ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
คนโบราณเชื่อว่าดาว 9 ดวงบนท้องฟ้าซึ่งเรียงตามลำดับ “มหาทักษา” นั้นมีเทพยดาประจำแต่ละดวงอยู่เรียกว่า “เทพนพเคราะห์” อานุภาพจากอิทธิฤทธิ์ของเทวดาเหล่านี้ยังยึดโยงหรือส่งผลต่อโชคชะตาของผู้คนบนโลกด้วย
เทพนพเคราะห์ ประกอบด้วย พระอาทิตย์, พระจันทร์, พระอังคาร, พระพุธ, พระพฤหัส, พระศุกร์, พระเสาร์, พระราหู และพระเกตุ เรียกดาวข้างต้นว่า “ดาวพระเคราะห์” หรือนพเคราะห์ (นพ– แปลว่า 9) ทั้งนี้ ดวงดาวและเทพยดาเหล่านี้ไม่ได้เหมายถึงดาวเคราะห์ในทางวิทยาศาสตร์ (ดวงอาทิตย์ไม่ใช่ดาวเคราะห์) ในทางโหราศาสตร์ไทย เทพยดาทั้ง 9 องค์จะผลัดเปลี่ยนกันคุ้มครองรักษาชีวิตมนุษย์ทุก ๆ คน ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า “เทวดาเข้าเสวยอายุ”
หลักการของเทวดาเข้าเสวยอายุคือ เมื่อบุคคลมีอายุครบแต่ละช่วง เทพนพเคราะห์องค์หนึ่งองค์ใดจะเข้าเสวยอายุบุคคลผู้นั้น ซึ่งอาจให้ได้ทั้งคุณและโทษ เพราะเทพยดาแต่ละองค์มีอุปนิสัยต่างกัน บางองค์ใจดี มีเมตตากรุณา แต่บางองค์มีใจเหี้ยมโหดดุร้าย
ในบรรดาเทพนพเคราะห์ พระเสาร์กับพระราหูขึ้นชื่อเรื่องการบันดาลเคราะห์ร้าย เรียกได้ว่า หากเทวดาทั้ง 2 เข้าเสวยอายุผู้ใด ผู้นั้นจะพานพบแต่เรื่องร้าย ๆ “จะเกิดภัยพิบัติพลัดที่นาคลาที่อยู่และจะได้ความทุกข์ความลำบาก เสียทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆ”
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีวิธีแก้ไข ตามหลักโหราศาสตร์แล้ว หากเทวดาองค์ใดจะเข้าเสวยอายุ ให้แต่งเครื่องสักการบูชาเคารพรับเทวดาองค์นั้น เมื่อทำแล้ว แม้จะเป็นเทวดาที่ดุร้ายมาเสวยอายุ ก็จะส่งผลให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นเคราะห์ดีได้ หรือหากเทวดาใจดีเข้ามาเสวยอายุ ผู้สักการบูชาจะมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป
เรื่องเทพนพเคราะห์ที่มีผลต่อชะตามนุษย์ ยังปรากฏอยู่ในเอกสารสมุดไทยโบราณ คือ “เรื่องพระสี่เสาร์”
เรื่องพระสี่เสาร์
เรื่องพระสี่เสาร์นี้แปลงจากนิทานภาษาบาลีเป็นไทย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งเมื่อใดหรือใครเป็นผู้แต่ง เป็นหลักฐานทางความเชื่อที่เผยถึงอานุภาพความ “ดุร้าย” ของพระเสาร์ โดยเฉพาะผลต่อชะตาชีวิตของผู้ต่อต้านขัดขืนการบูชาพระเคราะห์ที่เข้ามาเสวยอายุ เป็นเรื่องราวของกษัตริย์นามว่า พระเจ้าสีโสรราช หรือ “พระสี่เสาร์” ขอยกคำอธิบายฉบับร้อยแก้วจากหนังสือ พระสี่เสาร์กลอนสวด (กรมศิลปากร, 2547) มาเล่าโดยย่อ ดังนี้
พระสี่เสาร์เป็นกษัตริย์ผู้มีเดชานุภาพมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ คืนหนึ่งพระองค์มีพระสุบินนิมิตว่า ยอดพระมหาปราสาทหักสะบั้นลง โหรจึงทำนายว่าเป็นเคราะห์ร้าย อีก 7 วัน พระเสาร์จะเข้าเสวยพระชนมายุให้เกิดเภทภัยนานัปการ ขอให้พระองค์ทรงทำบูชาพระเคราะห์เคารพรับพระเสาร์จึงจะพ้นภัย
