
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ท้าวเวสสุวรรณ” เป็นเทพในกลุ่ม “ท้าวจตุโลกบาล” หรือเทพแห่งทิศทั้ง 4 และมีบทบาทด้านการปกปักษ์รักษาพระศาสนา เป็นที่หวั่นเกรงของสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ศิลปินไทยมักถ่ายทอดรูปลักษณ์ของท่านในรูปของ “ยักษ์” แม้ท่านจะเป็น “คนละพวก” กับยักษ์ที่เราคุ้นเคยกันในเรื่องรามเกียรติ์ก็ตาม
เทพองค์นี้คือใคร หรือเป็นอะไรกันแน่?

เรื่องนี้ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าไว้ในบทความ “ท้าวเวสสุวรรณ who are you?” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2565 ว่า เวสสุวรรณมีความเก่าแก่สืบย้อนถึงยุคพระเวทของอินเดียเลยทีเดียว
นามเดิมในยุคแรกคือ ไวศรวัณ เขียนในภาษาบาลีว่า เวสสวัณ และอีกชื่อคือ “ท้าวกุเวร”
อันที่จริง ไวศรวัณไม่ใช่เทพ คือเป็นอมนุษย์จำพวก “ยักษ์” แต่เป็นยักษ์คนละพวกกับ “ทศกัณฐ์” และวงศาคณาญาติในมหากาพย์รามายณะ (รามเกียรติ์) เพราะกลุ่มนั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “รากษส” มิใช่ “ยักษะ”
รากษสเป็นอมนุษย์ที่ดุร้าย ไม่มีศีลธรรม มักจับมนุษย์หรือสัตว์สวาปามเป็นอาหารอยู่ร่ำไป
ส่วนยักษ์นั้น ชาวบ้านอินเดียเขานับถือเป็นเทพ เป็นผีที่มีอำนาจ แม้ไม่เทียบเท่าเทพชั้นสูงของชาวอารยัน แต่สูงกว่ารากษสที่เป็นผีร้ายแน่ๆ
เมื่อคนไทยรับคติอมนุษย์ทั้งยักษะและรากษสจากอินเดียเข้ามา แต่เรียกรวมกันหมดว่า “ยักษ์” จึงไม่แปลกที่เราจะสับสน

ท้าวกุเวรตามเทวตำนานฮินดูเป็นยักษ์ที่ภักดีต่อพระศิวะมาก ถึงขนาดพระศิวะประทานเมืองให้ ถือเป็นเทพแห่งทรัพย์ เพราะมีสมบัติมหาศาล แต่เป็นขุนคลังนักเก็บรักษา มากกว่านักประทานให้ผู้อื่น และอีกบทบาทหนึ่งคือเทพประจำทิศหรือท้าวจตุโลกบาล โดยเป็นเทพประจำ “ทิศเหนือ”
ยักษ์ในอินเดียนั้นเป็นที่นิยมในระดับชาวบ้าน ไม่ได้แพร่หลายในหมู่พราหมณ์ เมื่อพระพุทธศาสนาซึ่งนับเป็นขบวนการปฏิปักษ์พราหมณ์-ฮินดู อุบัติขึ้นบนโลก พุทธศาสนาจึงนิยมยักษ์ในฐานะเทพของคนรากหญ้า เป็นที่มาของรูปสลักยักษะและยักษีในพุทธสถานต่าง ๆ ในฐานะผู้ปกป้องพระศาสนา
บทบาทของท้าวกุเวรซึ่งถือเป็นหัวหน้ายักษ์ จึงวิวัฒนาการจากเทพประจำทิศในฮินดูมาเป็นอธิบดีแห่งยักษะ ผู้ปกปักษ์พระพุทธศาสนา คุ้มกันพุทธบริษัทจากภัยอมนุษย์ ภูตผีปีศาจทั้งหลาย มิติของท้าวกุเวรในฐานะเจ้าแห่งผี นายแห่งอมนุษย์ หรืออธิบดีแห่งเหล่ายักษ์ จึงโดดเด่นในสังคมไทย มากกว่าการเป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์
พระสูตรหนึ่งในคัมภีร์พุทธศาสนาชื่อ “อาฏานาฏิสูตร” อันกล่าวถึงบทบาทข้างต้นของท้าวกุเวรหรือเวสสุวรรณ ยังเป็นที่มาของบทสวดอาฏานาฏิยปริตร ในพิธีอันโด่งดังอย่าง “สวดภาณยักษ์” โดยการเอาบทดังกล่าวมาสวดเป็นเสียงยักษ์โหยหวน เพื่อไล่พวกอนุษย์ ภูต ผี ปีศาจ
รวมถึงผ้ายันต์รูปท้าวเวสสุวรรณที่นับเป็น “เครื่องราง” ทรงอานุภาพด้านการขับไล่ภูต ผี ปีศาจ คืออาศัยอำนาจบารมีของท่านช่วยปกป้อง ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ไม่ให้มาแผ้วพาน
ใครที่ระแวงว่าตนจะโดน “ของ” หรือมีภูตผีตามรังควาน ลองหันพึ่งท่านดู น่าจะช่วยได้

อ่านเพิ่มเติม :
- ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย
- เทพนพเคราะห์ สู่เรื่องพระสี่เสาร์ กับที่มาสำนวน “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก”
- “เขาไกรลาส” ยังทรุด ยังเอียงได้ เทพก็ตะลึง เขาที่สถิตของพระอิศวร “ชำรุด” ได้อย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2567