“ศรีกรุง” ออร์แกนของคณะราษฎร หนังสือพิมพ์ที่ช่วยโหมโรงการปฏิวัติ 2475

“ศรีกรุงกำลังโหมโรงโดยได้รับหน้าที่เป็นออร์แกน (Organ) ของคณะราษฎรอยู่แทบตลอด” นี่คือคำกล่าวของ ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 หรือกบฏเหล็ง ศรีจันทร์ ที่กล่าวถึงบทบาทของ “ศรีกรุง” หนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญสนับสนุนคณะราษฎรในการปฏิวัติ 2475

ศรีกรุงเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2469 มี The Srikrung Press เป็นเจ้าของ ผู้ดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 นอกจากร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ แล้วยังมี ร้อยตรีบ๋วย บุญยรัตนพันธุ์ และร้อยตรี โกย วรรณกุล เป็นต้น ศรีกรุงมีเนื้อหาที่ค่อนไปทางซ้ายหรือเสรีนิยม ด้วยมีผู้ดำเนินงานหรือบรรณาธิการเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้า บางครั้งก็โจมตีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ดังนั้น ศรีกรุงจึงถูกจับตามองจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

Advertisement

ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของตนกับศรีกรุงในช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 ไว้บางส่วน ดังนี้

“…ปลาย พ.ศ. 2474 ใกล้จะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยท่านเจ้าคุณพหลฯ เป็นผู้นำคณะราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งเกี่ยวกับข้าพเจ้าโดยตรง คือระหว่างนั้นกำลังเตรียมการจะเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 เป็นเวลาครบ 150 ปี แห่งจักรีวงศ์เข้าครองแผ่นดิน ได้มีข่าวการปฏิวัติกระชั้นขึ้นทุกที คณะ ร.ศ. 130 ก็ตกอยู่ในข่าวสงสัยของรัฐบาลสมัยนั้น โดยเฉพาะข้าพเจ้า ได้มีชื่ออยู่ในเซฟของกรมตำรวจ ซึ่งเจ้าองค์หนึ่งเป็นอธิบดี และถูกตำรวจลับติดตามอยู่เสมอ

บังเอิญผู้ติดตามเคยเป็นลูกศิษย์ร่วมงานกัน ข้าพเจ้าจึงทราบ และได้ออกอุบายให้เขาได้ค้นกระเป๋าทำงานของข้าพเจ้า เพื่อรายงานไปให้ทราบถึงความบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าอยู่เสมอ เพราะเวลานั้นศรีกรุงกำลังโหมโรงโดยได้รับหน้าที่เป็นออร์แกน (Organ) ของคณะราษฎรอยู่แทบตลอดเวลา หากคราวใดแสดงความเห็นและภาพรุนแรงจนรัฐบาลหรือราชบัลลังก์สั่น และพอเจ้าของโรงพิมพ์ได้รับคำตักเตือนมาจากบุคคลชั้นสูง ศรีกรุงก็เพลามือไปชั่วขณะ แล้วก็ค่อย ๆ แรงขึ้น ๆ ต่อไปอีกใหม่

วันเปิด “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2475

พอถูกตักเตือนมาอีก ก็เพลาลงไว้ ทำอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายครา จนมีบางคนในคณะราษฎรชั้นหัวหน้าไม่เข้าใจในศรีกรุงแน่นอน มีพระยาทรงสุรเดช และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น ต่อเมื่อได้ปรับความเข้าใจจากข้าพเจ้า จึงเห็นใจและความจำเป็น เพราะข้าพเจ้าเล็งถึงผลเลิศในวันข้างหน้ามากกว่าจะปล่อยให้ศรีกรุงถูกทำลายลงกลางคัน ซึ่งจะทำให้หม้อข้าวของ เจ้าของ และคนงานศรีกรุงพลอยแตกไปด้วย และงานของคณะราษฎรก็อาจต้องสะดุดหยุดไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างมากยิ่ง