แต่ปรากฏว่าพระสี่เสาร์ทรงถือตนว่ามีฤทธิ์เดชมาก แม้เทวดาและยักษ์มารยังกริ่งเกรง นับประสาอะไรกับพระเสาร์ จะทำอะไรพระองค์ได้ ว่าแล้วรับสั่งให้ทหารเฝ้าป้องกันปราสาททั้ง 7 ชั้น พร้อมมีพระบัญชาว่าหากพระเสาร์เข้ามาเมื่อใดให้จับกุมเสีย
เมื่อถึงกำหนด พระเสาร์เข้าเสวยพระชนมายุพระสี่เสาร์ ขณะพระองค์บรรทมอยู่นั้นก็บังเกิดความร้อนรุ่มพระหฤทัย เกิดพระสติวิปลาส คว้าได้พระแสงขรรค์แล้วเสด็จออกจากพระมหาปราสาทไปไล่ฟันผู้คนจนวุ่นวายไปทั่วเมือง เหล่าเสนาอำมาตย์และทหารทั้งหลายห้ามปรามไม่ฟัง แล้วทรงม้าพระที่นั่งออกนอกพระนคร ทหารติดตามเสด็จไปก็ไม่ทัน
เมื่อพระองค์มาถึงทุ่งนาแห่งหนึ่ง พลันมงกุฎที่ทรงมาด้วยได้กลายเป็นงอบ พระขรรค์กลายเป็นเคียว ม้ากลายเป็นวัว ขณะนั้นมีชาวนาตามหางอบ ตามหาเคียว ตามหาวัวของตนที่หายไป ประจวบกับข้าวในนายังมีคนขโมยเกี่ยวไปด้วย เมื่อพวกเขาพบพระสี่เสาร์ในสภาพนั้นจึงนึกว่าเป็นโจร พากันเข้าทำร้ายพระองค์จนได้ความเจ็บปวด แล้วยังยึดเอางอบ (มงกุฎ) เคียว (พระขรรค์) และวัว (ม้าพระที่นั่ง) ไปด้วย
พระสี่เสาร์สะบักสะบอมมาพบกับ 2 ตายายผู้ปลูกถั่วปลูกงาเลี้ยงชีพอยู่ในไร่แห่งหนึ่ง จึงขอเข้าไปอาศัยกระท่อมตายายรักษาตัวก่อน ครั้นรุ่งเช้าวันต่อมา ตายายที่กำลังเตรียมจะทำไร่ปลูกถั่วปลูกงาได้พบว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีกลับหายไปเสียดื้อ ๆ แล้วหัวพระธำมรงค์ที่ทรงพระภูษาพระสี่เสาร์ยังกลายเป็นถั่วเป็นงาด้วย ตายายจึงคิดว่าพระองค์ลักเอาถั่วงาของตนไปเป็นแน่ แล้วเข้าทำร้ายจนได้ความทุกข์ทรมานเข้าไปอีก
พระสี่เสาร์จึงเสด็จหนีไปยังวัดแห่งหนึ่ง ขออาศัยอยู่กับพระสงฆ์ในวัดและผนวชที่วัดนั้น แต่ระหว่างทรงจัดย้อมผ้าไตรจีวร มีชายผู้หนึ่งติดตามหาโคที่หายไปและพบพระองค์กำลังต้มกรัก (แก่นขนุน) ย้อมผ้าอยู่ ปรากฏว่าผ้าสบงจีวรและรัดประคตที่ทรงย้อมกลายเป็นเนื้อหนังและไส้โค น้ำกรักย้อมผ้าก็แดงฉานดังเลือดโคอีก ชายผู้นั้นเข้าใจว่าภิกษุพระสี่เสาร์คือโจรขโมยโค เข้าทุบตีฟันแทงจนพระอาการเข้าขั้นสาหัส พระองค์จึงเสด็จหนีไปจากวัด
พระสี่เสาร์ระหกระเหินไปถึงต่างเมืองและได้นางสุทัตต์เป็นชายา นางสุทัตต์นั้นถูกท้าวกินนุวัตพระบิดาเนรเทศออกจากเมืองก่อนได้พบพระสี่เสาร์ เนื่องจากมีโหรทำนายว่านางจะทำให้บิดาเสื่อมเสีย เมื่ออยู่กินกับพระสี่เสาร์จนมีโอรสด้วยกัน ท้าวกินนุวัตจึงได้ทราบความจริงว่าธิดาของตนได้พระสี่เสาร์เป็นสวามี จึงถวายบ้านเมืองให้พระสี่เสาร์ปกครองร่วมกับนางสุทัตต์
