ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ความเหลื่อมล้ำระหว่าง “นักเรียนนายร้อย” ที่เป็น “เจ้านาย” กับนักเรียนนายร้อยที่เป็น “สามัญชน” ได้สร้างความไม่พึงพอใจให้กับนักเรียนนายร้อยสามัญชนมาก เพราะเกิดความไม่เท่าเทียม และเลือกปฏิบัติขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม เป็นชนวนเหตุที่ทำให้นักเรียนนายร้อยสามัญชนหลายคนหันหลังให้กับ “ระบอบเก่า” และหันมาเข้าร่วมการปฏิวัติ 2475 เพื่อเปลี่ยนสยามสู่ “ระบอบใหม่”
เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนนายร้อยนี้ จอมพล ประภาส จารุเสถียร เมื่อครั้งเป็น นักเรียนายร้อย “ตุ๊ จารุเสถียร” บันทึกเล่าไว้ดังนี้
“…เจ้านายชั้นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ได้นั่งโต๊ะอาหารโต๊ะหนึ่งต่างหากออกไป เขาเรียกว่า ‘โต๊ะเจ้า’ ที่โต๊ะเจ้าปูด้วยผ้าขาว ขณะที่นักเรียนนายร้อยทั่วไปใช้ผ้าน้ำมันสีดำปู เนื่องจากเป็นผ้าที่เช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย ใช้น้ำล้างโดยไม่ต้องซักแล้วเอาผึ่งแดด มีแต่โต๊ะเจ้าโต๊ะเดียวเท่านั้นที่ปูด้วยผ้าขาวสะอาด ส่วนจานชามต่าง ๆ ของนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบทั่วไปใช้จานชามอลูมิเนียม เพราะว่าถ้าใช้จานชามกระเบื้องจะแตกหักง่ายในเวลาล้างหรือยกทำความสะอาดหรือเวลานักเรียนนายร้อยใช้ช้อนเคาะจานเคาะชามนั้น แตกต่างไปจากโต๊ะเจ้าที่ใช้จานและชามกระเบื้องอย่างดีสั่งมาจากห้างฝรั่งมีลวดลายสวยงาม
บ๋อยที่เสิร์ฟตามโต๊ะก็มีการแบ่งแยกเช่นกัน โต๊ะเจ้าใช้บ๋อยสองคน แต่ของนักเรียนนายร้อยทั่ว ๆ ไปใช้บ๋อยคนเดียวต่อสองโต๊ะ อันเท่ากับแสดงให้เห็นว่ามีสิทธิแตกต่างกันในเวลากินอาหาร แล้วอาหารก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือของเจ้ามีสำรับพิเศษส่งมาจากในวัง ห่อผ้าขาวโดยมหาดเล็กนุ่งผ้าม่วงมาส่งที่โต๊ะ แก้ผ้าขาวออกเชิญสำรับมาวางที่โต๊ะ พวกเจ้านายก็เสวยกันที่โต๊ะ ของอย่างที่นักเรียนนายร้อยกิน ท่านไม่เสวย ทำให้พวกเรามีความรู้สึกว่า พวกเจ้าทำอะไรและมีอะไรผิดแผกแตกต่างไปจากพวกนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบธรรมดา…”
“…แม้แต่สิทธิในการอยู่โรง การหลับนอนก็เหมือนกัน พวกเจ้ามีสิทธิ์ที่จะออกไปนอกโรงเรียนได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องลา เพียงแต่เซ็นชื่อไว้ที่สมุดเวรเท่านั้นว่าจะไปไหนและกลับเมื่อใดแล้วก็ไปได้ ส่วนนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบทั่วไปทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอันขาด แม้จะไปลาก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นเหลือเกินที่จะได้รับอนุญาตให้ออกนอกโรงเรียน
แต่ว่าสำหรับนักเรียนนายร้อยที่เป็นเจ้านั้น สามารถไปได้ทุกเวลา บางคนทุกวันไม่เคยนอนโรงเลยกลับไปนอนบ้าน เช้ามืดนั่งรถยนต์มาฝึก เวลาฝึกก็ไม่ทำการฝึก เพียงแต่มายืน ๆ เกร่ดูเท่านั้น เพียงแต่มาแจ้งว่าไม่สบายก็ไม่ต้องฝึก ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับกองร้อยก็ไม่ได้ว่าอะไร เวลาออกไปฝึกภาคสนามมันเป็นเวลาที่ทุกข์ยากลำบากมาก ต้องกรำแดดตั้งแต่เช้าจนค่ำต้องขุดดิน ฝังดิน ต้องเดิน ต้องวิ่งตลอดเวลา แต่พวกเจ้าไม่ต้องทำเพียงแต่ไปดูเท่านั้น มีรถยนต์ไปส่งถึงที่ทำการฝึก ขณะที่นักเรียนนายร้อยหรือนักเรียนนายดาบทั่ว ๆ ไปต้องเดินหรือวิ่งไปเป็นระยะทาง 5 ถึง 6 กิโลเมตร คิดดูก็แล้วกันจากโรงทหารที่ราชบุรีวิ่งข้ามแม่น้ำไปจนถึงเข้าวังระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร วิ่งอยู่อย่างนี้ตากแดดอยู่อย่างนั้นวันยังค่ำทุกวัน
