“เมืองชากังราว” คือ เมืองพิชัย จ. อุตรดิตถ์ ไม่ใช่ “เมืองกำแพงเพชร”

วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร
วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร

“เมืองกำแพงเพชร” อยู่น้ำแม่ปิง “เมืองชากังราว” อยู่แม่น้ำน่าน เป็นคนละเมืองคนละแม่น้ำ ไม่ใช่เมืองเดียวกันตามที่เคยเชื่อถือกันมานาน

อ. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย กรมศิลปากร) แสดงหลักฐานแล้วอธิบายรายละเอียดไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2539 หน้า 180-188)

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงเมืองชากังราวเป็นครั้งสุดท้ายในเรื่องราวเมื่อ พ.ศ. 1994 โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนั้นว่า พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ลงมายึด เมืองชากังราว และจะเข้ายึดเมืองสุโขทัย แต่ทำไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับคืนไป

แผนผัง เมืองชากังราว
แผนผังเมืองกำแพงเพชรและกลุ่มวัดนอกเมือง (โดยกรมศิลปากร)

หนังสือ พงศาวดารโยนก โดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค), ตำนาน 15 ราชวงศ์, หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพิมพ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 1994 ไว้ตรงกัน

เอกสารของล้านนาได้ชี้ให้เห็นเส้นทางการยกทัพของพระเจ้าติโลกราชว่าพระองค์มาจากเขตล้านนาทางเมืองแพร่หรือเมืองน่าน ซึ่งจากทั้งสองเมืองเมื่อผ่านพื้นที่เขาสูงของล้านนาแล้วก็จะถึงที่ราบแห่งแรกคือทุ่งย้างเมืองฝาง (จ. อุตรดิตถ์) ที่อยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน

เอกสารของล้านนาที่เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ เป็นหลักฐานที่สอดคล้องกับเอกสารของกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ การบอกศักราชของเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ พ.ศ. 1994 เป็นเรื่องสงครามครั้งแรกระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาข้อความที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้อย่างรวบรัดว่า “…มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้…” ในขณะที่เอกสารล้านนาเล่าเรื่องอย่างละเอียดว่า พระเจ้าติโลกราชได้เมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตั้งแต่เหนือไปใต้ คือเมืองทุ่งยั้งในเขต จ. อุตรดิตถ์เมืองสองแควใน จ. พิษณุโลกและเมืองปากยมในเขต จ. พิจิตร

แสดงว่าเมืองชากังราวควรอยู่ระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสองแควมากกว่า (คืออยู่เหนือเมืองสองแควขึ้นไป) ได้แก่ เมืองพิชัย อ. พิชัย จ. อุตรดิตถ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอกสารทอดน่องท่องเที่ยว มหัศจรรย์มหาศิลาแลง เมืองกำแพงเพชร โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. ตุลาคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562