สัมภาษณ์ ​ดร.ป๋วย เมื่อปี 2517 ระบุ “พลเรือน 2 พวกมักจะตีกัน จนทหารชนะ”

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภาพจากหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติรายวัน" ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2517

สัมภาษณ์ ​ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี 2517 ระบุ “พลเรือน 2 พวกมักจะตีกัน จนทหารชนะ”

เมื่อประชาชนมีชัยชนะในการโค่นล้มระบอบเผด็จการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังเหตุการณ์นั้น ประชาธิปไตยเบ่งบาน, มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, เกิดพลังของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ฯลฯ

หลัง “14 ตุลาฯ” (ก่อนจะถึง “6 ตุลาฯ”) ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ”) ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติรายวัน” เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2517 (หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2517) ในประเด็นเกี่ยวกับการเมืองสามเส้า รัฐธรรมนูญ และขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา บางส่วนดังนี้

ถาม : เท่าที่อาจารย์มองการเมือง คิดว่ามันจะออกไปในรูปไหน

ตอบ : …เราก็ควรต้องสู้ต่อไป รัฐธรรมนูญก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ผมอาจจะคาดหวังอะไรมากเกินไป จึงผิดหวังมากกว่าคนอื่น แต่ต้องคอยดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ยังดีกว่าก่อน 14 ตุลาฯ เอาละ ได้แค่นี้ก็เอา เราสู้กันต่อไป

เมื่อพิจารณาการเมืองของไทยเห็นมันเป็นสามเส้า คือ ทหาร แล้วก็พลเรือนที่ไม่ยอมจะเปลี่ยนแปลง กับพลเรือนที่อยากจะเปลี่ยนแปลง ส่วนมากพลเรือน 2 พวกมักจะตีกัน จนทหารชนะ พอเป็นดังนี้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

การสู้กันระหว่างพลเรือนด้วยกัน ยังมีหวังว่าจะเล่นกันตามกติกายังมีคนชนะอยู่ฝ่ายหนึ่ง เป็นการต่อสู้ตามกติกาประชาธิปไตย ในความหมายอย่างกว้างก็นี่มันก็ยังดีกว่าก่อน 14 ตุลาฯ เราก็ยังได้เล่นเกมส์กัน และมีความหวังขึ้นมาบ้าง พูดกันง่าย ๆ อย่างสมัยก่อน มีหลวงธำรงฯ กับหลวงประดิษฐ์ฝ่ายหนึ่ง และคุณควงกับคุณเสนีย์สู้กัน ซึ่งถ้าทั้งสองฝ่ายนี้รวมกัน ทหารก็ขึ้นมาไม่ได้ แต่กลับตีกันเสีย ทหารจึงขึ้นมา

ถาม : มีแนวโน้มไหมครับที่พลเรือนจะตีกันจนทหารขึ้นมา?

ตอบ : ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงน่าวิตก

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภาพจากหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายวัน” ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2517

ถาม : ที่อาจารย์คว่าเป็นแบบนี้ คิดว่าทหารเขากำลังคิดอะไร?

ตอบ : คือว่าผมก็ไม่รู้ว่าทหารเขาจะคิดยังไง แต่คิดว่าคนที่เสียอำนาจ และคิดว่าตนจะสูญเสียอีก คนที่เคยมีอำนาจก็จะต้องหวงแหนอำนาจอยู่ อีกส่วนที่เขาจะหาโอกาสอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่เขาจะไม่บอกเรา เราจึงหวาด ๆ อยู่เสมอ และหวังว่าเราจะไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีก

ถาม : ถ้าทหารกลับมา อาจารย์คิดว่าบทบาทส่วนตัวของอาจารย์จะเป็นอย่างไร

ตอบ : เราก็ต้องต่อสู้ต่อไป เวลานี้ผมคิดว่าเรารวมกำลังกันได้ง่าย ไม่เหมือนแต่ก่อน สมัยจอมพล ป. และต่อมานั้นเราไม่มีการรวมกำลังกันเลย ไม่มีการที่ใครจะคิดทางด้านประชาธิปไตยจริง ๆ จนถึงสมัยจอมพล ถนอม ก็พอรวมกันเป็นฝ่ายค้าน เช่น ประชาธิปัตย์ แต่ตอนนี้มันไม่มีพื้นฐาน แม้เดี๋ยวนี้เราก็ยังไม่มีพื้นฐานที่แน่นพอ

ผมว่าพื้นฐานที่ดี เราต้องถือที่ชาวนา, กรรมกร เวลานี้เรามีนิสิต นักศึกษา อาจารย์และอื่น ๆ อย่างคุณอย่างผม ที่มีความคิดว่าจะให้มีความชอบธรรมขึ้นในสังคม ถ้าหากว่าเขาผุดขึ้นมา เราก็ตะลุยออกไป ถ้าเรารวมกำลังกันได้อยู่เสมอมันก็ยากที่ใครจะมายึดอำนาจ ผมก็หวังไว้อย่างนั้น

ถาม : อาจารย์วิเคราะห์ว่าบทบาทของนิสิตนักศึกษาจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ใจผมคิดว่าไม่เปลี่ยนไปแบบคนหนุ่ม คนสาว ถ้ามันไม่มีอะไรจะทำ มันก็ทะเลาะกัน ผมคิดว่านักศึกษาเขาทำถูก ที่ทะเลาะกันตีกันมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่เขาไม่ลงรอยกัน ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ถ้ามีเรื่องใหญ่ ๆ ก็คงจะรวมกันได้ หวังว่ามันจะเป็นอย่างนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2564