22 พ.ค. 1859 วันเกิด เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ นักเขียนผู้ให้กำเนิด “เชอร์ล็อก โฮมส์”

เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอลย์ ผู้เขียน ผู้สร้าง เชอร์ล็อก โฮมส์
เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หากจะกล่าวถึง นักสืบ สักคนหนึ่งที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว แน่นอนว่าหลายๆ คนจะต้องนึกถึง เชอร์ล็อก โฮมส์ นักสืบชาวบริติชผู้มีวิธีคิดที่เหนือล้ำกว่าคนในยุคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เชอร์ล็อก โฮมส์ นั้นไม่ใช่บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง หากแต่เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอลย์ นักเขียนนิยายที่มีความอัจฉริยะเช่นเดียวกับยอดนักสืบที่เขาสร้าง

อาเธอร์ อิกเนเชียส โคนัน ดอลย์ (Arthur Ignatius Conan Dolye) เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 ณ กรุงเอดินบะระ ประเทศสก็อตแลนด์ เป็นลูกคนที่สองจากทั้งหมดสิบคน อาร์เธอร์อาศัยอยู่สก็อตแลนด์ในช่วง 8 ปีแรก ภายใต้ครอบครัวคาทอลิกที่ไม่ค่อยสุขสบายเท่าไหร่นัก ก่อนภายหลังจะถูกส่งไปเรียนต่อที่คณะเยซูอิต ในเมืองแลงคาเชียร์ ประเทศอังกฤษ ด้วยความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากคุณลุงของเขา

หลังจากเรียนอยู่ 6 ปีที่แลงคาเชียร์ กับอีก 1 ปีที่คณะเยซูอิต ในประเทศออสเตรีย อาร์เธอร์ก็กลับมาสู่เอดินบะระอีกครั้ง เพื่อมาเข้าโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ พร้อมกับทำงานและศึกษาหาความรู้ในด้านอื่นๆ ไปด้วย อาจจะด้วยพลังงานที่เหลือล้นของเขา ในช่วงนี้เองจึงเป็นช่วงที่เขาเริ่มแต่งเรื่องสั้นเรื่องแรกขึ้นมา (หากไม่นับเรื่องที่เขาเขียนเล่นๆ ตอนเด็ก) คือเรื่อง The Haunted Grange of Gorestrope แต่น่าเสียดายที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้มีถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในตลอดช่วงชีวิตของเขา (ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ในปี 2000)

เรื่องสั้นเรื่องแรกของอาร์เธอร์ที่ถูกตีพิมพ์คือเรื่อง The Mystery of Sasassa Valley โดยถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Chamber’s Journal ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 20 ปี และนั่นเองทำให้อาร์เธอร์เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมานิดหน่อยในฐานะนักเขียนไร้นาม หลังจากเรียนจบแพทย์ และจบปริญญาโทในสาขาศัลยศาสตร์ได้ เขาก็เริ่มทำงานในฐานะแพทย์ฝึกหัด ก่อนตระเวนไปหลายๆ ที่ในอังกฤษเพื่อทำงานด้านการรักษา

ระหว่างที่อาร์เธอร์ทำงานเป็นแพทย์ได้เขียนเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในนิตยสารอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ได้เปิดเผยตัวตน แต่ก็ไม่ได้ถือว่างานเขียนกลายเป็นงานประจำไปแต่อย่างใด (แม้ในระหว่างเป็นแพทย์จะเขียนเรื่องสั้นไว้เยอะมากก็ตาม) จนกระทั่งอาร์เธอร์ได้ไปพบรักกับ ลุยซ่า (Louisa) น้องสาวของคนไข้คนหนึ่งที่เขารักษาอยู่ ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1885 และมีลูกด้วยกัน 2 คน และเป็นลุยซ่าที่แนะนำให้อาร์เธอร์หันมาเขียนวรรณกรรมอย่างจริงๆ จังๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อาเธอร์เริ่มเขียนหนังสือเป็นเล่มออกมา

นิยายเรื่องแรกของอาร์เธอร์ที่ได้มีการตีพิมพ์ด้วยชื่อของอาร์เธอร์ออกมาเป็นรูปเล่มก็คือเรื่อง The Study of Scarlet แรงพยาบาท ปฐมบทของซีรีส์ เชอร์ล็อก โฮมส์ ตีพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ Ward, Lock & Co. ในปี 1887 (เรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารมาก่อนที่จะมาจัดทำเป็นหนังสือ) สำหรับการเป็นนิยายเล่มแรกแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จพอสมควร ในฐานะนิยายปริศนาที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นโดดเด่นกว่านิยายเรื่องอื่นในยุคเดียวกัน หลังจากนั้นอาร์เธอร์ก็หันมาทำงานเขียนเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะออกนิยายและเรื่องสั้นมาอีกหลายชิ้น

The Sign of the Four จัตวาแห่งลักษณ์ (ชื่อแปลไทยครั้งแรก) คือซีรีส์เชอร์ล็อก โฮมส์ เล่มที่ 2 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1890 ในรอบนี้นิยายของอาร์เธอร์เริ่มขายดีมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมยิ่งกว่าในอังกฤษ จนกระทั่งในปี 1891 เขาได้หันมาเขียนเชอร์ล็อก โฮมส์ ในแบบเรื่องสั้น กลับไปเน้นในการเขียนลงนิตยสารอีกครั้ง โดยตอนแรกของเวอร์ชั่นนิตยสารก็คือ A Scandal of Bohemia ตีพิมพ์ใน The Strand Magazine

อาจเป็นเพราะด้วยจังหวะเวลาหรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม ทำให้เชอร์ล็อก โฮมส์ เวอร์ชั่นเรื่องสั้นจบในตอนที่เขียนลงในนิตยสารสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าเดิม จากความแปลกใหม่ของเนื้อหา วีธีการสืบเสาะหาความจริงของเชอร์ล็อก โฮมส์ และรายละเอียดของปริศนาที่มีความน่าสนใจ สิ่งเหล่านั้นเองที่ทำให้ซีรีส์เชอร์ล็อก โฮมส์ หลังจากที่ตีพิมพ์ไปหลายตอนก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วอังกฤษ ก่อนจะโด่งดังไปทั่วโลก

ภาพวาด เชอร์ล็อก โฮมส์
ภาพวาด “เชอร์ล็อก โฮมส์” โดย Sidney Paget จากนิตยสารสแตรนด์ ค.ศ. 1891

การที่ เชอร์ล็อก โฮมส์ กลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมที่มีผู้คนจำนวนมากเฝ้ารอคอยบนหน้านิตยสารรายเดือน ทำให้อาร์เธอร์เองก็กลายเป็นที่รู้จักไปด้วย ทั้งชีวิตของเขาหรือเรื่องสั้น นิยายเรื่องอื่นๆ ที่อาร์เธอร์เขียนล้วนเป็นที่ถูกจับตามองอยู่เสมอ ในช่วงหลังจากปี 1891 อาร์เธอร์ก็มุ่งมั่นในการสร้างผลงานของตัวเองออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งเชอร์ล็อก โฮมส์ ตอนใหม่ๆ หรือนิยายและเรื่องสั้นอื่นๆ ที่เขาเขียนควบคู่กันไป ทั้งหมดล้วนเป็นงานที่มีชื่อเสียงและยังคงสามารถหาอ่านได้อยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างช่วงเวลาขาขึ้นของอาร์เธอร์ ก็มีเรื่องราวต่างๆ ที่ส่งผลสำคัญต่อชีวิตเขาเช่นกัน ทั้งการเขียนหนังสือเกี่ยวกับสงครามของอังกฤษในแอฟริกาในปี 1900 ทำให้สังคมมองเห็นถึงความโหดร้ายของชาวอังกฤษที่ปฏิบัติต่อชนพื้นเมือง จนเขาได้มาซึ่งยศ “เซอร์” การตายของลุยซ่า ภรรยาของเขาจากอาการป่วยในปี 1906 ก่อนแต่งงานใหม่ในปี 1907 กับ Jean Elizabeth Leckie หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประณามการจู่โจมของเยอรมนีต่อเบลเยียมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในสงครามผ่านหนังสือของเขา จนสร้างผลกระทบในด้านบวกของสังคมอังกฤษที่จำเป็นต้องต่อต้านเยอรมนีขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมาก ที่มากจนกล่าวได้ว่า เรื่องราวของอาร์เธอร์มีความน่าสนใจเช่นเดียวกับเรื่องราวยอดนักสืบที่เขาได้สร้างขึ้นมาเลยทีเดียว ท้ายที่สุด หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับการเขียนและผ่านเรื่องราวอันมากมายที่เขานำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนมาอย่างยาวนาน เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ก็เสียชีวิตลงในวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 1930 จากอาการหัวใจวาย ปิดตำนานยอดนักเขียนแห่งยุควิกตอเรียนในวัย 71 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

BBC – History – Sir Arthur Conan Doyle. (2011, July 15). https://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/conan_sir_arthur_doyle.shtml

McNeill, C. (2016, January 6). Mystery solved of how Sherlock Holmes knew so much about poisonous plants. HeraldScotland. https://www.heraldscotland.com/news/14185595.mystery-solved-sherlock-holmes-knew-much-poisonous-plants/

Wilson, P. K. (2023, May 18). Arthur Conan Doyle | Biography, Books, Sherlock Holmes, Death, Fairies, & Facts. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Arthur-Conan-Doyle

Biography – The Arthur Conan Doyle Encyclopedia. (n.d.). https://www.arthur-conan-doyle.com/index.php/Biography


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566