่ในช่วงขาลงเช่นเดียวกับคณะสงฆ์กลุ่มอื่นๆ เห็นได้จากตัวเลขนักบวชคณะเยซูอิตที่เคยมีมากกว่า 30,000 คน ทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1960 แต่ปัจจุบันมีนักบวชเยซูอิตเหลืออยู่เพียงราว 16,000 คนเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“Jesuit”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 26 Sep. 2016
<https://global.britannica.com/topic/Jesuits>.

“History of Europe”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 26 Sep. 2016
<https://global.britannica.com/topic/history-of-Europe/Reformation-and-Counter-Reformation>.

“Jesuit order established”. History. <http://www.history.com/this-day-in-history/jesuit-order-established>

“How Francis Can Save the Jesuits”. Catholic Herald. <http://www.catholicherald.co.uk/issues/november-13th-2015-2/how-francis-can-save-the-jesuits/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2559