10 มี.ค.1959: จีนเรียก “ทะไลลามะ” ไปรายงานตัวในค่ายทหาร จุดชนวนการประท้วงใหญ่

การชุมนุมของชาวทิเบตบริเวณวังโปตาลาเพื่อต่อต้านกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1959 (AFP)

ทะไลลามะ คือผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับความเคารพนับถือสูงสุดในทิเบต ดินแดนแห่งความสงบ และมีธรรมชาติอันงดงาม อย่างไรก็ตาม กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนได้บุกเข้ารุกรานทิเบตตั้งแต่ช่วงปลายปี 1950 หลังฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถกุมอำนาจในแผ่นดินใหญ่ได้ราวหนึ่งปี และในปี 1951 รัฐบาลทิเบตยอมลงนามใน “ข้อตกลง 17 ประการเพื่อการปลดปล่อยทิเบตโดยสันติ” ตามแรงกดดันของจีน ซึ่งยังคงยืนยันอำนาจในการดูแลกิจการภายในของทิเบต

อย่างไรก็ดี การต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางของชาวทิเบตค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การจลาจลของประชาชนในภาคตะวันออกของทิเบตในปี 1956 และปลายปี 1958 เค้าลางของการต่อต้านเริ่มปรากฏให้เห็นในลาซา (เมืองหลวงของทิเบต) ขณะที่กองทัพจีนได้ออกมาข่มขู่ว่า พร้อมที่จะถล่มลาซาทันทีที่มีการละเมิดข้อตกลง

การลุกฮือในเดือนมีนาคม 1959 เริ่มขึ้นจากความกังวลว่า รัฐบาลจีนกำลังวางแผน “ลักพาตัว” ทะไลลามะ หลังทหารจีนได้เรียกตัวทะไลลามะไปพบที่กองบัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชน โดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามใดๆ เข้าไปในศูนย์บัญชาการด้วย

ในการเรียกตัวครั้งนั้น ฝ่ายทหารจีนอ้างว่า ต้องการเชิญ ทะไลลามะ ไปชมการแสดงละคร และร่วมดื่มน้ำชา แต่การเชิญไปยัง “ค่ายทหาร” พร้อม “สั่ง” ให้ทะไลลามะเดินทางไปคนเดียวโดยห้ามมีผู้ติดตาม ย่อมทำให้ชาวทิเบตอดเคลือบแคลงในเจตนาของกองทัพจีนมิได้

วันที่ 10 มีนาคม 1959 ชาวบ้านอย่างน้อยกว่า 3 หมื่นคน (ตัวเลขหลายแหล่งไม่ตรงกัน) ได้ออกมาล้อมวังนอร์ภูลิงคะ (Norbulinka Palace ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวังโปตาลา) เพื่อขวางมิให้ทะไลลามะยอมรับคำสั่งของกองทัพปลดปล่อยประชาชน สองวันถัดมาหญิงชาวทิเบตราว 5 พันคน ได้ออกมาเดินขบวนในลาซาเรียกร้องอำนาจปกครองตนเองตามคำขวัญ “ทิเบตเพื่อชาวทิเบต” พร้อมประกาศว่า “ทิเบตเป็นอิสระนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

วันที่ 15 มีนาคม องครักษ์ของทะไลลามะเริ่มออกจากลาซาเพื่อเตรียมเส้นทางหลบหนี ขณะที่กองทัพจีนเริ่มเพิ่มกำลังประจำการ และได้ยิงปืนใหญ่ 2 ลูกเข้าโจมตีวังนอร์ภูลิงคะในวันที่ 17 มีนาคม ทำให้ทะไลลามะต้องหลบหนีออกไปยังอินเดีย

วันที่ 19 มีนาคม ได้เกิดการสู้รบกันในลาซา ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่แทบจะสิ้นหวังของชาวทิเบตที่ด้อยกว่าทั้งกำลังคนและอาวุธ ถึงวันที่ 21 มีนาคม กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ใช้ปืนใหญ่กว่า 800 ลูกยิงถล่มวังนอร์ภูลิงคะสังหารหมู่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงไปนับหมื่น

หลังสิ้นสุดการสู้รบ ลาซาต้องสูญเสียวัดวาอารามสำคัญ วัตถุล้ำค่าและคัมภีร์โบราณไปจำนวนมาก และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 8 หมื่นราย ชาวทิเบตที่รอดชีวิตหลายหมื่นคนยังได้อพยพหนีตามองค์ทะไลลามะที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย

ขณะที่จีนพยายามเดินหน้าครอบงำชาวทิเบตอย่างเต็มที่ โดยหลังจากที่พานเฉินลามะ (Panchen Lama เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 ของชาวพุทธทิเบต) องค์ที่ 10 เสียชีวิตลง ทะไลลามะได้ประกาศให้ เกดหุน โชคยี นยีมา (Gedhun Choekyi Nyima) วัย 6 ขวบ เป็นพานเฉินลามะองค์ที่ 11 ในปี 1995

แต่เพียงสามวันหลังจากนั้น ทางการจีนได้จับตัวพานเฉินลามะองค์นี้ไป ก่อนประกาศให้ กยัลต์เซน นอร์บู (Gyaltsen Norbu) ลามะที่เกิดจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และเติบโตในปักกิ่ง ขึ้นเป็นพานเฉินลามะ (Panchen Lama) ลำดับที่ 11 แทน ส่วนพานเฉินลามะที่ได้รับการประกาศจากทะไลลามะถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบชะตากรรม หลายคนยังเชื่อว่าเขาอาจถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมืองมานานนับ 20 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เว็บไซต์ History (Rebellion in Tibet), BBC (China urged to release Panchen Lama after 20 years), New York Times (China’s Chosen Lama Visits Monastery Town) และ Tibet.org


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ.2559