ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย ผู้ฝากผลงานการประพันธ์อันโด่งดังมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ข้างหลังภาพ แลไปข้างหน้า ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นนักเขียนผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
นอกจากบทบาทการเป็นนักเขียนแล้ว อีกบทบาทที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ การเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ไม่ก้มหัวให้เผด็จการ จนถูกจับกุมคุมขังหลายครั้ง กล่าวได้ว่า เขาคือหนึ่งในบรรดานักสู้ผู้ขับเคี่ยวกับระบอบอำนาจนิยมอย่างโดดเด่นเห็นชัด โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สื่อในการเขียนข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกของประชาชนไม่ให้ยอมก้มหัวให้อำนาจอันมิชอบ
ในช่วงทศวรรษ 2490 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 สภาพสังคมและการเมืองไทยกลับไปอยู่ภายใต้บรรยากาศอนุรักษนิยมและเผด็จการ ภายใต้การแข่งขันทางการเมืองที่รุนแรงของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทำให้เริ่มมีการเคลื่อนไหวของบรรดานิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อต่อต้านสภาพการณ์ดังกล่าว
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ผู้มีชื่อเสียง จึงช่วยสนับสนุนเป็นกระบอกเสียงให้กับการต่อสู้ของนักศึกษา โดยเขียนบทความใน วารสารธรรมจักร ของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2495 มีใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงบทบาทของคนหนุ่มสาวในฐานะอนาคตของประเทศชาติ ว่า
“ท่านผู้ใหญ่ ท่านก็อยู่ในโลกนี้มานานพอแล้ว และท่านก็มีเวลาเพียงเล็กน้อยที่จะอยู่ต่อไป พวกเด็ก ๆ พวกเยาวชนรุ่นหนุ่มสาวเขามีเวลาข้างหน้าอันยาวนานที่จะอยู่บนโลกนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นก็เป็นการชอบธรรมอย่างยิ่งที่เขาควรจะมีความคิดเห็นในการจัดแจงประชาคมโลกให้เป็นผาสุก ตามรสนิยมและทรรศนะของเขายิ่งกว่าบุคคลที่ใกล้จะอำลาโลกไปแล้วมิใช่หรือ ? จงปล่อยให้เขาเป็นอิสระที่จะเลือกวิถีชีวิตของเขาเถิด แต่ปล่อยหรือไม่ปล่อยก็เท่ากัน เพราะเขาคงแสวงหามันจนได้”
ประโยคดังกล่าวจึงสะท้อนถึงความคาดหวังที่เขามีต่อคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่จะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความเจริญของบ้านเมืองต่อไปในอนาคต
แม้จะมีปณิธานอันแรงกล้า แต่การเคลื่อนไหวของเขาก็เป็นที่จับตาของรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 กุหลาบถูกรัฐบาลจับกุมในข้อหากบฏ และถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน และได้รับการอภัยโทษหลังถูกจำคุกได้ 4 ปี เมื่อ พ.ศ. 2500 ภายหลังเมื่อเกิดรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เปลี่ยนประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหาร กุหลาบ จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517
ประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารนานหลายปี และพลังของคนหนุ่มสาวจะถูกกดทับไว้ไม่ให้แสดงออกมา แต่ไม่มีอะไรหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ เยาวชนคนหนุ่มสาวได้รวมพลังจนนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โค่นล้มเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมานานนับสิบปีได้สำเร็จ นำพาประเทศก้าวไปสู่สังคมใหม่ได้สำเร็จตามที่ กุหลาบ คาดหวังไว้
อ่านเพิ่มเติม :
- “ศรีกรุง” ออร์แกนของคณะราษฎร หนังสือพิมพ์ที่ช่วยโหมโรงการปฏิวัติ 2475
- 31 มี.ค. 2448 วันเกิด กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนผู้ถูกจับ และงาน “ข้างหลังภาพ”ฃ
- นิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อเกิดการเลือกตั้งสกปรก 2500
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2565). Les Citations ปัญญาจารย์การเมือง. กรุงเทพฯ: ไชน์ พับลิชชิ่ง เฮ้าส์
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2556). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี:ฟ้าเดียวกัน
สุภา ศิริมานนท์. ความทรงจำ : ชีวิตและการต่อสู้ของกุหลาบ สายประดิษฐ์. เข้าถึงเมื่อ 24 เมษายน 2566 จาก https://pridi.or.th/th/content/2022/03/1034
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2566