กรณีที่ศรีกรุงจะรับเป็นกระบอกเสียงของคณะราษฎรมีดังนี้ เมื่อเป้าตายแล้ว ข้าพเจ้ามีอายุได้ 41 ปี ออกเที่ยวเพ่นพ่านคบเพื่อนคบฝูงมากขึ้น เพื่อเที่ยวชมนกชมไม้ให้หายกลุ้ม ค่ำวันหนึ่ง ครูนวม ชัยรัตน์ (ขุนวิทยาวุฒิฯ) ได้นำขุนศรีศรากร ไปรู้จักกับข้าพเจ้าที่ตึกพูนวิวัฒน์ สี่แยกถนนราชดำเนินกลาง ข้าพเจ้าก็ต้อนรับเป็นอันดีตามอัธยาศัย เมื่อหมดเรื่องสนทนาเบื้องต้นแล้ว ขุนศรีฯ แย้มถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าหากมีผู้คิด และเขามาชวนข้าพเจ้าให้ร่วมด้วยจะยินดีรับหรือไม่

ข้าพเจ้ากำลังมีความคิดถึงเป้า และอนาคตของลูก ๆ เป็นเจ้าเรือนอยู่ ทั้งเคยเข็ดขยาดต่อความไม่จริงของเพื่อนร่วมตายมาแล้ว กับไม่รู้จักขุนศรีฯ ดี จะมาไม้ไหนกันแน่ก็ไม่รู้ จึงตอบขุนศรีฯ ไปตามใจนึก มีใจความว่าถ้าพูดถึงทางน้ำใจ ข้าพเจ้ายังเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่เสมอ แต่เรื่องการกระทำนี้แหละ ออกจะเข็ดขยาดเป็นที่สุด เกรงว่าเพื่อนจะไม่จริงทุกคนไป ลงท้ายก็จะพากันเดือดร้อนอย่างที่เคยได้รับมาแล้ว

ขุนศรีฯ และครูนวมก็หัวเราะเป็นที่ว่าเรื่องนั้นเป็นเพียงคุยกันเล่น แล้วขุนศรีฯ ก็ลาไป ข้าพเจ้าจึงเตือนครูนวมเป็นความว่า ถ้ามีส่วนร่วมกับเขาก็ขอให้ระมัดระวังตัวหน่อย อาจจะถูกหลอกลวง หรือทำกันไม่จริง คน ๆ เดียวเท่านั้นอาจทำให้คนจำนวนมากต้องได้รับความหายนะได้ แต่ถ้าจะให้ข้าพเจ้าช่วยทางการหนังสือพิมพ์ก็ยินดี ถึงกระนั้นก็ต้องบอกให้เจ้าของศรีกรุงเขาทราบก่อน เพราะอาจจะทำลายหม้อข้าวของเขาและคนงานอีกหลายสิบคนเสียได้…

ต่อมาอีกมิช้า ค่ำวันหนึ่ง ร.ต.ต. วาศ สุนทรจามร ทนายความ มีฉายาว่า “หมอโพล้ง” ในหน้าหนังสือพิมพ์ ชอบรักกับข้าพเจ้ามาก ได้มาหาข้าพเจ้าและขอพบเป็นไปรเวตสองต่อสอง ชวนข้าพเจ้าปฏิวัติทำนองขุนศรีฯ เหมือนกัน โดยเขาแสดงว่า เขาได้รับมอบหมายมาจากหัวหน้าสาย ๆ หนึ่งของคณะปฏิวัติ ข้าพเจ้าปฏิเสธเช่นเดียวกับปฏิเสธขุนศรีฯ ในที่สุดเขาจับมือข้าพเจ้าบีบแน่นและว่าขอให้เป็นกระบอกเสียงในศรีกรุงก็พอ ข้าพเจ้าก็รับว่าหากคุณมานิตเอาด้วยก็จะดำเนินการได้ เพื่อไม่ให้เขาต้องเดือดร้อนเพราะการกระทำของพวกเรา วาศยินดี แล้วก็รีบละข้าพเจ้าไป

พอรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าก็เข้าพบเจ้าคุณอุปการฯ สองต่อสองก่อนบอกเรื่องที่ได้ทราบมา เจ้าคุณยืนยันอย่างข้าพเจ้าว่าแล้วแต่คุณมานิต ข้าพเจ้าก็ไปขอพบคุณมานิตสองต่อสองอีก เล่าเรื่องให้ฟังทุกระยะ คุณมานิตน้ำใจลูกผู้ชายรักชาติยิ่งกว่าสิ่งใด ลุกขึ้นจับมือข้าพเจ้าบีบอย่างแรง กล่าวว่า ขอให้ข้าพเจ้าลงมือได้ แต่ต้องระวังการผ่อนหนักผ่อนเบาให้ดี หากงานสำเร็จโดยเราไม่ต้องเดือดร้อนจะยิ่งงดงาม คนงานอีกจำนวนมากจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนด้วย ข้าพเจ้าก็รับคำและขออนุญาตบรรจุนายสมบัติ เล็กชูวงศ์ เข้าในแผนกบรรณาธิการอีก 1 คน เพราะสมบัติมีฝีปากคมต่อเรื่องเขียนทุกประเภท คุณมานิตก็ยอม

