วาทะ “หลวงพ่อคูณ” เมื่อมีผู้ไม่ยอมใส่บาตรหลวงพ่อ เพราะเกรงจะได้บุญไม่เต็ม

ภาพวาด หลวงพ่อคูณ

ด้วยพุทธศาสนิกชนมีหลากรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะมาแบบไหน หลวงพ่อคูณ ท่านก็ไปแบบนั้นเสมอ

มีเรื่องเล่าว่า ราวปี 2514 หลวงพ่อคูณพํานักที่วัดพิเรนทร์ อําเภอบางกอกใหญ่ ท่านออกบิณฑบาตทุกวันมิได้ขาด แถมเมื่อบิณฑบาตมาแล้ว ยังนําส่วนที่เหลือไปให้กับคนยากจนอีกด้วย กระทั่งเถ้าแก่เจ้าของร้านอะไหล่ในย่านนั้นเกิดความไม่พอใจ เพราะไม่เข้าใจในเจตนาของหลวงพ่อ ถึงกับเคยออกคําสั่งกับเมีย ว่า

Advertisement

“ถ้าจะใส่บาตรก็ไม่ต้องใส่พระร่างเล็กดําๆ ที่ชื่อว่าหลวงตาคูณนะ เพราะใส่ให้ก็ไม่ได้ฉันเอาไปให้เด็กกินหมด แบบนี้เราจะได้บุญที่ไหน”

เช้าวันต่อมาก็ได้เรื่อง

ตามปกติตึกแถวของเถ้าแก่อยู่ฝั่งเดียวกับวัด หลวงพ่อคูณจะต้องเดินมาทางหน้าร้านทุกวัน แต่วันนั้นพระอาจารย์ข้ามไปเดินฝั่งตรงข้าม

ที่แปลกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พระสงฆ์ที่เคยเดินผ่านหน้าร้านออกบิณฑบาตเป็นประจํา วันนี้ไม่มีพระองค์ไหนเดินผ่านหน้าร้านเลย

รออยู่ครู่ใหญ่ แลเห็นพระอาจารย์คูณเดินมาแต่ไกล เถ้าแก่จึงบอกภรรยาให้ช่วยกันยกข้าวและกับข้าวไปดักรออยู่ฝั่งตรงกันข้าม ลืมที่เคยมีอารมณ์และออกคําสังกับเมียอย่างสิ้นเชิง

เมื่อพระอาจารย์มาถึง เถ้าแก่ก็ต่อว่า ว่า

“เมื่อขาไปผมเรียกหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ได้ยินหรือขอรับ แล้วทําไมหลวงพ่อต้องเดินฝั่งนี้ละขอรับ”

ได้ยินดังนั้นพระอาจารย์ตอบกลับไปว่า

“กูได้ยิน แต่กูกลัวว่าถ้าข้ามไปรับบาตรของมึงแล้ว มึงจะรับบุญไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงอยากจะให้โอกาสมึงได้เลือกใส่บาตรกับพระตามชอบใจจะได้บุญมากกว่าที่มึงจะใส่บาตรกับกู ถ้ากูเดินฝั่งเดิมมึงก็จะต้องจําใจใส่บาตร ก็จึงเลี่ยงเสีย”

 



ที่มา: 

“เรื่องเข้ากรุง 33”. ใน หนังสือพิมพ์ ข่าวสด. คอลัมน์ เมตตา, ฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2562