15 กุมภาพันธ์ 1965 : แคนาดาประกาศใช้ “ธงเมเปิลสีแดง” เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการ

กองเชียร์ทีมชาติแคนาดาส่งเสียงเชียร์ทีมฮ็อคกีทีมชาติแคนาดาระหว่างการแข่งขันฮ็อคกีในโอลิมปิกฤดูหนาวรอบรองชนะเลิศกับทีมชาติเชกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ในเมืองนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1998 (AFP PHOTO / OLIVIER MORIN)

แคนาดา มีประวัติศาสตร์หลังการมาถึงของชาวตะวันตกยาวนานราว 400 ปี เบื้องแรกในฐานะดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนตกมาอยู่ในความครอบครองของอังกฤษในเวลาถัดมา

การใช้ธงชาติของรัฐก่อนที่จะมาเป็นแคนาดาในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยมีสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นรัฐภายใต้อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอยู่เสมอ

เมื่อเข้าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสถานการณ์ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ และความเป็นชาติของแคนาดา การสนับสนุนอังกฤษในสงครามยังมีส่วนที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อประชาชนจำนวนมากพากันต่อต้านการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะกลุ่มชาวแคนาดาในควิเบกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 แคนาดาเดินหน้าสู่ความเป็นรัฐเอกเทศมากขึ้น และพยายามหาธงชาติใหม่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี 1925 แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งปี 1964 ที่รัฐสภาได้ประกาศคัดเลือกธงชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถึงเดือนธันวาคม 1964 รัฐสภาได้มีมติเลือกธงชาติพื้นแดงขาว ที่มีใบเมเปิลสีแดง ปลายใบ 11 แฉก อยู่ตรงกลาง ให้เป็นธงชาติของแคนาดา โดยสีแดงบนธงซ้ายและขวา หมายถึง มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนสีขาว หมายถึง ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่และหิมะ ใบเมเปิลคือสัญลักษณ์ของแคนาดา ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

พิธีสถาปนาธงชาติแคนาดาอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 1965 ณ รัฐสภาแคนาดา


อ้างอิง:

  1. “Canada Adopts Maple Leaf Flag”. History. <http://www.history.com/this-day-in-history/canada-adopts-maple-leaf-flag>
  2. “History of the National Flag of Canada”. Government of Canada. <http://canada.pch.gc.ca/eng/1444133232512>

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561