“นาซีเยอรมัน” ต้นแบบการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน
ภาพเขียนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน, AFP PHOTO / INP

ทำไม “นาซีเยอรมัน” ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถึงเป็นต้นแบบการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ?

วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี ถือเป็น วันงดสูบบุหรี่โลก ตามมติขององค์การอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศนักสูบไม่สามารถสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะได้อีกต่อไป การจำหน่ายบุหรี่ในบางประเทศยังกำหนดให้ซองบุหรี่นอกจากจะต้องมีภาพที่น่ากลัว เพื่อให้นักสูบเห็นถึงอันตรายแล้ว ยังไม่อนุญาตให้แสดงเครื่องหมายการค้าอันเป็นเอกลักษณ์ของตน ซึ่งเป็นผลสำเร็จมาจากความพยายามในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่มานานหลายสิบปี

Advertisement

เมื่อผู้เขียนลองค้นหาข้อมูลย้อนกลับไปว่า ประเทศใดเป็นประเทศแรกๆ ที่นำนโยบายห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมาบังคับใช้ คำตอบที่ได้ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจเล็กน้อยในเบื้องต้นว่า ประเทศดังกล่าวคือ เยอรมนีในยุคของ “นาซี”

แต่เมื่อนึกดูอีกทีก็เข้าใจได้ เพราะ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ท่านผู้นำ นาซีเยอรมัน เป็นคนรักสุขภาพมาก รายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุว่า ฮิตเลอร์เป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่และไม่กินเหล้า และยังเป็นมังสวิรัติ (แม้จะมีนักประวัติศาสตร์บางคนทักท้วงว่า อย่างฮิตเลอร์ยังเรียกว่าเป็นมังสวิรัติไม่ได้ เพราะเขายังคงกินเนื้อแปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม รวมไปถึงคาเวียร์ในบางโอกาส)

นโยบายรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในเยอรมนียุคนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ต้องจริตท่านผู้นำแล้ว ยังมีผลวิจัยโดย ฟรานซ์ มุลเลอร์ (Franz Muller) นักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ที่สามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงของการเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1939 มารองรับ

คำว่า “การสูบบุหรี่ทางอ้อม” (Passivrauchen) ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยองค์การสันนิบาตต่อต้านยาสูบแห่งเยอรมนี ช่วงเวลาดังกล่าว เยอรมนีได้กลายเป็นผู้นำในด้านการวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการกำหนดนโยบายของรัฐ มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่อย่างหนัก พร้อมกับการควบคุมการโฆษณา และจำกัดการจ่ายบุหรี่ให้กับทหารในแนวหน้าที่วันละไม่เกิน 6 ตัว

การรณรงค์ที่เริ่มต้นจากสเกลเล็กๆ ด้วยการปิดประกาศและลงโฆษณาในนิตยสารสุขภาพ สุดท้ายได้นำไปสู่นโยบายห้ามการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะอย่างโรงเรียน โรงภาพยนตร์ รถราง และหลุมหลบภัย ซึ่งบางแห่งมีการจัดพื้นที่ให้สำหรับผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ นอกจากนี้ พนักงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจยังถูกสั่งห้ามสูบบุหรี่ขณะสวมเครื่องแบบ

ขณะเดียวกัน นาซีเยอรมัน ก็ยังหมกหมุ่นกับเรื่องความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติอารยัน อ้างว่า บุหรี่เป็นภยันตรายต่อชนชาติที่ถูกเลือก มีการโฆษณาชวนเชื่อตอกย้ำว่า การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของพวกยิว ยิปซี คนดำ และปัญญาชน (นาซีเป็นพวกต่อต้านนักเหตุผลนิยม ยกย่องความยิ่งใหญ่ในสายเลือด ความภักดี ความรักชาติ และการอุทิศตนเพื่อหน้าที่เป็นหลัก) ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ยังถูกตราหน้าว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นแม่ หรือเมีย ในเยอรมนีอีกด้วย

