3 มีนาคม 2540 : ไทยสั่งห้ามซื้อขายหุ้นกลุ่มธนาคารส่งสัญญาณ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ห้าผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (จากซ้ายแถวบน) ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี(ในขณะนั้น) ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (กลาง) และธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง (ในขณะนั้น), (ซ้ายล่าง) คิม แด-จุง (Kim Dae-Jung) ปธน.เกาหลีใต้ และกาเบรียล ซิงซัน (Gabriel Singson) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งฟิลิปปินส์ (ในขณะนั้น) ภาพจาก AFP

ในวันที่ 3 มีนาคม 2540 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สั่งระงับการซื้อขายหุ้นในกลุ่มธนาคารทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดในขณะนั้น หลังรัฐบาลมีคำสั่งให้กลุ่มธุรกิจธนาคารเพิ่มสัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้เสีย ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนถึง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่จะสุกงอมเต็มที่ในช่วงกลางปีเดียวกัน

วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียปี พ.ศ. 2540 ถูกบันทึกว่าได้เริ่มต้นจากประเทศไทย ก่อนลุกลามไปหลายประเทศในทวีปเอเชีย นับแต่การล้มละลายของค่าเงินบาท หลังรัฐบาลขาดเงินตราต่างประเทศที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทจนต้องประกาศปล่อยค่าเงินลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทมีมูลค่าลดลงกว่า 50 เปอร์เซนต์หลังการใช้มาตรการดังกล่าวเพียง 6 เดือน

Advertisement

วิกฤตในครั้งนี้สื่อให้เห็นถึงการบริหารงานที่ล้มเหลวของฝ่ายการเมืองทั้งระดับชาติ และภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียที่รัฐและประชาคมมิได้จัดระบบกฎเกณฑ์ทางการเงินอย่างเหมาะสม และไม่อาจรับมือกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์หรือแรงกดดันจากต่างชาติได้โดยเฉพาะองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินพร้อมกับบีบบังคับให้รัฐบาลที่รับความช่วยเหลือต้องยอมรับเงื่อนไขในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ จนทำให้รัฐบาลสูญเสียอำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริง

ยกเว้นก็แต่รัฐบาลมาเลเซียของมหาธีร์ โมฮัมหมัดที่สามารถรับมือกับปัญหาเงินกู้ระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข็งขืนแรงกดดันของ IMF ได้ จนทำให้เขาได้รับการจับตามองจากนานาชาติเป็นอย่างมาก

ขณะที่รัฐบาลอื่นๆ ที่ยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นได้แล้ว ยังทำให้รัฐบาลขณะนั้นสูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง เช่น รัฐบาลของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องลาออกหลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียงปีเดียว ไม่เว้นแม้แต่ซูฮาร์โต (Suharto) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ครองอำนาจมานานกว่า 3 ทศวรรษก็ต้องสิ้นอำนาจจากผลพวงของวิกฤตครั้งนี้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Thais Suspend Trading in Shares of All the Banks”. The New York Times (4 Mar 1997). <http://www.nytimes.com/1997/03/04/business/thais-suspend-trading-in-shares-of-all-banks.html> Accessed 2 Mar 2017.

Ba, Alice D. “Asian Financial Crisis”. Encyclopedia Britannica (25 May 2016). <https://global.britannica.com/event/Asian-financial-crisis> Accessed 2 Mar 2017.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2560