
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ผมจะจำเขาได้ว่าเป็นเพื่อนที่เก่ง เป็นเพื่อนที่ทุกคนยอมรับว่าเก่งตั้งแต่สมัยเรียน เป็นคนที่เรายอมรับจากใจ ด้วยวิธีการพูดและความรู้ต่างๆ ที่เขามี แล้วก็เป็นกัลยาณมิตรที่แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้ตลอด” คือความทรงจำส่วนหนึ่งที่ ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร มีต่อเพื่อนสนิทอย่าง คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือ “อาจารย์ตุล” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมอินเดีย
แม้การจากไปของอาจารย์ตุล เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ในวัย 43 ปี จะเป็นเรื่องแสนเศร้า แต่เมื่อนึกถึงโมงยามที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่รั้วมหาวิทยาลัย ความเศร้าโศกเสียใจนั้นก็แทบจะถูกหักลบกลบไปด้วยความทรงจำที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความสุข ทั้งชีวิตนักศึกษาที่เชียงใหม่ การเป็น “เชฟหมี-น้าช้าง” แห่งครัวกากๆ ไปจนถึงความประทับใจในเรื่องต่างๆ
อย่างที่ศาสวัตถ่ายทอดให้ “ศิลปวัฒนธรรม” ได้รับรู้ถึงแง่มุมชีวิตของเพื่อนสนิทผู้ล่วงลับ ผู้เป็นที่รักของทุกคนในสังคมไทยตลอดไป

รู้จักอาจารย์ตุลได้อย่างไร
ตั้งแต่ปี 2543 ครับ สมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนสื่อสารมวลชนสาขาวิทยุกระจายเสียงมาด้วยกัน ตอนเจอกันช่วงปี 1 ปี 2 เขายังไม่ไว้หนวดไว้เครา มาไว้หนวดไว้เคราก็ตอนเปิดเทอมปี 3
ตุลเป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก เป็นคนมีไอเดียเรื่องการแสดงในคณะ อย่างตอนปี 1 มีอาจารย์ท่านหนึ่งเกษียณพอดี รุ่นพี่ก็ให้น้องปี 1 ทำกิจกรรม ตอนนั้นก็เป็นตุลนี่แหละฮะที่คิดการเต้นสวอนเลค แล้วเขาเล่นเป็นหงส์
ตุลเล่นดนตรีไทยด้วยนะครับ ได้เป็นประธานชมรมดนตรีไทยตั้งแต่อยู่ปี 2 พวกเราที่เป็นเพื่อนก็อยู่ชมรม “เพื่อนของประธานชมรม” (หัวเราะ) คือเล่นอะไรกับเขาไม่เป็นหรอก เหมือนไปเป็นทีมยกของ เนียนๆ อยู่ชมรมกับเขาไปด้วย แล้วตุลเล่นดนตรีได้หลากหลายมากๆ
สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องประทับใจของผมมาถึงทุกวันนี้คือสมัยปี 3 เทอม 1 ห้องเรียนของเราจะเป็นห้องสตูดิโอวิทยุ ก็จะมีห้องอัดเสียง ห้องเก็บแผ่นเสียง ผมกับตุลก็ไปขลุกอยู่ในนั้น วันหนึ่งพวกเราอยู่กันถึงเย็นทำไมไม่รู้ สักพักก็คิดกันว่า ปี 2 เทอม 2 พวกเราเรียนถ่ายภาพ ซึ่งภาพที่ส่งอาจารย์ยังเก็บอยู่ในห้องโฟโต้ เพราะฉะนั้นไปคุ้ยรูปเอามาตกแต่งห้องเรียนกันดีมั้ย
คิดเสร็จก็ไปรื้อกันอยู่สองคน ภาพไหนชอบก็เอามาติดๆ ทำเป็นหอศิลป์เสียงสื่อสาร (หัวเราะ) โดยไม่ได้บอกครูบาอาจารย์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่บอกอาจารย์ไปนิดหน่อยว่า เดี๋ยวพวกผมจะทำหอศิลป์ครับ เชิญอาจารย์ตัดริบบิ้น อาจารย์ก็งงว่าทำที่ไหน แต่ก็มาตัดริบบิ้นให้ มีฉายหนังด้วย หลังเรียนจบผมกลับไปคณะเรื่อยๆ อยู่หลายปี พบว่ารูปที่เราแปะไว้ยังอยู่ น้องไม่กล้าเอาออก คงคิดว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์
