เจ้านายอึดอัดกับ “การสร้างชาติ” ตรัส “ไม่เป็นตัวของตัวอยู่แล้ว ยังยุ่งกับหัวกับหูอีก”

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ภาพจากหนังสือ "สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์" กรมศิลปากร)

เจ้านายอึดอัดกับ “การสร้างชาติ” ตรัส “ไม่เป็นตัวของตัวอยู่แล้ว ยังยุ่งกับหัวกับหูอีก” เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยความคิดว่า ชาติไทยจะต้องเจริญรุ่งเรืองตามแนวทางของอารยประเทศจึงพยายามชักจูงปลูกฝังให้คนไทยทั้งประเทศดำเนินตาม โดยวางนโยบายหลักไว้ว่า คนไทยจะต้องเป็นผู้มีวัฒนธรรมดี มีศีลธรรมดี อนามัยดี การแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยที่ทำมาหากินที่ดี เริ่มต้นด้วยการออกรัฐนิยม 12 ฉบับ เป็นแนวทางดำเนินชีวิตแบบอารยประเทศ เรียกว่า การสร้างชาติ

การดำเนินชีวิตของคนไทยในสมัยสร้างชาติ เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาน เพราะต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างในชีวิตประจำวันให้เข้าตามกรอบที่ผู้นำกำหนด เช่น การพูดจาที่เคยพูดกันถนัดปากแสดงอารมณ์ตามธรรมชาติอย่างเช่น มึง กู อั๊ว ลื้อ ข้า เอ็ง ถูกห้ามใช้ ให้ใช้คำ ฉันและท่าน ส่วนคำรับปฏิเสธที่เคยใช้ เออ อือ ฮื่อ ฮ่า ถูกห้าม กำหนดให้ใช้เพียงคำว่า จ้ะ และ ไม่ หรือ ครับ, ค่ะและเปล่า เป็นต้น ตามคำขวัญที่โฆษณากันครึกโครมในสมัยนั้นว่า “จงพร้อมใจใช้คำ ฉัน ท่าน จ้ะ ไม่ ขอบใจ และขอโทษ”

แม้กระทั่งการแต่งตัวก็มีการกำหนดว่า ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนมีวัฒนธรรมอันดี บนหัวจะต้องมีหมวก เมื่อมีข้อบังคับให้หมวกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย ก็เริ่มวุ่นเพราะความไม่เคยชิน จึงปรากฏเรื่องขำขันขึ้นบ่อยๆ ชาวบ้านต้องการติดต่อกับหน่วยราชการ แต่หน่วยราชการไม่รับบริการคนไม่สวมหมวก ชาวบ้านจำเป็นต้องหาอะไรมาวางบนหัวโดยสมมติว่าเป็นหมวก หมวกของชาวบ้านบางคนจึงมีทั้งขันน้ำหรือกระดาษพับเป็นรูปหมวก 

ชาวบ้านลำบากเพราะบางคนไม่มีเงินซื้อหมวก ส่วนเจ้านายลำบากเพราะรู้สึกอึดอัดขัดข้องใจที่ถูกบังคับด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อมีผู้มาทูลถวายคำแนะนำให้ทรงพระมาลา จึงทรงรับสั่งด้วยพระอารมณ์ที่อึดอัดขัดข้องเป็นอย่างยิ่งว่า

“…ทุกวันนี้จนจะไม่เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก…ไม่ใส่…อยากจะให้ใส่ ก็มาตัดเอาหัวไปตั้งแล้วใส่เอาเองก็แล้วกัน…”

วาทะของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสกับผู้ที่มาทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำให้ทรงพระมาลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2564