ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” (31 มีนาคม พ.ศ. 2448 – 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517) “นักเขียน” และ “นักหนังสือพิมพ์” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย
ในฐานะ “นักหนังสือพิมพ์” เขามีส่วนสำคัญยิ่งที่ได้ยกสถานะและบทบาทของหนังสือพิมพ์ไทยขึ้นมา ในฐานะ “นักเขียน” เขาเป็นผู้หนึ่งที่ได้นำนวนิยายเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ผลงานของเขาอย่าง “สงครามชีวิต”, “ข้างหลังภาพ”, “แลไปข้างหน้า” ยังคงความเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้
พร้อมๆ ไปในฐานะทั้งสองนั้นเอง เขายังเป็นนักต่อสู้กับระบอบเผด็จการและความอยุติธรรมในสังคมอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะถูกข่มขู่และถูกจับกุมหลายต่อหลายครั้งก็ตาม (ที่มา: ปฏิทินวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2549)
ชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่น่าสนใจว่า ระหว่าง กุหลาบ กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน เมื่อครั้งที่ กุหลาบเขียนบทความเรื่อง เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 ทั้งหมด 16 ตอน ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตอบโต้ทางวิทยุกระจายเสียง และจอมพล ป. ก็ได้เขียนจดหมายมาถึงกุหลาบอย่างเป็นกันเอง ซึ่งกุหลาบได้เขียนตอบกลับไปในคำนำ “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” ว่า
“แม้จะมีความผูกพันฉันไมตรี นับถือกันดีอยู่ แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องกระทำต่อไป ก็มีทางเหลืออยู่แต่ทางหนึ่งคือ ข้าพเจ้าจะสละตำแหน่งและวางมือจากวงการหนังสือพิมพ์เสีย”
ชนิด เล่าว่า จากนั้น จอมพล ป. จึงได้เขียนจดหมายตอบในทำนองว่า ขอให้ทำต่อไปเถิด…ขอให้เป็นประธานก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ไปเถอะ จะไม่คิดร้ายเลย
อย่างไรก็ดี กุหลาบถูกจับกุมเป็นครั้งแรกในปี 2485 เนื่องจากวิจารณ์รัฐบาลจอมพล ป. ที่ยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองไทย ด้วยข้อหาเป็นกบฏภายในประเทศ ทำให้เขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ เนื่องจากคดีไม่มีมูล
หลังจากนั้นในปี 2495 กุหลาบต้องถูกจับกุมอีกครั้ง ระหว่างการแจกของให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งในอีสาน ซึ่งทางสมาคมหนังสือพิมพ์ได้ขอให้กุหลาบไปเป็นประธานแจ้งของในงาน
ชนิด เล่าว่า ก่อนการจับกุม การเมืองไทยอยู่ในภาวะที่สับสนวุ่นวายจากทั้งเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน การปฏิวัติเงียบ และการเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงนี้ กุหลาบก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้หนังสือพิมพ์ ให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484
“เป็นการจับแบบเหวี่ยงแห ถูกจับเป็นคณะใหญ่ พวกที่ไปช่วยแจกของกับคุณกุหลาบก็โดนด้วย พวกตาสีตาสาเขาให้เป็นหัวหน้าคณะมารับของ ก็ถูกจับเป็นแถว บางคนไม่ได้ไปแจกของก็โดน อย่างคุณสุภา ศิริมานนท์ คนทำ อักษรสาส์น ก็โดนแม้ไม่ได้ไป ควาวนี้ตอนแรกฝากขังแยกกันไปตามที่ต่างๆ เรียกว่า คดีขบถสันติภาพ” ชนิดกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กุหลาบถูกจับกุมเป็นครั้งที่สอง
หลังถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี (จากคำพิพากษาให้รับโทษ 13 ปี 4 เดือน) กุหลาบก็ได้รับการนิรโทษกรรม ต่อจากนั้นได้เกิดการรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเบื้องต้นได้ให้คนนอกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในปี 2501 จอมพล สฤษดิ์ ก็ทำรัฐประหารขึ้นเป็นนายกฯ เสียเอง
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ที่อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศจีน จึงตัดสินใจขอลี้ภัยและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนจนกระทั่งวาระสุดท้าย
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
หนังสือ คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา รำลึก 100 ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ บทความเรื่อง กุหลาบแกร่งในชีวิต “ศรีบูรพา” โดย ไพลิน รุ้งรัตน์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2561