ล้อมวงชวนระลึก “อาจารย์ตุล” ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและปรัชญาผู้ล่วงลับ

สราวุธ-ศาสวัต-ศิริพจน์ ล้อมวงชวนระลึกอาจารย์ตุล ในกิจกรรม BookTalk: ในจักรวาลความคิด ‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง’ Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ ปีที่ 3
“สราวุธ-ศาสวัต-ศิริพจน์” ล้อมวงชวนระลึก “อาจารย์ตุล” ในกิจกรรม “BookTalk: ในจักรวาลความคิด ‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง’ ” ส่วนหนึ่งของ “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ” ปีที่ 3

“สราวุธ-ศาสวัต-ศิริพจน์” ล้อมวงชวนระลึกอาจารย์ตุล ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและปรัชญาผู้ล่วงลับ ผู้เป็นที่รักของทุกคน

เสาร์ที่ 8 มีนาคม 2568 เวลา 16.00-17.30 น. ณ มิวเซียมสยาม มีกิจกรรม “BookTalk: ในจักรวาลความคิด ‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง’ ” ส่วนหนึ่งของ “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ” ปีที่ 3

นี่คือวงสนทนาของการระลึกถึง ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือ “เชฟหมี ครัวกากๆ” โดย 3 วิทยากร มิตรสหายของอาจารย์ตุล ได้แก่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี, สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนอิสระ หรือ “นิ้วกลม” และศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ “น้าช้าง ครัวกากๆ”

ภายในงานยังมี สนชัย อุ่ยเต็กเค่ง บิดาของอาจารย์ตุล ให้เกียรติเดินทางไกลมาจากระนองเพื่อร่วมรับฟังการสนทนาครั้งนี้ด้วย

สนชัย อุ่ยเต็กเค่ง บิดาของอาจารย์ตุล
สนชัย อุ่ยเต็กเค่ง บิดาของอาจารย์ตุล
  • ชีวิตและตัวตนของ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง”

สราวุธ หรือนามปากกา “นิ้วกลม” เริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญให้ศาสวัตและศิริพจน์เล่าถึงประสบการณ์ที่มีกับอาจารย์ตุล

ศาสวัต หรือ “น้าช้าง ครัวกากๆ” เพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าตั้งแต่การเจอกัน อุปนิสัยต่างๆ จนเริ่มทำรายการ “ครัวกากๆ” ลง YouTube ส่วนศิริพจน์เล่าถึงการรู้จักกันจากงานวิชาการ คือบทความต่าง ๆ ที่เผยแพร่ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ซึ่งทั้งคู่เป็นคอลัมนิสต์

ด้าน “นิ้วกลม” เล่าถึงเหตุการณ์แรกพบผ่านการพูดคุยกันด้านปรัชญา และลงความเห็นว่าอาจารย์ตุลเป็นคนมีหลายมิติ เหมือนมี “หลายปาง” แต่บุคลิกที่ชัดเจนที่สุดคือการเป็นคนเฮฮา จริงใจ และรอบรู้ด้านปรัชญาและศาสนา

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนอิสระ นิ้วกลม
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนอิสระ หรือ “นิ้วกลม”
  • ความเป็นนักปรัชญาและศาสนาจารย์

ศาสวัตเล่าว่า ความสนใจด้านปรัชญาและศาสนาของอาจารย์ตุลเป็นไปอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และเป็นจุดเริ่มต้นของฉายา “พราหมณ์หมี” และเป็นคน “เนิร์ด” มาตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว

ศิริพจน์ชี้ว่า ความสนใจและความรู้ด้านปรัชญาของอาจารย์ตุลเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเขียนทางโบราณคดีของตนไม่น้อย เพราะงานด้านนี้สนใจแต่ตัววัตถุ ขณะที่งานปรัชญามุ่งมองไปยังบุคคล วิถีชีวิต และวิธีคิดของมนุษย์

