2 กันยายน 2546 ไทยประกาศ ยูเนสโกยก “จารึกพ่อขุนรามฯ” เป็นมรดกความทรงจำของโลก

จารึกพ่อขุนรามฯ จารึกหลักที่ 1 เป็นข่าว หนังสือพิมพ์ ยูเนสโก
ข่าว จารึกพ่อขุนรามฯ หรือจาลึกหลักที่ 1 ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก

กระทรวงศึกษาธิการได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2546 ประกาศว่า คณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้มีมติให้ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก จดทะเบียน ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ภายใต้โครงการ มรดกความทรงจำของโลก (Memory of the World Project)

แถลงการณ์ระบุว่า คณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติของยูเนสโก ได้ประชุมเมื่อวันที่ 28-30 สิงหาคมปีเดียวกัน ที่เมืองกแตนซค์ ประเทศโปแลนด์ เพื่อพิจารณาใบสมัคร 43 รายการ จาก 27 ประเทศทั่วโลกเพื่อขึ้นทะเบียนตามโครงการดังกล่าว ซึ่ง จารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้รับมติสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ “โดยไม่มีกรรมการท่านใดทักท้วงเลย”

ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ
ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ

ด้าน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่ “แปลกๆ สักหน่อย เพราะไร้คุณค่าและความหมายแก่ลูกหลานมาตลอด จนเพิ่งถูกยัดเยียดให้เป็นมรดกเพียงร้อยปีเศษมานี้เอง”

เหตุผลสำคัญที่นิธิกล่าวเช่นนั้น เนื่องจากจารึกหลักนี้มีลักษณะพิเศษหนึ่งเดียวเฉพาะ จนทำให้ตัวของมันเองไม่เป็นมรดกของใครเลย รวมทั้งคนสุโขทัย และอยุธยา เนื่องจากเนื้อความในจารึกเขียนขึ้นด้วยบุคคลที่คิด เชื่อ และมองโลกแตกต่างไปจากคนไทยในสมัยสุโขทัยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

โดยนิธิได้ย้ำว่า ตนมิได้ต้องการจะบอกว่า จารึกหลักที่ 1 เขียนขึ้นในสมัยใดเป็นที่แน่นอน และไม่อาจตัดสินได้ว่าจารึกหลักนี้จริงหรือปลอมดังที่มีการถกเถียงกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการบางคนที่เชื่อว่า “จริง” แล้วพยายามเล่นงานผู้ที่เห็นต่างด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“มรดกโลกทางวัฒนธรรม” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 1204 วันที่ 12-18 กันยายน พ.ศ. 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2559