ยิ่งไปกว่านั้นพอสิ้นปี บรรดาพวกเจ้าทั้งหลายยังได้รับพระราชทานยศก่อนและออกเป็นนายทหารก่อนนักเรียนนายร้อยสามัญชน ขณะที่นักเรียนนายร้อยคนอื่น ๆ ต้องฝึกต่อไป 3 เดือนก็มี 6 เดือนก็มีจึงจะได้ออกเป็นนายทหาร อย่างนี้เป็นต้น จึงทำให้นักเรียนนายร้อยทั้งหลายเห็นถึงความแตกต่างและความไม่เสมอภาคกันในสิทธิ
สภาพความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและความเอาเปรียบของพวกเจ้านายต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาทำให้เกิดความชิงชังขึ้นระหว่างพวกนักเรียนนายร้อยธรรมดาสามัญกับนักเรียนนายร้อยที่เป็นเจ้าทั้งหลาย อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนนายร้อยเอาใจออกห่างจากพวกเจ้า…”
นอกจากนี้ บันทึกของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ข้างต้นแล้ว พลเอก ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยทหารบก ก็เคยประสบกับเหตุการณ์ความเหลื่อมล้ำคล้าย ๆ กัน โดยครั้งหนึ่ง เสนาธิการทหารบก สั่งกักบริเวณนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบซึ่งร้องเพลงสดุดีไม่เหมือนทหารอื่น ๆ เป็นเวลา 1 วัน
เมื่อถึงตอนเย็นของวันกักบริเวณ ขณะที่นักเรียนทั้ง 300 คนนั่งกันอยู่ที่สนามหญ้าตึกบัญชาการโรงเรียน ปรากฏมีนักเรียนนายดาบกลุ่มหนึ่งแต่งเครื่องแบบเดินผ่านไปยังประตูใหญ่หน้าโรงเรียน นักเรียนนายร้อย และนักเรียนนายดาบก็ถามกันว่า ในเมื่อมีคำสั่งให้กักบริเวณ ทำไมนักเรียนกลุ่มนั้นจึงขัดคำสั่งเสนาธิการทหารบกได้ จนกระทั่งมาทราบว่านักเรียนนายดาบซึ่งเป็นเจ้านายชั้น “พระองค์เจ้า” องค์หนึ่งได้ไปขออนุญาตจากเสนาธิการทหารบกพาเพื่อนร่วมห้องเรียนไปรับประทานอาหารข้างนอกโรงเรียน เสนาธิการทหารบกก็อนุญาตให้พระองค์เจ้าองค์นั้นพาเพื่อน ๆ ออกนอกบริเวณโรงเรียนได้
เหตุการณ์นี้ได้สร้างความเจ็บช้ำแก่ นักเรียนนายร้อย และนักเรียนนายดาบมาก ดังที่ พลเอก ประมาณ อดิเรกสาร บันทึกไว้ว่า “…ตั้งแต่วันถูกกักบริเวณเป็นต้นมา นักเรียนนายร้อยเป็นส่วนใหญ่ก็มีจิตใจออกห่างจากราชวงศ์และเริ่มมีการซุบซิบประณามพวกเจ้ากันมากขึ้นทุกทีซึ่งพวกครูบาอาจารย์แสดงความเห็นอกเห็นใจ เรื่องก็ยิ่งไปกันใหญ่”
“ฉะนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน นักเรียนนายร้อย2475 นักเรียนนายร้อยจึงเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นสำเร็จง่ายยิ่งขึ้น เพราะการไปจับกุมเจ้านายเชื้อพระวงศ์และเจ้าและนายทหารชั้นสูงรวมทั้งเสนาธิการทหารบกผู้นั้นด้วย นักเรียนนายร้อยเป็นผู้ออกหน้าไปจับกุมทั้งสิ้น…”
อ่านเพิ่มเติม :
- ย้อนดูชีวิต “นายร้อยหยิง” ปี 2486 นายร้อยหญิงรุ่นแรก เรียนและฝึกอะไรกัน?
- โรงเรียนทหารบกโอกาสของ “สามัญชน” และสถานที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บัญชร ชวาลศิลป์, พลเอก. (มิถุนายน, 2565). นักเรียนนายร้อยรุ่น 2474 กำลังสำคัญเปลี่ยนแปลงการปกครอง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 8.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2565