งานพัฒนาชุมชน อีกบทบาทของ “ดร.ป๋วย” ผู้ก่อตั้ง NGO แรกของไทย และบัณฑิตอาสาฯ

ดร.ป๋วย พูดคุยกับประชาชน ที่ตำบลกุดจอก จังหวัดชัยนาท พ.ศ. 2514 (ภาพจาก หนังสือมรดกทางปัญญาชิ้นสำคัญของอาจารย์ป๋วย)

ชื่อเสียงและผลงานของของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม 2459-28 กรกฎาคม 2542) ที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือการธนาคาร ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของท่าน ด้วย ดร.ป๋วยได้ทุนไปเรียนจนจบปริญญาเอก ด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science มหาวิทยาลัยลอนดอน

ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ดร.ป๋วย จึงได้สมัคร เข้ารับราชการในกองทัพแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อเข้าร่วมขบวนการเสรี ไทยในประเทศอังกฤษ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า “เข้ม เย็นยิ่ง” ได้รับภารกิจให้มาติดต่อ กับหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย โดยนั่งเครื่องบินมาจากอินเดีย ก่อนจะลอบเข้าประเทศไทยด้วยการโดดร่มในเช้ามืดของวันที่ 14 มีนาคม 2487 ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ กระโดดร่มลงมาบ้านวังน้ำขาว อําเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท

ภายหลังสงครามสงบ ดร. ป๋วยกลับไปเรียนต่อจนจบ แล้วกลับมาทํางานในเมืองไทยแล้ว เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ดร.ป๋วย ได้พบกับ ดร.วาย ซี เจมส์ เยน (Dr.Y.C.James Yen) ผู้จุดประกายให้เกิดความคิดที่จะก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนในไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2510 ดร.ป๋วย ได้ชักชวนกับเพื่อนนักธุรกิจ นักการเงิน นักการเมืองและเชื้อพระวงศ์ร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย” ขึ้นที่จังหวัดชัยนาท ที่ที่ดร.ป๋วย เมื่อครั้งเป็นเสรีไทยได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านที่นั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมการพึ่งตนเอง การร่วมมือกันของชาวบ้าน การศึกษา การอนามัย การอาชีพนี้ และนับเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของไทย

และการก่อตั้ง “โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร” (หรือ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปัจจุบัน) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2512 เพื่อให้การศึกษา อบรม ฝึกฝน การให้บริการแก่ชุมชน และท้องถิ่นชนบทให้แก่บัณฑิต ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากทุกสาขาวิชา และทุกสถาบัน เพื่อส่งเสริมให้ “บัณฑิต” ได้ออกไปเรียนรู้ชีวิตร่วมกับชาวชนบท ได้สัมผัสปัญหาของประชาชนและหาประสบการณ์จากสภาพความเป็นจริง ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้ “บัณฑิต” มีสํานึกรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมส่วนรวม

ซึ่งทั้งมูลนิธิบูรณะชนบท และโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร นั้นดำเนินงานในหลักการที่ว่า

“ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ…”


ข้อมูลจาก :

มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. มรดกทางปัญญาชิ้นสำคัญของอาจารย์ป๋วย, กรกฎาคม 2554

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, ประวัติศาสตร์ชัยนาท (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 กรกฏาคม 2562