พวกเราเรียนวิทยุกระจายเสียง ตอนปี 3 ขึ้นปี 4 ช่วงซัมเมอร์ เราไปสอบใบผู้ประกาศกัน ต้องออกเสียงอักขระควบกล้ำให้ดี ไหนจะความตื่นเต้น ตุลเป็นหนึ่งเดียวในรุ่นที่สอบได้ แล้วตอนปี 4 เทอม 2 ที่ต้องฝึกงาน ตุลกลับไปฝึกงานที่บ้าน น่าจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง ทำรายการเกี่ยวกับการให้ความรู้แรงงาน เพราะแถวนั้นมีแรงงานเพื่อนบ้านเยอะ แล้วเปิดเพลงเพื่อชีวิตให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายรายการ แต่ปกติตุลไม่ได้ฟังเพลงแนวนี้ แสดงว่าเขาเป็นคนใส่ใจรายละเอียดทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ทักษะการพูดคนเดียว การพูดหน้ากล้อง การพูดกับสื่อ ตุลมีสิ่งเหล่านี้ครบอยู่แล้ว และสิ่งที่เก่งมากๆ ตั้งแต่สมัยเรียนของเขาคือการถ่ายทอด เป็นคุณสมบัติหายากที่สามารถพูดเรื่องยากให้เข้าใจง่าย และไม่ลดทอนจนเกินไป

ความสนใจด้านปรัชญาและศาสนาของอาจารย์ตุลเกิดขึ้นช่วงไหน
ตุลสนใจปรัชญาตั้งแต่ช่วงเรียนปริญญาตรี เมื่อก่อนเขาเรียนวิชาพวกอัตถิภาวนิยม (Existentialism) กับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ก็มาเล่าสู่กันฟังในโต๊ะหมูกระทะ (หัวเราะ) อาจเป็นอะไรที่แปลกๆ พอควร กินหมูกระทะที่ร้านเงาไม้หมูกระทะไป คุยเรื่องปรัชญาไป แต่เราก็คุยกันเป็นเรื่องปกติ
ต่อมาตุลเริ่มสนใจศาสนา เขาได้รับการยอมรับจากเพื่อนในรุ่นว่าเป็นคนมีของ คือมีสาระความรู้เยอะมาก แล้วเอกผมจะมีฝ่ายพิธีกรรม คือพิธีใดๆ ตุลจะเป็นคนทำ เพื่อนจะเรียกตุลว่า “พราหมณ์หมี” ซึ่งชื่อ “หมี” มาจากลักษณะท่าทางของเขาคล้ายหมี ส่วนผมเป็น “ช้าง”
เขาอยากเรียนรู้ศาสนาฮินดู สมัยปี 3 เลยไปวัดแขกที่เชียงใหม่ พอตุลเรียนปริญญาโทที่ภาควิชาปรัชญา (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็แปล “วิมุกโตทัย” ที่เป็นหนังสือสวดสรรเสริญพระศิวะจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อในการแปลว่า “ศรีหริทาส” แล้วระดมทุนเพื่อนๆ มาพิมพ์
อีกเรื่องคือตุลอยากเรียนพระเวท เลยไปวัดเทพมณเฑียรแถวเสาชิงช้า แต่เรียนไม่ได้ เพราะคนที่จะเรียนได้ต้องอยู่ในวรรณะพราหมณ์เท่านั้น แต่ต่อมาพราหมณ์ก็สอนให้
ตุลเล่าว่า พราหมณ์บอกว่าหน้าที่ของครูในการถ่ายทอดวิชาความรู้ต้องมาก่อน ที่เหลือคงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่รู้ว่าอะไรถูกหรือผิด

จุดเริ่มต้น “ครัวกากๆ” รายการทำอาหารสุดฮิตเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
เราเริ่มทำด้วยกันตอนต้นปี 2554 ปีน้ำท่วม ตอนนั้นอายุประมาณ 30 มีตุล มีคุณต้าร์ (ภานุวัฒน์ อยู่ชัง) และผม ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากความบังเอิญทั้งนั้นเลยครับ
ตอนนั้นตุลเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร นครปฐม เวลาเข้ากรุงเทพฯ มาวัดเทพมณเฑียร มาทำธุระใดๆ ก็จะมาอาศัยเพื่อนนอน ไม่ห้องผมก็ห้องต้าร์ วันนั้นเขาไปอยู่ห้องต้าร์ แล้วต้าร์อยากถ่ายกระบวนการทำข้าวผัดอเมริกันไว้เผื่อทำเอง
