ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
14 กันยายน พ.ศ. 2485 ชาวไทยยืนเคารพธงชาติเป็นครั้งแรก
“ธงชาติและเพลงชาติไทย …เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย…เราจงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ…ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย…” ข้อความเชิญชวนให้ยืนตรง “เคารพธงชาติ” ที่ฟังกันจนคุ้นหู และเป็นกิจวัตรที่กระทำจนคุ้นเคยนั้น มีความเป็นมาอย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เราเพิ่งเคารพธงชาติเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. อย่างเป็นจริงเป็นจังกัน 80 กว่าปี (ตั้งแต่ปี 2485) ทั้งที่ประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานาน เฉพาะธงไตรรงค์ที่ใช้เป็นธงชาติในปัจจุบันก็มีอายุกว่า 100 ปี
แม้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาออกกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ แต่การเคารพธงชาติก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
ความสำเร็จในการยืนเคารพธงชาติ เกิดจากรายการวิทยุกระจายเสียง “นายมั่น-นายคง” ซึ่งผู้ดำเนินการ 2 คนจะสนทนากับผู้ฟังทางบ้านในประเด็นต่างๆ (ซึ่งวิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาที่สำคัญของรัฐบาลในเวลานั้น) โดยการออกอากาศวันที่ 13 กันยายน ปี 2485 ได้เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันว่า
“เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไปผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดังๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่วๆ กัน…
สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสไห้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคนเปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ
ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ ”
วันที่ 14 กันยายน 2485 ประชาชนจึงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ และปฏิบัติมาสืบแต่นั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- 8 กันยายน 2482 รัฐบาลออกประกาศให้คนเคารพธงชาติ
- ที่มา “ธงชาติไตรรงค์” ไอเดียใครออกแบบ ทำไมเลือกใช้สีแดง-น้ำเงิน-ขาว
- รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็น “ธงชาติไทย” เมื่อ 28 กันยายน 2460
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กรมโคสนาการ. ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ พิมพ์โดยคำสั่ง พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี
ชนิดา พรหมพยัคฆ์-เผือกสม. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่องธงไตรรงค์กับการสร้างอุดมการณ์รัฐไทย พ.ศ. 2459 – 2520 สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย