ชีวิต “เออชีน ฟรองซัวส์ วิดอค” อดีตอาชญากรศตวรรษที่ 18 ผู้กลายเป็นนักสืบยุคแรกๆ

ภาพวาด Eugène Vidocq โดย Achille Devéria ราว 1828 ภาพจาก http://parismuseescollections.paris.fr/ (ไฟล์ public domain)

เรื่องลึกลับ คดีฆาตกรรม และนักสืบผู้เก่งกาจที่สามารถไขปริศนาเพื่อควานหาตัวฆาตกร เป็นพล็อตเรื่องคลาสสิคที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายแนวรหัสคดีมาทุกยุคทุกสมัย โดยผู้เขียนมักจะสร้างสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ตัวเอกของเรื่องต้องเค้นทุกอณูในเซลล์สมองเพื่อหาร่องรอยที่ฆาตกรทิ้งไว้ รวมถึงความเป็นไปได้ที่ใครจะเป็นฆาตกร

ไม่เพียงแต่ผู้เขียนจะต้องมีจินตนาการล้ำลึกเท่านั้น ต้องมีความสามารถในเชิงวิเคราะห์ตามหลักตรรกะ มีปฏิภาณไหวพริบ และมีความสามารถในการหลอกล่อหรือดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ นักเขียนแนวรหัสคดีจึงไม่เพียงแต่ต้องทำตัวเป็นนักสืบเท่านั้น แต่ต้องสวมบทบาทของฆาตกรในขณะเดียวกัน

Advertisement

ว่ากันว่านวนิยายแนวรหัสคดีถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 เมื่อ เอ็ดการ์ แอลแลน โป (Edgar Allan Poe) นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งนวนิยายรหัสคดี ตีพิมพ์เรื่องสั้นชื่อ “The Murders in the Rue Morgue” ในนิตยสาร Graham’s Lady’s และ Gentleman’s Magazine ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1841 (ชื่อฉบับภาษาไทยว่า ฆาตกรรมที่ถนนม็อกร์ แปลโดย กำพล นิรวรรณ) โปสร้างตัวละคร แชฟวาลีส์ เซ. ออกุสต์ ดูแป็ง ให้มีความสามารถในการค้นหาความจริงซึ่งถูกปิดบังซ่อนเร้น มีความฉลาดปราดเปรื่อง

นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มวิธีการให้คู่หูนักสืบเป็นคนดำเนินเรื่องราว กลวิธีเหล่านี้ได้กลายเป็นขนบที่นักเขียนรหัสคดีรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบอย่าง และมีการนำไปปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางของตน อาทิ เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) นักเขียนชาวสกอตแลนด์ ผู้ทำให้ชื่อของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ นักสืบคาบไป๊ป์ กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หรือ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) นักเขียนหญิงผู้มอบชีวิตให้แก่ แอลคูล ปัวโรต์ นักสืบร่างท้วม ผู้มีแววตาชาญฉลาด เป็นต้น

แม้ว่าตัวละครเอกในนวนิยายเหล่านั้นจะเก่งกล้าสามารถ แต่ แอลคูล ปัวโรต์ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ หรือแม้แต่ ออกุสต์ ดูแปงต์ ก็เป็นเพียงจินตนาการจากปลายปากกาของนักเขียน ทว่าเมื่อกลางศตวรรษที่ 18 ในยุคก่อนหน้าที่ตัวละครเหล่านี้จะออกมาโลดแล่นอยู่บนหน้ากระดาษ ในยุโรปได้มีการเล่าขานถึงเรื่องราวของ เออชีน ฟรองซัวส์ วิดอค (Eugene Francois Vidocq) ผู้ได้รับการขนานนามจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักสืบคนแรกของโลกและเป็นผู้ริเริ่มกลวิธีการสืบสวนอาชญากรรมแบบสมัยใหม่

เออชีน ฟรองซัวส์ วิดอค (Eugene Francois Vidocq) มีชีวิตอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18-19 เรื่องราวและบุคลิกของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายของนักเขียนชื่อดังหลายคน อาทิ วิคเตอร์ อูโก (Victor Hugo) ผู้เขียนคนค่อมแห่งนอเตรอะดาม (The Hunchback of Notredame) ออนเนอเร่ เดอ บัลซัค (Honore de Balzac) “บิดาแห่งนวนิยายสัจนิยมยุโรป” และ “นโปเลียนแห่งอาณาจักรวรรณกรรม”

หรือแม้แต่กลวิธีในการไขคดีและพฤติการณ์อันกล้าหาญของวิดอคก็กลายเป็นพล็อตเรื่องในนวนิยายมากมาย อาทิ The Murders in the Rue Morgue (ฆาตกรรมที่ถนนม็อกร์) ของ เอ็ดการ์ แอลแลน โป Moby Dick (โมบี้ ดิ๊ค) ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) หรือแม้แต่ Great Expectations (ความหวัง) ของ ชาร์ลส์ ดิคเกนส์ (Charles Dickens)

วีรกรรมของวิดอคในช่วงที่ทำหน้าที่สายลับเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวฝรั่งเศส ทว่าข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตช่วงแรกๆ ของเขาส่วนใหญ่แล้วได้มาจากหนังสืออัตชีวประวัติซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1828 วิดอคบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาตั้งแต่เยาว์วัย เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1775 เป็นบุตรชายของคนทำขนมปังในเมืองอาร์ราส ประเทศฝรั่งเศส ในตอนที่อายุได้ 14 ปี วิดอคขโมยเงินของบิดามารดาจากร้านขายเบเกอรี่และหนีเข้าเมือง โดยวางแผนไว้ว่าจะล่องเรือไปทวีปอเมริกา แต่แผนการที่วางไว้ก็เป็นอันล้มเหลวเนื่องจากเขาถูกนักแสดงละครสาวในเมืองหลอกเอาเงินที่มีอยู่ไปจนหมดสิ้น ในที่สุดฝันอันสวยงามของวิดอคก็ลงท้ายด้วยการเข้าร่วมกับกองทหารเบอร์เบิน (Bourbon Regiment) ในปีต่อมา

วิดอคไม่ใช่นายทหารตามขนบ ที่ยึดถือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เขาเป็นนักดาบฝีมือดีคนหนึ่ง จึงมักท้าดวลกับนายทหารคนอื่นๆ อยู่เสมอ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นที่โปรดปรานในกองทัพนัก ทว่าวิดอคก็ไม่เคยแยแส ในช่วงสงครามระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย วิดอคท้าดวลกับนายทหาร 15 คน และสามารถเอาชนะได้

กระทั่งมาถึงนายทหารยศสิบเอกคนหนึ่งซึ่งไม่ยอมดวลกับเขา ทำให้วิดอคไม่พอใจจึงทำร้ายนายทหารคนนั้น ซึ่งการลบหลู่นายทหารระดับสูงกว่ามีโทษถึงชีวิต ดังนั้นวิดอคจึงต้องหนีทหารหลับไปยังบ้านเกิด ในช่วงที่กำลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ปี ค.ศ. 1789 วิดอคได้ช่วยชีวิตสตรีชั้นสูงชาวเมืองอาร์ราส 2 คน จากการถูกประหารด้วยกิโยติน แต่แล้วเขาก็ถูกทางการจับได้และถูกบังคับให้สังหารตัวเอง บิดาของวิดอคได้ขอร้องขุนนางตระกูลเชอวาลิเย่ร์ (Chevalier) ให้ช่วยเหลือบุตรชาย ภายหลังวิดอคก็กลายเป็นคนรักของ หลุยส์ เชอวาลิเยร์ (Louise Chevalier) บุตรีขุนนาง และแต่งงานกันหลังจากที่เธออ้างว่าตั้งครรภ์

ทว่าชีวิตของเขาก็สงบสุขอยู่ได้ไม่นานเมื่อพบว่าภรรยาเป็นชู้รักกับข้าราชการคนหนึ่ง วิดอคจึงออกเดินทางไปยังเมืองบรัสเซลส์ด้วยความชอกช้ำใจ โดยใช้ชื่อรอสโซเพื่อทำหนังสือผ่านทางปลอม วิดอคใช้ชีวิตราวกับคาสโนว่า เขาเกี้ยวพาราสีบารอนเนสสูงอายุคนหนึ่งเพื่อเหตุผลทางการเงินและเข้าร่วมกับกองโจร เพียงไม่นานวิดอคก็แยกตัวออกมาพร้อมกับหอบส่วนแบ่งเหรียญทอง 15,000 ฟรังก์ ไปด้วย

วิดอคย้ายไปปารีสหลังจากที่ละลายเงินที่ได้มาทั้งหมดไปกับผู้หญิง ขณะอยู่ที่เมืองลีล เขาตกหลุมรักสตรีนางหนึ่ง ซึ่งเขาเจอหล่อนอยู่กับชายที่ถูกเขาทำร้ายบาดเจ็บ ท้ายที่สุดเขาก็โดนผู้หญิงตลบหลังอีกเช่นเคยและถูกคุมขังเป็นเวลา 3 เดือน จากข้อหาทำร้ายร่างกาย แต่คนอย่างวิดอคไม่ยอมจนมุมง่ายๆ เขาหลบหนีอีกครั้งด้วยการปลอมตัวและหลบหนีไปยังเนเธอร์แลนด์