ความที่เรียนนิเทศมาก็จะมีจริตจะก้านความเป็นพิธีกรกันเป็นทุนเดิม แล้วนิสัยใจคอพวกผมมักจะหาอะไรทำเพื่อให้เพื่อนขำหรือด่า คือด่าปนขำ เลยอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นรายการ ตุลเป็น “เชฟหมี” ต้าร์เป็นผู้กำกับโฆษณาก็จะมีทักษะการตัดต่อ ซึ่งเทปแรกผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่มีภาพกับชื่ออยู่ในคลิป เอ๊ะ…ทำไมกูไปอยู่ในนั้นได้วะ (หัวเราะ)
การเผยแพร่ครั้งแรกไม่ใช่ในยูทูบ แต่อัปโหลดในเฟซบุ๊กตุล ทุกคนเข้าไปดูกันแล้วก็ตลกดี ทีนี้พอเป็นเฟซบุ๊ก การเข้าถึงน้อย เพื่อนๆ ดู รุ่นพี่รุ่นน้องดู แล้วบอกว่าสนุกดีนะ น่าจะลองไปอัปยูทูบ พวกผมเลยทำ เกิดเป็นกระแสขึ้นมา
การถ่ายทำไม่มีการเตี๊ยมอะไรเลยครับ อย่างผมเป็น “น้าช้าง” โผล่มาตอนที่ 2 ซึ่งในนั้นมีช่วง “มึงมาทำไม” ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาทำไม (หัวเราะ) คือเราด้นสดทุกอย่าง แต่ตุลอาจคิดมาบ้างแล้วว่าจะทำเมนูอะไร
ต้องยอมรับว่าตุลจับคีย์ของรายการได้ว่าทำอาหารด้วยวัตถุดิบง่ายๆ อยู่หอ ก็สามารถทำออกมาให้ดูหรูได้ พอทำได้จริงคนก็รู้สึกว่าไม่ใช่รายการที่มาทำเอาฮาอย่างเดียว
เราเริ่มรู้สึกว่าคนดูครัวกากๆ เยอะก็ประมาณเดือนกุมภาฯ แล้วตามวิถีเด็ก มช. อยากรำลึกความหลัง ก็จะไปกินข้าวหอใน ตอนนั้นมีคนมาขอถ่ายรูปที่หอ 6 ชาย ซึ่งเป็นหอที่ตุลเคยอยู่สมัยปริญญาตรี ผมก็แบบ เฮ้ย…เกิดอะไรขึ้น งงๆ แล้วก็มีตอนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งโลเคชั่นจะเป็นห้องต้าร์และห้องผมที่กรุงเทพฯ มีห้องตุลที่นครปฐมด้วย มีนอกสถานที่บ้างอย่างเชียงใหม่ และที่ระนองบ้านตุล

เหตุผลที่ปิดตัว “ครัวกากๆ” ทั้งที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
จริงๆ มีหลายปัจจัย ถ้าถามคุณต้าร์ก็จะมองว่าเรายังนึกถึงประโยชน์ของมันในเชิงธุรกิจไม่ออก คือมีรายได้เข้ามานะครับ มีคนจ้างให้ทำเทปพิเศษ หรือได้ไปถ่ายโฆษณาขนม คือถ้าเป็นทุกวันนี้ก็จะคิดในรูปแบบทำรายการ ทำบริษัทนั่นนี่ แต่ตอนนั้นเรานึกไม่ออก บวกกับเรามีหน้าที่การงาน เพราะทั้งตุลและผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว
ถ้ามองจากมุมผม เหมือนเราไม่สนุกอีกต่อไป จากเดิมกลุ่มเป้าหมายเป็นเพื่อนๆ เขาก็โอเค สนุก แต่พอเริ่มกระจายไป เริ่มมีความคาดหวังบางอย่างว่าต้องตลก ต้องฮา และเป็นช่วงที่เราต้องรับมือเสียงภายนอกที่เป็นเชิงลบ ผมว่าไม่ง่ายเลย ทำให้หลังๆ เรากดดันตัวเองเหมือนกันว่าจะยังไง ท้ายสุดผมพบว่าผมไม่ชอบอยู่หน้าจอ เลยคิดว่าหยุดในวันที่ยังมีคนอยากดูพวกเราดีกว่า จึงตัดสินใจหยุดรายการกันในปี 2555
ได้แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นในบทบาทอาจารย์กันบ้างหรือไม่
อาจารย์ตุลเป็นอาจารย์ก่อนผม แล้วที่คณะไอซีที (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร) มีอาจารย์พิเศษที่รู้จักตุล ตุลก็จะชอบพูดว่ามาสมัครที่นี่สิ แต่ตอนนั้นคณะไอซีทียังไม่มีสาขานิเทศศาสตร์ ต่อมาช่วงที่ผมอยู่เชียงใหม่ เป็นเหมือนโชคชะตา เพราะคณะไอซีทีเปิดรับอาจารย์พอดี ผมมาสมัครแล้วก็ได้ เลยเป็นอาจารย์หลังตุลได้ประมาณ 1-2 ปี
ช่วงแรกๆ เราเจอกันบ่อย แต่ด้วยหน้าที่การงาน อย่างอาจารย์ตุลก็จะมุ่งไปทำวัชรสิทธา ส่วนผมมาเรื่องหนังสั้น เวลาที่เจอกันอาจไม่บ่อยเหมือนเมื่อก่อน แต่พอเจอก็คุยทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องตลกไปยันเรื่องปรัชญา คนที่มาคุยด้วยจะงงมากว่าทำไมคอนเทนต์หลากหลาย (หัวเราะ) คือด้วยความสนใจของเราด้วย อย่างเรื่องปรัชญาจะคุยบ่อยเวลาเจอหน้ากัน

