พระอัจฉริยภาพด้านอาหารในรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบอาหาร

“—พ่อตำน้ำพริก ขาดน้ำตาล ใช้น้ำตาลกรวดแทน ช่างประดักประเดิดจริงๆ แก้อย่างไร มันปร่าอยู่นั่นเอง ถ้าเป็นที่บางกอกก็โทษถึงไม่เสวย

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.. 2450 ฉบับที่ 28 อันเป็นคืนที่ 107 แห่งการเสด็จรอนแรมอยู่ในต่างแดน ทรงต้องเสวยพระกระยาหารฝรั่งที่บางครั้งก็ดีถูกพระทัย บางคราวก็เลี่ยนไม่ถูกพระทัย ทำให้ทรงคิดถึงพระกระยาหารไทยอยู่บ่อยๆ ดังนั้นครั้งใดเมื่อทรงสบโอกาสสะดวก ก็จะโปรดให้ประกอบอาหารไทยทันที แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะเครื่องประกอบอาหารไม่ครบ ดังที่ทรงพระราชปรารภว่า “—ช่างประดักประเดิดจริงๆ แก้อย่างไร มันปร่าอยู่นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ที่มีพระอัจฉริยภาพรอบด้าน รอบพระองค์ ตั้งแต่เรื่องสำคัญนับแต่เรื่องการบริหารประเทศ มาจนเรื่องเล็ก เช่น เรื่องการปลูกต้นไม้ หรือเรื่องการประกอบอาหาร

เมื่อประทับในพระบรมมหาราชวัง การประกอบพระกระยาหารเป็นหน้าที่ของข้าราชสำนักฝ่ายใน มีพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงกำกับห้องเครื่องต้น ทรงสรรหาผู้มีฝีมือและฝึกฝนเพิ่มเติมจนชำนาญมาประจำจนเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการทำเครื่องเสวย โดยเฉพาะองค์เจ้าสำนักทรงเอาพระทัยใส่ในกิจกรรมการประกอบพระกระยาหาร ไม่ว่าจะเป็นพระกระยาหารดั้งเดิม พระกระยาหารที่คิดค้นขึ้นใหม่ หรือพระกระยาหารที่ดัดแปลงจากอาหารต่างประเทศ เช่น ครั้งตามเสด็จชวาก็นำอาหารชวามาดัดแปลงเป็นอาหารไทยหลายอย่างและด้วยความสังเกตเอาพระทัยใส่ในรสชาติของพระกระยาหาร พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ต้องพระราชนิยม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีรสนิยมในเรื่องพระกระยาหารเป็นเลิศ ดังจะเห็นได้จากแม้พระกระยาหารธรรมดาๆ ประกอบง่ายๆ อย่างเช่น ปลาทูทอด ก็ทรงพิถีพิถันในรสชาติอันเกิดจากกรรมวิธีการทอดให้มีทั้งกลิ่นหอมและรสอร่อย ซึ่งเจ้าจอมเอิบจะเป็นผู้ที่มีความสามารถทอดปลาทูได้ถูกพระทัย ดังปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ สั่งให้รับเจ้าจอมเอิบออกไปทอดปลาทู เมื่อมีพระราชประสงค์จะเสวยพระกระยาหารแบบปิคนิคที่พลับพลาทุ่งพญาไท ความว่า “—เรื่องทอดปลาทู ข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้ว ข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้จัดรถให้นางเอิบออกไปทอดปลา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยพระกระยาหารร่วมกับพระเจ้าลูกยาเธอ ภาพจากอัลบั้มฝีมือเจ้าจอมเอิบ บุนนาค ถ่ายบนโต๊ะเสวย พระกระยาหารนี้น่าจะมีปลาทูทอดฝีมือเจ้าจอมเอิบด้วย

แม้จะทรงเคยชินกับพระกระยาหารที่ปรุงอย่างพิถีพิถันทั้งรสชาติและการตกแต่งให้สวยงามสะดวกเวลาเสวย แต่ก็มีบางครั้งที่มีพระราชประสงค์จะเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการประกอบอาหารง่ายๆ ด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะเมื่อเสด็จประพาสต้น ครั้งหนึ่งโปรดทรงเรือฉลอมประพาสปากอ่าวแม่กลอง ทรงซื้อกุ้งปลาที่จับได้ตามละมุ โปรดต้มข้าวต้มในเรือด้วยพระองค์เอง เป็นข้าวต้มปลาทู กุ้ง และปลาหมึกสดรวมกัน รสชาติของข้าวต้มครั้งนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า “—ตั้งแต่ฉันเกิดมา ไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย

หรืออย่างครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ทรงเบื่อพระกระยาหารฝรั่ง มีพระราชประสงค์จะเสวยข้าวคลุกกะปิ จึงโปรดสั่งให้หุงข้าว ทรงเล่าไว้ว่า “—เหลือกะปิ น้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อย คลุกข้าวกินกับหมูแฮมแลกับฝรั่ง เพลินอิ่มสบายดี

การที่ทรงปรุงพระกระยาหารได้ในยามจำเป็นหรือยามที่มีพระราชประสงค์นั้น น่าจะเกิดจากพระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์ ซึ่งทรงช่างสังเกตและทรงใฝ่ศึกษาหาความรู้ และบางครั้งแม้จะทรงชินกับอาหารฝรั่ง แต่ถ้าทรงเห็นว่ามีส่วนคล้ายอาหารไทยก็จะโปรดดัดแปลงให้มีรสชาติแบบไทยๆ ทันที


(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “พระอัจฉริยภาพด้านอาหารในรัชกาลที่ 5” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2552)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ.2561