เขารับจ้างทำงานให้กับเรือสินค้าของอังกฤษ ทว่าชีวิตของวิดอคกลับไม่เคยหนีพ้นคุกตะรางเลย เนื่องจากถูกจับอีกครั้งในข้อหาที่ไม่ปรากฏแน่ชัด จากนั้นก็ถูกส่งไปยังเรือนจำในเมืองตูลองซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ทว่าเทพแห่งความโชคดีไม่เคยละทิ้งวิดอค เขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนนักโทษให้หลบหนีออกไปได้และตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดในปี ค.ศ. 1800

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเข้าคุกเข้าตะราง แต่วิดอคก็ไม่เคยทิ้งความเจ้าชู้ ในปี ค.ศ. 1801 วิดอคเกี้ยวพาบุตรีของผู้ดูแลเมืองในขณะที่ปลอมตัวเป็นชาวออสเตรีย เมื่อตำรวจเริ่มระแคะระคาย วิดอคจึงพาคนรักย้ายไปยังเมืองรูอาน

ทั้งคู่อยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี กระทั่งตำรวจตามพวกเขาเจออีกครั้ง วิดอคหลบหนีไปที่เมืองบูโลน แต่ก็จบลงด้วยการถูกจับเนื่องจากเขาก่อเหตุวิวาทกับลูกเรือสินค้าอังกฤษ ซึ่งหนึ่งในนั้นจำได้ว่าเขาคือคนที่ถูกทางการตามตัวอยู่ คราวนี้วิดอคถูกส่งไปเข้าคุกที่เมืองดูเอ

อัยการได้โน้มน้าวให้เขายื่นอุทธรณ์เพื่อตัดสินคดีใหม่ วิดอคต้องรอกระบวนการนี้อยู่ถึง 5 เดือน ในที่สุดเขาก็หลบหนีอีกครั้ง ครานี้วิดอคพยายามใช้ชีวิตบนเส้นทางสายสุจริตชนด้วยการเป็นพ่อค้าที่เมืองซานเตอนีส์ แต่ก็ยังวนเวียนอยู่กับห้องขังเป็นบางครั้งคราว ไม่เพียงเท่านั้นวิดอคพยายามที่จะเป็นครูสอนหนังสือ แต่ก็ไม่ประสบผลเนื่องจากเขาพลาดไปมีความสัมพันธ์อันไม่เหมาะสมกับลูกศิษย์สาวเสียก่อน

แม้จะพยายามกลับเนื้อกลับตัวและยังทำอาชีพค้าขายต่อไป แต่ชีวิตของวิดอคยังคงวนเวียนอยู่กับผู้หญิง การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม คุก-ตะราง การจะเป็นคนดีหลังจากที่ทำเรื่องผิดพลาดมาทั้งชีวิตนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อดีตภรรยาของวิดอคตามตัวเขาจนเจอที่ปารีสในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1809 และแบล๊คเมล์เขาด้วยการเรียกร้องค่าปิดปากหากไม่ต้องการให้เธอประจานว่าเขาคือใคร

ส่วนเพื่อนนักโทษก็ตามมาทวงหนี้บุญคุณด้วยการขู่บังคับให้เขาช่วยเหลือพวกมันต่างๆ นานา ในที่สุดวิดอคก็ถูกจับอีกครั้ง เขาตัดสินใจลบล้างประวัติอาชญากรของตัวเองด้วยการยื่นข้อเสนอทำงานสายลับให้กับกรมตำรวจในปารีสแลกกับการนิรโทษกรรม

ในตอนแรกสารวัตรเฮนรี่ปฏิเสธ แต่แล้ววิดอคก็พยายามขอร้องอีกครั้งโดยลดข้อเสนอเหลือเพียงให้เขาติดคุก โดยไม่ต้องไปทำงานบนเรือ เนื่องจากเขากลัวว่าจะถูกคู่อริเก่าแก้แค้น ในที่สุดสารวัตรผู้นั้นก็ใจอ่อน เขาตัดสินใจปล่อยวิดอคเพื่อให้พิสูจน์ว่าจะสามารถทำงานสายลับดังที่เคยลั่นวาจาไว้ได้หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานนักสืบคนแรกของโลกผู้รู้จักพฤติการณ์ของอาชญากรพอๆ กับพฤติการณ์ของตัวเขาเอง

วิดอคใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาประยุกต์เข้ากับการทำงาน เขาเชี่ยวชาญในการปลอมตัว และเมื่อเหล่าอาชญากรเริ่มสงสัยในตัวเขา วิดอคก็สามารถทำลายหลักฐานที่เกี่ยวโยงกับทางราชการได้อย่างแนบเนียน หลังจากเป็นสายลับไม่นาน วิดอคก็เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจลับนอกเครื่องแบบชื่อ บริกาด เดอ ซูแรตเต (Brigade de Surete) ในปี ค.ศ. 1812 (ในภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ซูแรตเต นาซิองนาล (Surete Nationale)) เพื่อง่ายต่อการสืบสวนสอบสวนด้วยวิธีที่ตำรวจไม่กล้าใช้

