โรงเรียนทหารบกโอกาสของ “สามัญชน” และสถานที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

"โรงเรียนทหารสราญรมย์" ที่ภายหลังเปลี่ยนเป็น "โรงเรียนทหารบก" (ภาพจากหนังสือ 2475:เส้นทางคนแพ้)

แม้จะมีการวางรากฐานให้กับการผลิตนายทหารตามหลักสูตรสมัยใหม่ด้วยการจัดตั้ง “โรงเรียนทหารสราญรมย์” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2430 แต่การรับเข้าเป็น “คะเด็ด” ก็จำกัดเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรนายทหารชั้นสัญญาบัตรเท่านั้น

แต่เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องขยายกิจการทหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ “ร.ศ.112” ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2437 ที่เป็นการคุกคามจากฝรั่งเศส และลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก ทางราชการจึงต้องการนายทหารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากให้ได้ส่วนสัมพันธ์กับขนาดของกองทัพที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

พ.ศ. 2440 จึงมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “โรงเรียนทหารสราญรมย์” โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสอนวิชาทหารบก” และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “โรงเรียนทหารบก” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้บุคคลสามัญเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้

หลักสูตรการศึกษามีระยะเวลา 4 ปี วิชาที่เรียนมีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พิชัยสงครามยุทธการและยุทธศึกษา วิชาฝึกทหารปืนราบใหญ่ และธงสัญญาณร่วม ตำราอาวุธดินปืน ตำราป้อมค่าย แผนที่ การฝึกบังคับแถวในสนาม กายกรรม และศาสตรกรรม เป็นต้น มีการสอบกลางปีและสอบเลื่อนชั้นปลายปี

จากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้มีนักเรียนนายร้อยรุ่นแรก พ.ศ. 2411 มีถึง 122 คน จากนั้นเปิดการศึกษาและผลิตนายทหารออกประจำการมาตามลำดับ พ.ศ. 2442 ผลิตนายทหารออกรับราชการ 105 นาย, พ.ศ. 2443 73 นาย, พ.ศ. 2444 65 นาย, พ.ศ. 2445 115 นาย, พ.ศ. 2446 267 นาย ฯลฯ

เปรียบเทียบกับการผลิตนักเรียนนายร้อย จปร.ปัจจุบันปีละประมาณ 200 นาย

พ.ศ. 2442  ผู้บังคับการโรงเรียนทหารบก นายร้อยเอก หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์ ได้รายงานเสนอความเห็นให้ส่งนักเรียนนายร้อยไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วย จึงมีการออกระเบียบการส่งนักเรียนนายร้อยไปศึกษาวิชาทหาร ณ ต่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นักเรียนนายร้อยชุดแรกที่ออกไปศึกษาวิชาทหารซึ่งเลือกส่งไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมนีคือ นักเรียนนายร้อย หม่อมเจ้ามงคลประวัติ สวัสดิกุล และนักเรียนนายร้อยเพ็ชร์ (บุณยรัตพันธุ์) ทั้งสองท่านเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นแรก พ.ศ. 2441

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี คือ พ.ศ. 2439 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งมิได้ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้เสด็จเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมนีเป็นพระองค์แรก

จากนั้นก็มีการคัดเลือกนักเรียนนายร้อยไปศึกษาต่อประเทศเยอรมนีซึ่งกำลังผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกภายใต้การนำของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 อย่างต่อเนื่อง

10 ปีแรกของโรงเรียนทหารบก ระหว่าง พ.ศ. 2441- 2450 ได้ผลิตนายทหารสัญญาบัตรออกมารับใช้ชาติรวมทั้งสิ้น 1,790 นาย เกือบทั้งหมดล้วนเป็นรูปสามัญชน

โรงเรียนทหารบกจึงเป็นโอกาสของ “สามัญชน” ที่จะได้เข้าใกล้ “ศูนย์กลางอำนาจ” ในยุคนั้น แล้วร่วมมือกับ “สามัญชนพลเรือน” กลายเป็น “ผู้ถืออำนาจ” ในเวลาต่อมา ตัวอย่างเช่น แกนนำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนทหารบกเรียงตามปีเกิด (พ.ร.บ.นามสกุลมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2456) ได้แก่

นักเรียนนายร้อย พจน์ (พหลโยธิน) บุตรนายพันเอก พระยาพหล(กิ่ม) ซึ่งเป็นตระกูลทหารโดยแท้ เกิด 29 มีนาคม พ.ศ. 2430

นักเรียนนายร้อย สละ (เอมะศิริ) บุตรพระยามนูศาสตรบัญชา (ศิริ) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เกิด พ.ศ. 2432

นักเรียนนายร้อย ดิ่น (ท่าราบ) บุตรนายดิษฐ์คหบดีชาวเพชรบุรี เกิด 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2434

นักเรียนนายร้อย เทพ (พันธุมเสน) บุตรนายร้อยโท ไท้ นายทหารชั้นผู้น้อย เกิด 12 สิงหาคม พ.ศ. 2435

นักเรียนนายร้อย วัน (ชูถิ่น) บุตรขุนสุภาไชย ข้าราชการชั้นผู้น้อย เกิด พ.ศ. 2437

บุตรสามัญชนทั้ง 5 คน ได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนทหารบกปรากฏนามในทำเนียบนักเรียนนายร้อยเริ่มจากรุ่นที่ 4 พ.ศ. 2444 นักเรียนนายร้อย พจน์ (พหลโยธิน) หมายเลข 342

ถัดมาอีก 2 ปีทำเนียบนักเรียนนายร้อยรุ่น พ.ศ. 2446 นักเรียนนายร้อย เทพ (พันธุมเสน) หมายเลข 541, นักเรียนนายร้อยดิ่น (ท่าราบ) หมายเลข 632, นักเรียนนายร้อย สละ (เอมะศิริ) หมายเลข 746

ถัดมาอีก 5 ปี ทำเนียบนักเรียนนายร้อยรุ่น พ.ศ. 2451 นักเรียนนายร้อย วัน (ชูถิ่น) หมายเลข 1989

นักเรียนนายร้อย พจน์, นักเรียนนายร้อย เทพ, นักเรียนนายร้อย ดิ่น รวมทั้งนักเรียนนายร้อย วัน จบการศึกษาจากโรงเรียนทหารบกด้วยผลการศึกษายอดเยี่ยมทั้ง 4 ท่าน จึงได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยเริ่มจาก พ.ศ. 2447 นักเรียนนายร้อย พจน์, พ.ศ. 2450 นักเรียนนายร้อย ดิ่น และนักเรียนนายร้อย เทพ, พ.ศ. 2454 นักเรียนนายร้อยวัน

โอกาสของสามัญชนที่เลือกเส้นทางทหารอาชีพจึงเปิดกว้างมากขึ้นไปอีก สอดคล้องกับการเปิดเส้นทางอาชีพสำหรับบุคคลพลเรือน ได้แก่ โรงเรียนกฎหมายใน พ.ศ. 2440  อันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนใน พ.ศ. 2442 อันเป็นรากฐานของจุฬาฯ ในเวลาต่อมา

จึงนับเป็นการเปิดประตูการศึกษาเพื่อเข้าสู่ระบบราชการให้กับสามัญชนทางอาชีพทหารและพลเรือนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม


ที่มา : บัญชร ชวาลศิลป์, 2475: เส้นทางคนแพ้, สำนักพิมพ์แสงดาว 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2562