เป็นเพื่อนกันมา 20 กว่าปี “อาจารย์ตุล” ในความทรงจำของอาจารย์ศาสวัตเป็นอย่างไร
ผมจะจำเขาได้ว่าเป็นเพื่อนที่เก่ง เป็นเพื่อนที่ทุกคนยอมรับว่าเก่งตั้งแต่สมัยเรียน เป็นคนที่เรายอมรับจากใจ ด้วยวิธีการพูดและความรู้ต่างๆ ที่เขามี แล้วก็เป็นกัลยาณมิตรที่แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้ตลอด
ทั้งผมและตุลจะชอบเรื่องเจ้าๆ นายๆ ชอบอ่าน “ศิลปวัฒนธรรม” อ่านคอลัมน์ใดๆ แล้วเขาตั้งชื่อให้ผมว่า “หลวงพาหพเยนคเชนทร” แปลได้ประมาณว่าช้างที่เป็นพาหนะ เพราะตอนอยู่เชียงใหม่ผมมีมอเตอร์ไซค์ ก็จะพาเขาซ้อนท้ายเมท 100 ไปนั่นไปนี่ด้วยกัน ส่วนผมก็จะตั้งนามสกุลให้ตุลบ้าง ยาวเหยียดเลย มีทั้งไทย จีน สก็อตแลนด์
ผมว่าเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรู้ คือเขาเป็นคนที่สนใจเรื่องรากเหง้าของตัวเองมากๆ มันจะมีเรื่องเล่ากึ่งโจ๊กที่ตุลมักจะชอบพูดถึงว่าสาแหรกครอบครัวเขามาจากไหน เขาบอกว่าญาติทางแม่เป็นคนสก็อตแลนด์ คือเขาจะพยายามไปหาสาแหรกมาแล้วก็ศึกษา
หรืออีกเรื่อง ทุกคนจะตกใจเวลาเขาไปออกรายการพี่ขวัญ (จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ รายการ “ตั้งวงเล่า”) ที่มีแต่งตัวเป็นนั่นเป็นนี่ ผมอยากจะบอกว่าเพื่อนสนิทตุลล้วนเป็นเหยื่อตุลมาหมดแล้ว โดนกันถ้วนหน้า (หัวเราะ)
ตอนผมเรียนปริญญาโท หอผมกับหอเขาอยู่ใกล้กัน ผมอยู่แถวศาลเจ้าพ่อเสือ ส่วนตุลอยู่ปิ่นเกล้า เวลาเบื่อๆ ผมก็นั่งรถเมล์ไปหาเขา ไม่มีอะไรทำก็เล่นแต่งตัวละ แต่งเป็นมาเฟียมั่ง ของก็เอามาจากในห้องนั่นแหละฮะ เขาเป็นคนครีเอทีฟเรื่องนี้มาก (ลากเสียง) ผมนี่นับถือเลย แบบหาของใกล้ตัวมาใช้
แล้วตุลมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือไม่กลัวอาย ไม่กลัวเลยว่าภาพลักษณ์จะเป็นยังไง แต่ผมจะอาย เฮ้ย… ไม่เอา อายเขา แต่ตุลเต็มที่ ชอบมากเรื่องแต่งตัว จับคนอื่นแต่งตัวด้วย (หัวเราะ) เขาเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ
เรื่องน่ารักอีกอย่างของตุลคือ เขาชอบตั้งชื่อให้สิ่งต่างๆ สมมติมีมือถือ เขาก็จะตั้งชื่อมือถือ ครั้งหนึ่งเหมือนเขามีหูดขึ้นที่มือ ตุลก็ตั้งชื่อให้หูดว่า “มาร์กาเร็ต” เรื่องนี้จำได้ถึงทุกวันนี้ ตอนไปงานศพตุลที่ระนองยังคุยกับน้องชายเขาอยู่เลย ทุกวันนี้ตุลก็ยังตั้งชื่อให้ของต่างๆ ที่อยู่ในบ้าน
นี่คือภาพที่ผมจำตุลได้เสมอ
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระตรีมูรติ” ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ กับเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่คนไปขอพรความรัก
- ถอดรหัสเทพเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระศิวะกับพระจันทร์ (อาจ) เป็นเทพองค์เดียวกัน!?
- ชาวฮินดูไม่กิน “วัว” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางส่วนกินกันปกติ!
- “ท้าวเวสสุวรรณ” อธิบดีแห่งเหล่ายักษ์ ผู้ปกปักษ์พระพุทธศาสนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2568