วิดอคได้รับมอบหมายให้บัญชาการตำรวจลับที่ขึ้นตรงต่อเขาราว 20 คน ซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นอดีตอาชญากรทั้งสิ้น ระหว่างปี ค.ศ. 1814 ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นฟูฝรั่งเศส (French Restoration) หน่วยตำรวจลับนอกเครื่องแบบต้องทำหน้าที่ควบคุมสถาการณ์วุ่นวายในกรุงปารีส ช่วงทศวรรษ 1820 ภารกิจของวิดอคทำให้เหตุอาชญากรรมในกรุงปารีสลดลงไปมาก เขาได้รับค่าตอบแทนจากตำแหน่งนี้เป็นเงิน 5,000 ฟรังก์ต่อปี แต่วิดอคก็หารายได้เล็กน้อยๆ ด้วยการเป็นนักสืบเอกชนด้วย

ในปี ค.ศ. 1818 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 จึงพระราชทานอภัยโทษให้วิดอค ทำให้เขาพ้นมลทินจากคดีต่างๆ ที่เคยก่อขึ้น วิดอคได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ในฐานะบิดาแห่งการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมสมัยใหม่ จากคุณูปการมากมายที่เขาเคยทำไว้ อาทิ ริเริ่มการจัดเก็บฐานข้อมูล (card-index – ระบบการจัดเก็บบัตรข้อมูลในกล่องที่เรียงลำดับตามตัวอักษร) ก่อตั้งระบบอาชญาวิทยา นำศาสตร์เกี่ยวกับขีปนาวุธเข้ามาใช้ในการทำงานของตำรวจ เป็นคนแรกที่ทำปูนขาวสำหรับเทหล่อลงบนรอยเท้าเพื่อแกะรอย เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปลอมตัวและมีปฏิภาณไหวพริบยอดเยี่ยม เป็นผู้ถือสิทธิบัตรหมึกที่ลบไม่ออกและก่อตั้งสำนักงานนักสืบเอกชน (Le Bureau des Renseignements) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1833

ภายหลังเมื่อวิดอคลาออกจากหน่วยซูแรตเต นาซิองนาล เขาได้ก่อตั้งโรงงานผลิตกระดาษและโรงพิมพ์ในเมืองแซงต์ มองเดส์ โดยได้จ้างอดีตอาชญากรกลับใจมาทำงานในโรงงานเช่นเดียวกับที่เขาเคยทำเมื่อครั้งก่อตั้งหน่วยตำรวจลับ

จากนั้นในปี ค.ศ. 1828 วิดอคได้ตีพิมพ์อัตชีวประวัติ (ว่ากันว่าวิดอคไม่ได้เขียนเอง) ออกมา 4 เล่ม ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีทั่วยุโรปและทำให้คนรู้จักชื่อของ เออชีน ฟรองซัวส์ วิดอค ในฐานะนักสืบผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

ช่วงบั้นปลายชีวิตในปี ค.ศ. 1847 วิดอคเกษียณตัวเองจากกิจการต่างๆ และปิดสำนักงานนักสืบหลังจากภรรยาคนสุดท้ายเสียชีวิต แต่ยังคงทำงานสืบสวนสอบสวนให้กับสำนักพระราชวังของพระเจ้าหลุยส์ นโปเลียน (Louis-Napoleon of France) แห่งฝรั่งเศสเป็นบางโอกาส

ทว่าต่อมาวิดอคกลับกลายเป็นอัมพาต เขาเสียชีวิตบนเตียงในบ้านที่ปารีส ปิดฉากตำนานชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของนักดาบผู้เก่งกาจ นักรักผู้มีชั้นเชิง นักจารกรรมชั้นยอด นักต้มตุ้นชั้นเซียน สายลับ และนักสืบผู้ทิ้งภูมิปัญญาไว้ให้คนรุ่นหลังมากมาย เรื่องราวของวิดอค เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า ทุกคนสามารถกลับเนื้อกลับตัวและเริ่มต้นใหม่ได้ หากมีจิตสำนึก ได้รับโอกาส และต้องการใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองอย่างแท้จริง

 


บรรณานุกรม :

Hodgetts, Edward. Vidocq : A Master of Crime. London : Selwyn & Blount, 1928.

Morton, James. The First Detective : The Life and Revolutionary Times of Vidocq. Cambridge : Ebury Press. 2004.

http://www.answers.com

http://www.gallica.bnf.fr/ark:/

http://www.nndb.com

http://www.tpa.or.th/blogbox/entry.php?w=krujeab&e_id=22

http://www.vidocq.org

http://www.wikipedia.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2564