ทหารคณะราษฎรตั้งปืนกลรักษาพระนครในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550)

วันต่อมา ข้าพเจ้าก็นำสมบัติมาทำงานด้วยกัน แนะนำให้รู้จักกับบรรณาธิการซึ่งรู้เรื่องอยู่ดีแล้วว่าเราจะทำอะไรเพื่อชาติกันต่อไป สืบแต่นั้นมา เราก็ช่วยกันโหมโรงเป็นระยะ ๆ ดังกล่าวแล้ว ในที่สุดในหลวงรัชกาลที่ 7 ส่งจมื่นเทพฯ หนังสือพิมพ์ไทยมาขอพบข้าพเจ้า และขอทราบหลักฐานเรื่องงบประมาณแผ่นดินของเชื้อพระวงศ์ ที่ข้าพเจ้าเขียนเป็นเรื่องบทนำลงศรีกรุงอยู่หลายเวลา ข้าพเจ้าก็หยิบหลักฐานของฝรั่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังให้ดูและจดไป จมื่นเทพฯ แสดงความขอบใจ และได้ทราบจากปากคำของเขาเองว่าเป็นพระประสงค์ของในหลวง

ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ศรีกรุงตกอยู่ในความนิยมของประชาชนเป็นอันมาก เพราะต่างคนใคร่จะได้เป็นปากเสียงช่วยชาติบ้าง โดยได้ถูกบีบปากมานานแล้ว ก็ไม่เห็นเมืองไทยก้าวหน้าไปเท่าไรนัก พระยาราชวังสัน พี่ชายหลวงสินธุสงครามชัย ขณะนั้นเป็นทูตอยู่ในต่างประเทศ เคยออกปากว่าถ้ารัฐบาลไม่จัดการกับศรีกรุง ก็เห็นจะเกิดปฏิวัติแน่นอน

ในปลายปี พ.ศ. 2474 นั้นเอง ศรีกรุงได้นำเรื่อง “มนุษย์ภาพ” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ลงติดต่อกันหลายวัน เพราะเป็นสารคดีเชิงความเห็นทางการเมือง พอถึงตอนสำคัญเกี่ยวเข้าไปถึงราชวงศ์ในต่างประเทศตอนหนึ่ง ทางพระราชวงศ์ไทยและรัฐบาลก็พลอยสะเทือน ถึงกับประชุมกันจะฟ้องศรีกรุงฐานยุแหย่ให้ก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง แต่ทางกรมอัยการมีเจ้าคุณมานนวราชเสวีเป็นอธิบดีได้ตรวจเรื่องละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่าฟ้องไม่ได้

ความเห็นเจ้าคุณมานฯ เกือบเป็นภัยแก่ตัว เพราะบางคนเห็นว่าท่านเคยเป็นสมาชิกอยู่ใน คณะ ร.ศ. 130 ด้วย แต่ท่านนับถือความเห็นตามหลักเกณฑ์และเหตุผล เมื่อจะเกิดเป็นภัยก็ยอม ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบจากปากคำของท่านเอง และเวลานั้นศรีกรุงก็เต็มไปด้วยคณะ ร.ศ. 130 มี บ๋วย “บ. กากะบาด” ถัด “ไทยใต้” สอน “กายสิทธิ์” โกย “ศรียาตรา” และข้าพเจ้าซึ่งมีนามแฝงมากมายจำไม่ได้ และในครั้งสุดท้ายที่จะงดเขียนความเห็นทางการเมือง เคยใช้ว่า “130” “ฉัตรเก้าชั้น” และ “เนตร”

เวลานั้นชื่อพวกเราติดอยู่กับพระโอษฐ์ของรัชกาลที่ 7 เสมอ ข้าพเจ้าเองได้ฉายาว่า “เจ้าเนตร”

