พระดำรัสสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ต่อ “แคทยา” พระสุณิสาต่างชาติคนแรกก่อนตรัสขอแต่งงาน

แคทยา ต่อมา คือ หม่อมคัทริน พระชายา ใน เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
หม่อมคัทริน แต่งกายอย่างสตรีไทย (ภาพจาก ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์และ ไอลีน ฮันเตอร์. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม. สนพ. ริเวอร์ บุ๊คส์, 2538)

พระดำรัสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ตรัสกับ “แคทยา” หญิงสาวชาวรัสเซียนางหนึ่ง เป็นพระดำรัสที่เกิดขึ้นขณะที่มีพระอารมณ์สับสนกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น และต้องทรงเผชิญหน้ากับหญิงสาวที่ทรงหลงรัก พระดำรัสนั้นมีว่า

“—ชอบพัดลมไฟฟ้าหรือเปล่า—”

พระดำรัสนี้เองที่นำไปสู่การขอแต่งงานกับหญิงสาวชาวรัสเซียนางนั้น และเป็นการเริ่มต้นของความเป็นพระสุณิสาชาวต่างชาติคนแรกในราชวงศ์จักรี

หญิงสาวชาวรัสเซียนางนั้นคือ นางสาวเอกาเทรินา อิวาโนวา เดสนิตสกี้ (Ekaterina Ivanova Desnitsky) ซึ่งภายหลังก็คือ หม่อมคัทริน หรือที่เรียกเป็นสามัญว่า แคทยา นับเป็นพระสุณิสาชาวต่างชาติคนแรกในราชจักรีวงศ์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงอยู่ในฐานะเจ้าฟ้าผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ทรงเป็นเจ้าชายที่มีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียว มีพระปรีชาสามารถ จึงทรงเป็นความหวังของสมเด็จพระบรมราชชนกชนนี โดยโปรดเลือกให้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศรัสเซีย

ด้วยพระคุณสมบัติที่เพียบพร้อม คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนฐานันดรศักดิ์อันสูงส่ง ทำให้ทรงเป็นที่สนใจของชาวรัสเซียโดยเฉพาะสตรี ทรงไม่อาจหลีกพ้นจากความสัมพันธ์กับสตรีต่างชาติ สตรีหลายคน ทำให้ทรงพอพระทัย ประทับพระทัย แต่ก็ทรงหักพระทัยเมื่อทรงรำลึกถึงพระบรมราชชนกชนนี หน้าที่ที่ทรงมีต่อบ้านเมืองและฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ ดังที่ปรากฏในบันทึกถึงสตรีนางหนึ่งว่า

“—ฉันคิดว่าถึงเวลาเสียที ที่ฉันควรต้องเลิกติดต่อกับเธอ ในเมื่อเรื่องนี้รู้ไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว—”

แต่เมื่อทรงได้พบกับ “แคทยา” ความงดงามน่ารักดังที่ทรงพรรณนาว่า เป็นสุภาพสตรีสาวผมสีทอง เกล้าพันรอบศีรษะ ดวงตาสีฟ้าฉายแววซื่อไร้จริตมารยา ท่าทีสง่างาม แคล่วคล่อง แต่แฝงไว้ด้วยความนอบน้อม อ่อนโยนและขี้อาย ยิ่งเมื่อได้ทรงสนทนาด้วยก็ยิ่งทรงรู้สึกว่าพระทัยของพระองค์ดำดิ่งสู่ห้วงแห่งความรัก เพราะน้ำเสียงที่สดใสอ่อนหวาน ความฉลาดเฉลียวในการโต้ตอบทำให้ทรงถวิลหาจนไม่อาจถอนพระทัยจากเธอได้

ยิ่งเมื่อทรงทราบว่า เธอจะต้องจากไกลในฐานะนางพยาบาลอาสาสมัครที่ต้องเดินทางไปกับกองทัพรัสเซีย สู่สนามรบในไซบีเรีย เป็นระยะเวลาที่เจ้าฟ้าชายหนุ่มต้องทรงทุรนทุรายด้วยความคิดถึงห่วงใย และได้แปรเปลี่ยนเป็นความรักที่ลึกซึ้งชนิดที่ทรงรู้สึกว่าในพระชนมชีพจะขาดหญิงสาวผู้นี้เสียมิได้

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและแคทยา

แคทยา แม้จะมีใจต่อเจ้าชายหนุ่มแห่งสยาม แต่เมื่อรำลึกถึงความแตกต่างกันของเชื้อชาติ ศาสนา ความมืดมนของชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ในอนาคต หากตกลงปลงใจรับรัก จึงเกิดอาการลังเล แต่อานุภาพของความรักนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะคาดถึง ทำให้ความคิดอ่านไตร่ตรองและความลังเลสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการจากกันไกลยิ่งทำให้ความรักของหนุ่มสาวทั้งคู่ยิ่งทวีคุณค่าและรู้สึกตรงกันว่าชีวิตที่จะดำเนินต่อไปนั้นจะขาดซึ่งกันและกันเสียมิได้

เจ้าฟ้าชายชาวสยามทรงคิดถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จะต้องทรงพบเมื่อเสด็จกลับถึงบ้านเมือง พร้อมกับหม่อมแหม่ม ความรักและความปรารถนาในตัวหญิงสาวทำให้ทรงมองข้ามอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พระบรมราชชนกชนนี หรือฐานันดรศักดิ์

มีพระดำริว่าน่าจะทรงสามารถแก้ไขได้ แต่ปัญหาความแตกต่างกันของชีวิต ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอากาศซึ่งแตกต่างอย่างตรงข้าม และไม่อาจทรงแก้ไขได้ ทำให้ทรงพระวิตกถึงเรื่องนี้ มีพระดำริวนเวียนสับสนในระหว่างที่หนุ่มสาวห่างไกลกัน จนเมื่อทั้งสองได้มีโอกาสพบกัน แม้ใจจะตรงกัน แต่ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าอยู่ในใจทำให้หนุ่มสาวมิอาจกล่าวสิ่งใด ประโยคหนึ่งที่เจ้าชายหนุ่มทรงเอ่ยออกมา ก็คือสิ่งที่มีพระดำริว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่ค้างคาในพระทัยได้ นั่นคือ

 “—ชอบพัดลมไฟฟ้าหรือเปล่า—”

ท่ามกลางอากาศหนาวจัดที่ต้องเผชิญมาตลอดชีวิต ทำให้หญิงสาวไม่น่าจะมักคุ้นกับพัดลมไฟฟ้าได้ แต่เพราะใจที่เอนเอียงอยู่แล้ว ประกอบกับความที่ไม่อยากแสดงตนว่าไม่รู้จักกับเรื่องราวหรือสิ่งของในบ้านเมืองของคนที่เธอพอใจ จึงทูลตอบว่า ชอบมาก

คำตอบของหญิงสาวเป็นเสมือนฟ้าที่เปิดหมอกมัวในพระทัยสลายจนหมดสิ้น ด้วยทรงรู้สึกว่าทรงสามารถ แก้ไขปัญหาสุดท้ายได้ลุล่วงพระองค์จึงตรัสขอหญิงสาวแต่งงาน และขอให้เธอติดตามไปใช้ชีวิตคู่ที่เมืองสยามด้วยกัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “วาทะเจ้านายเล่าประวัติศาสตร์” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (สำนักพิมพ์มติชน, 2558)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ตุลาคม 2561