รับสั่งรัชกาลที่ 7 เรื่องการวางผังเมือง “ดูเหมือนเราต้องเลิกคิด”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการวาง ผังเมือง กรุงเทพฯ ส่งรายงานถวายเมื่อ พ.ศ. 2471 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อไรควรจะเล็งถึงเหตุการณ์ในอนาคตนั้นได้ ดูเหมือนเราต้องเลิกคิดเรื่องการ ‘วางผังเมือง’ เพราะเรามองไม่เห็น ‘การพัฒนาทางการเมือง’ ที่แน่นอน ในเมื่อประเทศเราขาด ‘ความมั่นคงทางสังคม’ หรือ ‘สถาบันการเมืองที่มั่นคง’ สิ่งต่างๆ จึงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเสมอ ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ภายหน้าไม่ได้ แม้จะคาดการณ์สัก 10 ปีก็ยังไม่ได้เลย” (กจช. ร.7 ย.1/22)

Advertisement

สำหรับเรื่องการวางผังเมืองในไทยนั้น พ.ศ. 2471 กระทรวงยุติธรรมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากรัชกาลที่ 7 ก่อสร้างโรงเรียนสอนกฎหมายบริเวณศาลหลักเมือง ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียนนั้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อพระนครในภาพรวม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการ และจัดทำโครงการแผนผังพระนคร พ.ศ. 2471 เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว

นับถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองแบบสากลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย 1. พระยาสุรินทราชา อธิบดีกรมนคราทร (เป็นประธาน) 2. หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานราชบัณฑิตสภา 3. พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง 4. นายแพทย์ เย.อาร์. เรดฟิลด์ จเรสาธารณสุข กรมสาธารณสุข 5. นาย วี.โบนา ผู้แทนนายช่างนคราทร กรมนคราทร 6. นายชาลส์ เบเกแลง นายช่างสถาปนิก กรมสาธารณสุข 7. หลวงสาโรจน์รัตนนิมมานก์ นายช่างสถาปนิก กระทรวงธรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็น “คณะกรรมการผังเมืองชุดแรกของสยาม”

คณะกรรมการมีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2471 หลังการประชุมครั้งที่ 3 พระยาสุรินทราชา ประธานกรรมการ ยับยั้งการประชุมเพื่อจัดทำแผนผังพระนคร เพราะประสบปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น ขาดแคลนข้อมูลจำเป็นในการวางผังเมือง, ขาดแคลนเทคนิคในการคาดการณ์ทางด้านต่างๆ ในอนาคต, ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในการวางผังเมือง

จึงได้ทำหนังสือระบุถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเรื่องการก่อสร้างโรงเรียนกฎหมายกราบทูลขอพระราชพระราชวินิจฉัยว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้สร้างโรงเรียนกฎหมายไปก่อน แต่สามารถรื้อถอนได้หากในอนาคตกีดขวางต่อการวางผังเมือง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การผังเมืองมีการขยายไปในส่วนภูมิภาค เช่น การพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทางหารทหาร, การวางผังเมืองในระดับเทศบาลที่ยะลา โดยการดำเนินการผังเมืองในยุคนี้มีอาศัยการตรากฎหมายเฉพาะกรณี เช่น พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างอาคารดำเนินการตามแผนผังเมือง ณ บริเวณถนนราชดำเนินจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2482, พระราชกำหนดจัดสร้างนครหลวง พ.ศ. 2485

พ.ศ. 2495 จึงมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495” ที่ถือเป็น “กฎหมายผังเมืองฉบับแรกของไทย” จัดทำขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจาก Town and Country Act ของประเทศอังกฤษ

ทว่ากฎหมายผังเมืองฉบับแรกของประเทศนี้ ในทางปฏิบัติมีการใช้งานจริงเพียงครั้งเดียว คือเมื่อเกิดเพลิงไหม้ จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2497 เวลาต่อมาก็เกิด “พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518”

 

หมายเหตุ : เนื้อหานี้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากบทความ แรกมี “การวางผังเมือง” แบบสากลเกิดขึ้นในประเทศไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์ของนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564


ข้อมูลจาก

เบจามิน เอง บัทสัน. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, มิถุนายน 2524


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2564