ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กองทัพจีน หรือกองกำลังติดอาวุธของประเทศจีน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีน และ กองกำลังตำรวจติดอาวุธเพื่อประชาชนแห่งชาติจีน กองกำลังติดอาวุธของจีนทั้ง 2 ส่วน มีกำลังพลรวม 3.5 ล้านนาย เป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก เกี่ยวพันอย่างไรกับ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน”
กองทัพปลดแอกฯ ประกอบด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังขีปนาวุธ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของคณะกรรมาธิการกลางทหารสูงสุด มีกองกำลังทั้งสิ้น 2.3 ล้านนาย
กองกำลังตำรวจติดอาวุธฯ ประกอบด้วยหน่วยปราบปรามและพิทักษ์สันติราษฎร์ภายในประเทศ, หน่วยสำรวจธรณีและทรัพยากรเหมืองแร่, หน่วยพิทักษ์ป่าไม้, หน่วยโยธาการไฟฟ้าและการประปา, หน่วยโยธาการคมนาคม, หน่วยลาดตระเวนชายแดน, หน่วยดับเพลิง และหน่วยตำรวจอารักขา เป็นต้น ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการกลางทหารสูงสุด มีกองกำลังทั้งสิ้น 1.2 ล้านนาย
กองทัพจีน อยู่ใต้บังคับบัญชาของ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” อย่างเคร่งครัด
ขณะที่กองทัพของชาติตะวันตกโดยทั่วไป ยึดหลักการว่ากองทัพจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน แต่ กองทัพจีน ยึดหลักการว่า จะต้องปฏิบัติตามคำบัญชาการของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยปราศจากเงื่อนไข ห้ามมิให้ทำการแยกตัวเป็นเอกเทศจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ห้ามมิให้ผู้ใดแย่งชิงอำนาจทางกองทัพจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน และห้ามมิให้พรรคการเมืองอื่นใดจัดตั้งองค์กรหรือดำเนินกิจกรรมภายในกองทัพ
การก่อตั้งกองกำลังแห่งการปฏิวัติ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธในแต่ละท้องถิ่น เพื่อก่อตั้งเป็นกองกำลังแห่งการปฏิวัติ เช่น การลุกฮือขึ้นต่อสู้ที่หนานชาง นำโดยโจวเอินไหล, การลุกฮือขึ้นต่อสู้ในช่วงเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง นำโดยเหมาเจ๋อตง พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเป็นทั้งผู้ก่อตั้งกองทัพ และผู้บัญชาการกองทัพของจีน ช่วงระยะดังกล่าว เหมาเจ๋อตงได้เสนอแนวคิดเรื่องการบัญชาการกองทัพของพรรคว่า “พรรคต้องบัญชาการกระบอกปืน ห้ามมิให้กระบอกปืนบัญชาการพรรค”
กลไกและมาตรการในการบังคับบัญชาการกองทัพของพรรค ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้
- จัดการศึกษาด้านรัฐศาสตร์แก่กองทัพอย่างสม่ำเสมอ โดยสำคัญพื้นฐานคือ การบ่มเพาะให้กองทัพเชื่อฟัง ก้าวตาม และน้อมรับการบัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมทั้งให้สถาบันการศึกษาทางทหารทุกระดับ
- หลักการที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคณะกรรมาธิการกลางทหารสูงสุด อีกทั้งหน่วยบัญชาการระดับต่างๆ จะต้องมีองค์การของพรรคร่วมด้วย
- กำหนดวาระตำแหน่งผู้บัญชาการฝ่ายทหารระดับสูง ไม่ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมนานเกินไป ป้องกันการเกิดกลุ่มอิทธิพลอิสระประจำท้องถิ่น
นี่คงพอเป็นคำตอบคร่าวๆ ว่าทำไมกองทัพจีนจึงไม่เคยก่อการปฏิวัติรัฐประหาร
อ่านเพิ่มเติม :
- คุณูปการและความผิดพลาดของ “เหมาเจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน
- จีนสมัยสาธารณรัฐ เกิด “กองทัพหางเปีย” ที่ลุกขึ้นฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
จางซีเจิ้น เขียน, แปล. “กองทัพกับการเมืองการปกครองของจีน” ใน, จีน 3 มิติ, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิพม์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2565