เผยแพร่ |
---|
สารเคมีจำนวนมากรั่วไหลลงสู่แม่น้ำไรน์ (Rhine River) จากเหตุไฟไหม้โรงงานสารเคมีที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529
เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมีของบริษัทซานดอซ (Sandoz) หนึ่งในบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ส่งผลกระทบให้กับอีก 3 ประเทศใกล้เคียง คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เมื่อสารเคมีหลายชนิดซึ่งได้แก่ สารปรอท ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง และสารเคมีอันตรายที่ใช้ในทางการเกษตรอีกหลายชนิดรวมเป็นจำนวนกว่าพันตันได้ไหลลงสู่แม่น้ำไรน์
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้แม่น้ำไรน์ซึ่งปนเปื้อนด้วยสารพิษร้ายแรงหลายชนิดได้กลายเป็นแม่น้ำสีแดง สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศ ฆ่าปลาและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง

ปิดโรงงานผลิตน้ำ 4 ประเทศ
แม่น้ำไรน์ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหลายประเทศในแถบยุโรป มีทัศนยภาพบริเวณโดยรอบที่งดงาม ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในเชิงของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในด้านการใช้สอย อุปโภคบริโภค จากวิกฤติการการปนเปื้อนสารเคมีในแม่น้ำทำให้ทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ต้องสั่งปิดโรงงานผลิตน้ำดื่มที่ใช้น้ำจากแม่น้ำไรน์ และสั่งห้ามการทำประมง พร้อมทั้งจัดการปิดประตูกันน้ำเพื่อไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนไหลนำสารพิษแพร่ไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้
เหตุการณ์แม่น้ำไรน์สีเลือดนี้เรียกได้ว่าเป็นบทเรียน และเป็นวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าประเทศยุโรป เพราะกว่าที่จะทำความสะอาด ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาสวยงามและบริสุทธิ์เหมือนเดิมได้นั้น ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ที่มา :
http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/november/1/newsid_4679000/4679789.stm?fbclid=IwAR0UKBVOJfin4-RtSCswTcdjm9WeRC_bWd4g7cbOqZRarE2Eiyp-w6tsyvw
https://www.nytimes.com/1986/11/11/world/huge-chemical-spill-in-the-rhine-creates-havoc-in-four-countries.html
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561