คณะ ร.ศ. 130 ในงานศพ 17 วีรชนปรากกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ในที่สุดศรีกรุงไม่ถูกฟ้องร้องตามกบิลเมือง ตามความเห็นของอธิบดีกรมอัยการ แต่ถูกบาตรใหญ่ให้ปิดโรงพิมพ์โดยไม่มีกำหนด เครื่องพิมพ์ดูเปล๊กส์ถูกล่ามโซ่สายเบ้อเร่อ ไม่ให้ทำการพิมพ์ได้ ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์อย่างใหม่ในสมัยนั้นในประเทศไทย หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ซึ่งพิมพ์แท่นเดียวกัน ก็พลอยต้องหยุดพิมพ์ในโรงพิมพ์ศรีกรุง ต้องไปจ้างโรงพิมพ์อื่นช่วยพิมพ์ให้ แสนจะเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน ทางโรงพิมพ์ต้องเสียหายไปร่วมหมื่นบาท

ศรีกรุงเรียกประชุมญาติมิตรเพื่อแก้ไข ก็ไม่มีใครกล้าช่วยโดยออกหน้าได้ มีเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงสงสาร แต่ก็ขอให้รอ ๆ ไปพลางก่อน เช่น กรมพระสวัสดิ์ฯ ซึ่งคุณมานิตเป็นญาติเกี่ยวดองอยู่ กรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งเคยคุ้นกับตระกูลวสุวัตมาช้านาน และกรมพระกำแพงเพชร์ฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคุณหลวงกลฯ ก็ไม่มีองค์ใดทรงช่วยอะไรได้ บางพระองค์ทรงหลบหน้าอยู่เสมอ ๆ ไม่ยอมพบกับพวกเรา ลงท้ายเมื่อไม่มีทางอื่นที่จะกู้ความเสียหายให้เราได้แน่แล้ว สัญชาตญาณของมนุษย์ก็ต้องดิ้นรนไปจนมีช่องทาง ถ้าและมันไม่เป็นการเสื่อมเสียถึงประเทศของเรา

บังเอิญขณะนั้น ท่านอัครราชทูตอเมริกัน สมัยท่านเดวิด ก๊อฟแมน คุ้นเคยสนิทสนมกับคุณมานิตและคณะศรีกรุงมาก รักคุณมานิตอย่างญาติ เคยไปรับประทานอาหารที่บ้านเสมอ ๆ ท่านเคยกล่าวว่าตั้งแต่ท่านเข้ามาอยู่ในเมืองไทย มีคนไทยคนเดียวคือคุณมานิตที่ท่านถูกอัธยาศัย ถึงกับมอบความรัก และไว้เนื้อเชื่อใจได้ เรื่องใดเกี่ยวกับเป็นข่าวทางสถานทูตอเมริกันแล้ว อนุญาตให้ศรีกรุงไปติดต่อได้เสมอทุกเวลา ไม่ต้องเกรงใจ ทั้งนี้ท่านเองก็ไม่หวังให้เราเป็นปากเสียงอะไรให้ท่าน เพราะไม่ช้าท่านก็จะต้องถูกผลัดเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ถ้าคุณมานิตมีความทุกข์ร้อนอะไรที่ท่านพอจะช่วยได้ก็ให้ออกปากมา

วันหนึ่งตอนบ่าย ขณะที่ศรีกรุงถูกปิดมาร่วม 2 สัปดาห์ และจะพยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้แล้ว คณะศรีกรุงจึงเล่าเรื่องให้ท่านฟัง ขณะที่รับประทานน้ำชาอยู่ที่บ้านคุณมานิต แล้วก็จะเลยไปตีกอล์ฟกับกรมพระสวัสดิ์ฯ พอท่านได้ทราบความเดือดร้อนของศรีกรุงก็ทำตาลุก แสดงความสงสาร และพูดว่าเป็นเรื่องของคนหนุ่ม ไม่น่าจะลงโทษให้นานนัก ท่านจะลองช่วยเหลือทูลกรมพระสวัสดิ์ฯ ให้ทรงเป็นธุระดูบ้าง หากไม่สำเร็จก็จะช่วยทูลขอในหลวงให้ แล้วท่านก็ออกจากบ้านไป ตกค่ำกลับมาบอกว่าได้ทูลขอความช่วยเหลือแล้ว พอดีกรมพระสวัสดิ์ฯ ได้เคยรับปากว่าจะทรงช่วยเหลืออยู่แล้ว เพราะสงสารลูกหลาน การเปิดโรงพิมพ์ศรีกรุงก็ได้รับคำสั่งในวันสองวันต่อมานั้นเอง…”

 


อ้างอิง :

ศรีกรุงกับการปฏิวัติ 2475. (มิถุนายน, 2550). ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 : ฉบับที่ 8.

สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. (2549). กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2564