แต่ถึงแม้ว่านาซีจะวาดภาพให้บุหรี่ไม่ต่างไปจากปีศาจร้าย พวกเขาก็ไม่เคยกำหนดให้บุหรี่เป็นยาเสพติดต้องห้าม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรายได้จำนวนมากที่รัฐบาลได้จากภาษีบุหรี่ ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่จำเป็นในช่วงสงคราม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงพร้อมกับการล่มสลายของนาซี บุหรี่กลับมาเป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกบุหรี่รายใหญ่ ตามแผนมาร์แชล (แผนฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามของสหรัฐฯ) ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมบุหรี่ของสหรัฐฯ เอง

ด้วยเหตุนี้ การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในปัจจุบันจึงมีนักสูบ (หรือไม่สูบแต่สนับสนุนการสูบ) หลายคนออกมาโจมตีว่า การต่อต้านบุหรี่มีรากฐานมาจากนโยบายของพวกฟาสซิสต์ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทาคาโอะ ไซโตะ (Takao Saito) นักหนังสือพิมพ์ผู้ประดิษฐ์คำว่า “การต่อต้านการสูบบุหรี่แบบฟาสซิสต์” ในภาษาญี่ปุ่น ยังอ้างตรรกะจากคำขวัญต่อต้านนาซีของ มาร์ติน นีโมลเลอร์ (Martin Niemoller) ที่ขึ้นต้นว่า “ตอนแรกพวกเขามาจับคอมมิวนิสต์ ฉันไม่ว่าอะไรเพราะฉันไม่ใช่คอมมิวนิสต์…” ขึ้นมาสนับสนุนข้ออ้างของตนว่า

“ตอนแรกเราสั่งห้ามการสูบบุหรี่โดยไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ…หากสิ่งนี้ได้รับการยอมรับ ต่อไปก็จะเป็นคราวของพวกดื่มเหล้า จากนั้นก็อาจถึงคราวที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกปิดกั้น ด้วยตรรกะที่ว่ามัน ‘เป็นอันตราย’ หากขบวนการต่อต้านบุหรี่ยังคงได้รับอนุญาตให้ออกอาละวาดต่อไป มันจะไม่จบที่นักสูบแน่ๆ” ไซโตะกล่าวโดยอ้างถึงสถานการณ์ของนักสูบในญี่ปุ่น ที่กำลังถูกคุกคามจากการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่

อย่างไรก็ดี เสียงสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการต่อต้านการสูบบุหรี่ยังคงแผ่วเบาไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากนักสูบยังไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจนเหมือนฝ่ายต่อต้าน ขณะที่งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในสื่อส่วนใหญ่ ล้วนแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจากบุหรี่ว่าเป็นเรื่องจริง รวมถึงอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แม้ผู้สนับสนุนนักสูบหลายคนจะยืนยันว่า งานวิจัยหลายชิ้นยังมีข้อโต้แย้งที่น่ากังขาก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

1. “Fuehrer Ascetic in Personal Life”. The New York Times. The New York Times Company, 2 May 1945. Web. 31 May 2016. <http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=9E02E5DB1F3FE532A05751C0A9639C946493D6CF>

2. Ash, Alec. “Defining Moment: The Nazis launch the first public anti-smoking campaign.” The Financial Times. The Financial Times LTD, 18 Sep. 2010. Web. 31 May 2016. <http://www.ft.com/cms/s/2/3d78d24a-c068-11df-8a81-00144feab49a.html#axzz4ADWZCPB2>

3. Hamilton, Tracy Brown. “The Nazis’ Forgotten Anti-Smoking Campaign”. The Atlantic. The Atlantic Monthly Group, 9 Jul. 2014. Web. 31 May 2016. <http://www.theatlantic.com/health/archive/2014/07/the-nazis-forgotten-anti-smoking-campaign/373766/>

4. Kuchikomi. “Anti-Smoking ‘Monsters’ Have Smokers on the Run.” Japan Today. GPlusMedia Inc., 10 Apr. 2010. Web. 31 May 2016. <https://japantoday.com/category/features/kuchikomi/anti-smoking-monsters-have-smokers-on-the-run>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2559