เวลาผ่านไป เมื่อพระเสาร์โคจรออก มิได้เสวยพระชนมายุพระสี่เสาร์แล้ว พระองค์จึงสิ้นพระเคราะห์กรรมทั้งหลาย สิ่งของต่าง ๆ ก็กลับกลายคืนรูปดังเก่า ผู้คนที่ครอบครองจึงตกใจกลัวความผิด พากันถวายคืนของมีค่าเหล่านั้น ฝ่ายพระสี่เสาร์ทรงระลึกว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นเพราะเคราะห์จากการไม่ทรงกระทำบูชาพระเสาร์ จึงไม่พยาบาทจองเวรต่อผู้ใดเลย
ใจความของเรื่องทั้งหมดจึงเพื่อย้ำเตือนว่า หากไม่เชื่อถือเทพนพเคราะห์หรือไม่สักการบูชาตามคติโบราณ หากเป็นเทวดาที่ดุร้ายย่อมให้เคราะห์กรรมหรือบันดาลโทษร้ายแรงแก่ผู้นั้นได้
พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก
คติเกี่ยวกับเทพนพเคราะห์และอุปนิสัยเหี้ยมโหดของเทวาบางองค์จึงเป็นที่มาของสำนวนไทย “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก” ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า “ความทุกข์ยากลำบากที่เกิดซ้อน ๆ เข้ามาในขณะเดียวกัน”
ส่วนที่มีทั้งการเข้า (เสวยอายุ) และการแทรกนั้น เพราะจริง ๆ แล้วในแต่ละช่วงอายุที่มีเทวดาคอยบันดาลดวงชะตายังมีเทวดาอีกองค์เข้ามา “แทรก” ระหว่างนั้นด้วย
ยกตัวอย่างจากหนังสือ ตำราเทพนพเคราะห์และวิธีรักษาอุโบสถ (ห้องสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2499) ที่อธิบายการเข้าเสวยอายุและการแทรกของเทพนพเคราะห์ในกรณีของพระเสาร์ ดังนี้
“พระศุกร์เสวยตัวเอง ๔ ปีกับ ๑ เดือน แล้วพระอาทิตย์เข้าแซก ๑ ปี กับ ๒ เดือนแล้ว พระจันทร์แซก ๑ ปี กับ ๑๑ เดือน… เมื่อพระศุกร์ออก พระอาทิตย์ก็เข้าเสวยอีกต่อไป”
และเมื่อพิจารณาจากตำราโหราศาสตร์ไทย พระศุกร์กับพระเสาร์ถือเป็น 2 เทพนพเคราะห์ที่ไม่ค่อยจะถูกกันนัก เพราะโดยทั่วไปแล้วพระศุกร์เป็นดาวดี เสวยอายุใครคนนั้นมักจะได้รับความสุขสบาย แต่พระเสาร์คือดาวให้โทษ คือเป็นยอดดาว (วาย) ร้าย ดังนั้น เมื่อพระศุกร์เสวยอายุใคร หากพระเสาร์เข้ามาแทรก จะส่งผลให้เกิดเรื่องไม่ดี ประสบเคราะห์ร้ายแบบซ้ำซ้อน หรือได้รับความทุกข์ยากอยู่เป็นนิจ
ดังความว่า “พระศุกร์เสวยตัวเอง ให้บูชาพระศุกร์จะได้ลาภเงินทองและผ้าผ่อน จะอยู่เย็นเป็นสุข ลาภนั้นจะมาแต่หนอุดรและอาคเณแลฯ … พระเสาร์แซกพระศุกร์ จะพลัดพรากจากของรัก จะเสียเงินทอง ข้าคนจะหนี ให้บูชาพระศุกร์พระเสาร์จึงจะบันเทาโทษแลฯ”
อ่านเพิ่มเติม :
- ศัพท์โหราศาสตร์
- โหราศาสตร์บนฝ่ามือ “เนินจันทรา” คืออะไร บ่งบอกชีวิตแต่ละคนได้อย่างไร?
- ความหมายของ “อภิไทโภธิบาทว์” เทวดาทางโหราศาสตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544. (ออนไลน์)
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2547). พระสี่เสาร์กลอนสวด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ห้องสมุดมหามกุฎราชวิทยาลัย. (2499). ตำราเทวดานพเคราะห์และวิธีรักษาอุโบสถ. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ นางบุญเรือน ชูบรรจง.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2567