“นิ้วกลม” ยังเผยด้วยว่า มักถูกอาจารย์ตุล “สอน” อยู่เป็นประจำ แต่เป็นการสอนอย่างปรารถนาดี และบอกว่าอาจารย์ตุลมีศักยภาพมากพอที่จะเอาดีในวงการบันเทิงได้ แต่ไม่คิดถึงการไขว่คว้าความมั่งคั่ง เพราะตั้งอยู่บนหลักคิดว่า “เงิน” เป็นสิ่งขัดขวางการเข้าถึงความจริง

“เขาบอกผมว่า หากจะก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ เราต้องสละเรื่องเงินทิ้ง สิ่งนี้เชื่อมโยงกับความคิดทางปรัชญาและศาสนาของเขา” นิ้วกลมกล่าว

  • จากคนทำ “ครัวกากๆ” สู่นักวิชาการคนสำคัญของไทย

อาจารย์ตุลทำรายการ “ครัวกากๆ” แค่ 1 ปีเท่านั้น คือ พ.ศ. 2554-2555 แต่เป็นภาพจำสำคัญของเขาในฐานะ “เชฟหมี”

ศาสวัตกล่าวว่า รายการมีคุณูปการมากกว่าแค่สอนทำอาหาร แต่ยัง “เบิกเนตร” หลายๆ คนจนมีการทำคอนเทนต์ลักษณะนี้ตาม เพราะนอกจากอาจารย์ตุลจะทำกับข้าวเป็นจริงๆ แล้ว ยังเป็นคนมีเทคนิคการพูดการสื่อสารในเชิงปรัชญา และวิธีการนำเสนอที่สร้างแรงบันดาลใจเกินกว่าแค่งานครัวหรือความบันเทิง แต่สอดแทรกเรื่องการดำเนินชีวิตด้วย

ส่วนด้านงานวิชาการ ศิริพจน์บอกว่า ความยอดเยี่ยมของอาจารย์ตุลคือการย่อยสิ่งที่เข้าใจยากมาอธิบายและนำเสนอให้เข้าใจง่ายได้ โดยไม่ลดทอนเนื้อหาสำคัญของสิ่งนั้น ซึ่งประเด็นนี้นิ้วกลมเสริมว่า “เขาจะตัวเองไปอยู่ในประสบการณ์ทางจิตวิญญาณด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่อ่าน แต่ไปอยู่ในโลกใบนั้น สัมผัสด้วยตัวเองก่อนเอามาถ่ายทอด ทำให้อธิบายได้อย่างเข้าใจง่าย”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
  • “อาจารย์ตุล” เป็นเพื่อนแบบไหน?

ศาสวัตบอกว่า มองอาจารย์ตุลในหลายมิติมาก แต่ด้านที่โดดเด่นที่สุดในฐานะเพื่อนคือการเป็น “เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก” ในแนวคิดทางการเมือง และเป็น “น้ำทิพย์ชะโลมใจในสถานการณ์บ้านเมืองที่หลายคนไม่ได้คิดแบบเรา”

ขณะที่ ศิริพจน์ยืนยันว่า วิธีศึกษาของอาจารย์ตุลเป็นแบบอย่างให้นักศึกษาและคนทำงานวิชาการ เพราะความรู้ที่เป็นประโยชน์ของเขาถูกเผยแพร่เรื่อย ๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ไม่ได้ “เก็บไว้บนหิ้ง” ทำให้มีคนได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เยอะมาก

นิ้วกลมเสริมประเด็นของศาสวัตว่า “เขาผลักดันผมตลอดให้แสดงทัศนะทางการเมือง ต่อให้โดนรองเท้าเขวี้ยงกลับมาก็ถือซะว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะการฝึกตนไม่ใช่การออกจากโลก แต่คือการเข้าไปขลุกอยู่กับโลก จมอยู่กับสังคม ต้องบ่มเพาะโดยไม่หนี แต่จมอยู่กับทะเลแห่งความทุกข์…”

เรียกได้ว่า “อาจารย์ตุล” ไม่เพียงเป็นปัญญาชน นักวิชาการ หรืออินฟลูเอนเซอร์ แต่ยังเป็นกัลยาณมิตรผู้หวังดีต่อมิตรสหาย คนรอบข้าง และเป็นนักจรรโลงสังคมผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาอีกด้วย

ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร น้าช้าง ครัวกากๆ
ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ “น้าช้าง ครัวกากๆ”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2568