19 กันยายน 2549 รัฐประหารไทยในรอบ 15 ปี

รถถัง หน้า ทำเนียบรัฐบาล ในการ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 บรรดาผู้นำเหล่าทัพไทยทำ “รัฐประหาร” โดยได้พากันยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อร่วมการประชุมขององค์การสหประชาชาติ นับเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจรัฐครั้งแรกในรอบ 15 ปี ของการเมืองไทย

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ประกาศตัวเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” การยึดอำนาจของพลเอก สนธิ เป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านด้วยอาวุธ หลังประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค โฆษกคณะรัฐประหาร กล่าวถึงเหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า

“ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง

แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้

ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง

แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและความมั่นคงของชาติรวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน”

ทั้งนี้ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งคณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยข้อหาที่แทบไม่ต่างไปจากเหตุผลที่ใช้ในการยึดอำนาจของทักษิณในอีก 15 ปี ถัดมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2561