“ก๋วยเตี๋ยว” สร้างชาติ และทางออกวิกฤตเศรษฐกิจฉบับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ก๋วยเตี๋ยว

ทั่วแห่งหนในไทย มองไปไหนก็เห็นร้านขายอาหารได้เสมอ และในละแวกที่มีจำหน่ายอาหาร เมนูที่พบเห็นบ่อยไม่แพ้จานอื่นย่อมเป็น ก๋วยเตี๋ยว อาหารที่เชื่อกันว่ามีในไทยมายาวนาน

คำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” นวรัตน์ ภักดีคำ ผู้เขียนหนังสือ “จีนใช้ไทยยืม” อธิบายไว้ว่า เป็นอาหารลือชื่อและเป็นเอกลักษณ์ของจีน โดยเฉพาะคนจีนแต้จิ๋ว

ครั้นเมื่อเข้าสู่สมัย พ.ศ. 2485 ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะลำบากยากเข็ญอันเกิดจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามด้วยอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ จากทั้งสองเหตุการณ์ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจตกต่ำ (ปัญหาเงินเฟ้อ) นำมาสู่นโยบายสร้างชาติด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชาตินิยมในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอำนาจ โดยมีคำขวัญว่า “ไทยทำไทยขาย ไทยใช้ไทยกิน”

จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ก๋วยเตี๋ยวเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าว จอมพล ป. ส่งเสริมให้คนไทยหันมาขายและบริโภคก๋วยเตี๋ยวมากขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำ ดังจะเห็นได้จากปาฐกถาของจอมพล ป. ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วถึง เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ กับร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อมทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้

เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน..”

เดิมทีการขาย “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นอีกหนึ่งอาชีพยุคแรกเริ่มของคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ในไทย เริ่มด้วยรูปแบบหาบเร่ขายซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักก๋วยเตี๋ยว ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย อธิบายลักษณะของหาบเร่ขายก๋วยเตี๋ยวของคนจีนในสมัยนั้นว่า หาบเร่ขายก๋วยเตี๋ยวของคนจีนนั้นหนักมาก เหตุเพราะมีเครื่องประกอบและเครื่องปรุงทุกสิ่งอย่างไว้เสร็จสรรพ และด้วยรสชาติที่โดดเด่นทำให้คนไทยนิยมกินก๋วยเตี๋ยวถึงขั้นเป็นเจ้าประจำที่ต้องนั่งรอเวลาหาบก๋วยเตี๋ยวผ่านมาขาย

หนังสือ “กระยานิยาย เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบๆ สำรับ” โดย ส.พลายน้อย อธิบายถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยขายก๋วยเตี๋ยวว่า จอมพล ป. สั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมประชาสงเคราะห์ ให้ร่วมมือกันขยายตลาดก๋วยเตี๋ยวให้แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ โดยเกณฑ์ครูใหญ่ทุกโรงเรียนให้ขายก๋วยเตี๋ยวโรงเรียนละ 1 หาบ ข้าหลวงประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอก็ต้องขายคนละ 1 หาบ ให้กรมประชาสงเคราะห์จัดทำคำแนะนำ ทำตำราวิธีขายก๋วยเตี๋ยวออกแจก ซึ่งตั้งแต่นั้นมาคนไทยก็รู้จักขายก๋วยเตี๋ยวและกินก๋วยเตี๋ยวกันอย่างแพร่หลาย

นอกจากการส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยวแล้ว กรมโฆษณาก็ยังได้แต่งเพลงก๋วยเตี๋ยวขึ้นเพื่อใช้ในการเชิญชวนให้คนไทยหันมาขายและบริโภคก๋วยเตี๋ยวกันอีกด้วย โดยมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า

“ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย…ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า…ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า..ก๋วยเตี๋ยวจ้า…ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย…ของไทยใช้พืชผล เกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น…ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป …ช่วยซื้อขายกันให้มั่งมีเพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป…”

กล่าวได้ว่า จากการที่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. สนับสนุนให้คนไทยบริโภคและขายก๋วยเตี๋ยวอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในวันนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อมาให้ “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนไทยอย่างแพร่หลายในวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ยุวดี ศิริ. ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.

นวรัตน์ ภักดีคำ. จีนใช้ไทยยืม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553.

ส.พลายน้อย. กระยานิยายสารพัดเรื่องราวน่ารู้จากรอบ ๆ สำรับ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “เทศกาลตรุษจีนและชาวจีนในสมัย จนวรัตน์ ภักดีคำ. จีนใช้ไทยยืม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553.อมพล ป.พิบูลสงคราม”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2558).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2562