เผยแพร่ |
---|
วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ซึ่งปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติมีหลากหลายเรื่อง ปฏิเสธได้ยากว่าเรื่อง “รามายณะ” มิได้เป็นเพียงวรรณกรรมสำคัญสำหรับชาวอินเดีย แต่ยังเป็นมรดกสำคัญของโลก แม้ว่าเนื้อหาและรายละเอียดจะผสมปนเปและถูกปรับแต่งเรื่อยมาตามยุคสมัย แต่เนื้อหาบางส่วนก็ยังน่าสนใจ สำหรับคนไทยแล้ว ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “รามเกียรติ์”
เป็นที่รับรู้กันดีว่า ผู้แต่งรามายณะ ตามประเพณีที่เชื่อกันมาคือ “ฤาษีวาลมีกิ” แต่รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ บางส่วนนั้น สันนิษฐานกันว่าอาจถูกแต่งขึ้นในภายหลัง เนื้อหาของเรื่องที่ตกทอดกันมาก็มีหลายฉบับและแตกต่างกันออกไป สำหรับในไทยแล้ว มีบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้กวี นักปราชญ์ราชบัณฑิตประชุมกันแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อปี พ.ศ. 2340 หลังการปราบดาภิเษก 15 ปี
เนื้อเรื่องในวรรณคดี “รามเกียรติ์” ฉบับที่คนไทยคุ้นเคยกันเอ่ยถึงสถานที่อย่าง “เขาไกรลาส” ยอดเขาซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร หรือพระศิวะ ในเนื้อเรื่องจากบทละครรามเกียรติ์ เขาไกรลาสก็เคยตกอยู่ในสภาพ “ชำรุด” มาก่อน
ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นด้วยฝีมือยักษ์นามว่า วิรูฬหก ซึ่งเข้าเฝ้าพระอิศวรปีละ 7 ครั้ง วันหนึ่งวิรูฬหกเข้าเฝ้าพระอิศวร ขณะเดินขึ้นบันได วิรุฬหกหมอบกราบทุกขั้นด้วยความเคารพเนื่องจากคิดว่าพระอิศวรเสด็จออกมาพบอสูรเทวาที่มาเข้าเฝ้า แต่แล้วก็ปรากฏตุ๊กแกชะโงกหัวโผล่ออกมาล้อเลียนเย้ยวิรูฬหกทุกๆ ก้าวที่เดินขึ้นบันได วิรูฬหกโกรธมากจึงนำสังวาลวิเศษขว้างใส่
ผลการขว้างกระทบทำให้เขาไกรลาสทรุด กล่าวภาษาชาวบ้านง่ายๆ อีกสำนวนว่า ที่สถิตของพระอิศวรชำรุด ถึงขนาดต้องหาคนมายกเขาไกรลาส ครั้งนั้นผู้มายกเขาไกรลาสให้คือ ทศกัณฐ์
ใจความในบทละครรามเกียรติ์ช่วงที่กล่าวถึงวิรูฬหก ตอนหนึ่งมีเนื้อหาว่า
“(วิรูฬหก)มาถึงสถานไกรลาส อันโอภาสดั่งชั้นดุสิต
พอพระอิศโรโมลิศ สถิตอยู่ยังที่ไสยา
พญามารย่างขึ้นอัฒจันทร์ สำคัญว่าบรมนาถา
เสด็จออกอสูรเทวา ในมุขมหาพิมานชัย
ก็น้อมเศียรนบนิ้วบังคมคัล ทุกขั้นอัฒจันทร์หาเว้นไม่
ค่อยยอบหมอบกราบขึ้นไป มิได้ดูองค์พระทรงญาณ ฯ
อยู่ยอดภูผามาช้านาน เห็นขุนมารเดินกราบบันได
ร้องว่าตุ๊กแกแล้วแลดู ทำชูศีรษะเย้ยให้
ครั้นอสุระกราบลงทีไร ก็ร้องไยไพลงมา ฯ
เมื่อนั้น จึ่งวิรูฬหกยักษา
เห็นสารภูดูหมิ่นอหังการ์ อสุรากริ้วโกรธคือไฟฟอน
แลไปไม่เห็นพระศุลี บนที่เนาวรัตน์ประภัสสร
ก็ถอดสังวาลนาคอลงกรณ์ ขว้างด้วยฤทธิรอนขุนมาร ฯ
ถูกเขาไกรลาสลั่นทรุด สารภูสิ้นสุดสังขาร
มิได้เฝ้าองค์พระทรงญาณ ก็กลับไปบาดาลพารา ฯ”
(คลิกอ่านเพิ่มเติมจาก : บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมุดไทยเล่มที่ 6)
อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อรามสูร สู้รบกับพระอรชุน เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงที่เทวดานางฟ้าออกมาฟ้อนรำ รามสูรเห็น “นางมณีเมขลา” ล่อแก้วจึงอยากได้มาครอง เหาะไปแย่งชิง แต่นางเมขลาทำท่ารำเลาะเลี้ยวไปทางซ้ายขวา รามสูรโกรธจึงขว้างขวานอันเป็นอาวุธคู่กายออกไปแต่ไม่โดน
เมื่อรามสูร เหาะมาพบพระอรชุนเหาะผ่านตัดหน้าไปจึงร้องถามทัก อธิบายความเนื้อหาในบทละครอีกแบบโดยง่ายได้ว่า “ไฉนเหาะผ่านโดยไม่ไว้หน้า ไม่รู้หรือว่าข้าเป็นใคร เดี๋ยวจะสั่งสอนให้”
ฝั่งอรชุน ได้ยินเช่นนี้ก็โกรธ จึงเอ่ยนามตัวเองและถามกลับว่า
“อันนามกรของเราหรือ ชื่อว่าอรชุนแกล้วกล้า เหาะมาโดยทางเมฆา ใช่ว่าเหยียบเศียรขุนมาร อันตัวของมึงนี้เป็นไฉน มาอวดฤทธิไกรกล้าหาญตัว”
อธิบายความโดยง่ายคือ เราชื่ออรชุน เหาะผ่านมาเป็นธรรมดา ไม่ได้ไปเหยียบศรีษะท่าน ไฉนมากล่าวโอ้อวดเช่นนี้
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ก็เข้าสู่ขั้นประลองกำลังกัน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนี้มีใจความว่า
บัดนั้น รามสูรสิทธิศักดิ์ยักษี
ฟังพระอรชุนพาที โกรธดั่งอัคคีไหม้ฟ้า
กรกุมขวานเพชรกวัดแกว่ง ตาแดงเขม้นเข่นฆ่า
สำแดงแผลงฤทธิ์มหึมา ยักษาเข้าไล่รอนราญ ฯ
เมื่อนั้น องค์พระอรชุนใจหาญ
รับรองป้องกันประจัญบาน เผ่นทะยานเข้าต่อกุมภัณฑ์ ฯ
กรซ้ายจับเศียรอสุรา กรขวาเงือดเงื้อพระขรรค์
กลอกกลับสัประยุทธ์พัลวัน เสียงสนั่นครั่นครื้นเมฆา ฯ
บัดนั้น จึ่งรามสูรยักษา
ประจัญกรรอนราญเทวา โจนขึ้นเหยียบบ่าด้วยฤทธี ฯ
ฉวยจับชฎาง่าขวาน จะสังหารด้วยกำลังยักษี
พระอรชุนเรืองฤทธิ์ราวี ก็สลัดอสุรีเสียทัน
แล้วโจนขึ้นเหยียบไหล่ยักษา กรขวาก็ฟาดด้วยพระขรรค์
รามสูรรับรองป้องกัน แล้วหันสลัดกระเด็นไป
พระอรชุนก็พลัดจากบ่า ยักษาจับบาททั้งสองได้
ฟาดเข้ากับเหลี่ยมเมรุไกร หวั่นไหวทั้งไตรโลกา ฯ
อันเขาพระสุเมรุก็เอนทรุด ด้วยฤทธิรุทรแกล้วกล้า
องค์พระอรชุนเทวา ก็ม้วยมรณาทันที ฯ
ครั้นว่าชนะแก่สงคราม มีความชื่นชมเกษมศรี
แกว่งขวานปานแสงอสุนี เหาะไปที่อยู่ด้วยว่องไว ฯ
เมื่อนั้น พระจอมไกรลาสเขาใหญ่
เห็นพระเมรุเอนเอียงลงไป ตกใจตะลึงทั้งกายา ฯ
(คลิกอ่านเพิ่มเติมจาก : บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมุดไทยเล่มที่ 5)
อธิบายความได้ว่า อรชุนจับหัวรามสูร มือขวากำลังจะใช้พระขรรค์ฟันลงมา รามสูรสลัดตัวหลุดมาได้แล้วกระโดดเหยียบบ่าอรชุน เงื้อขวานจะฟันคอ แต่แล้วอรชุนก็สลัดมาได้เช่นกัน
คราวนี้เป็นทีของอรชุน กระโดดขึ้นเหยียบไหล่รามสูร แต่คู่ตรงข้ามก็มีฝีมือหลบหลีกไม่เบาเช่นกันทำให้อรชุน เสียหลัก ตกจากบ่ารามสูรในสภาพคว่ำหน้า รามสูร เห็นดังนั้นก็คว้าข้อเท้า เหวี่ยงอรชุน ฟาดกับเขาพระสุเมรุจนอรชุน สิ้นใจ แรงกระแทกพลอยส่งผลให้พระสุเมรุ “ทรุดเอน” จนพระอิศวร “ตกใจตะลึง” และสั่งให้เหล่าเทพมาช่วยกันฉุดให้ตรงตามเดิม
ทั้งนี้ เขาพระสุเมรุ ถูกวิเคราะห์ไว้ว่าคำว่า เมรุ แปลว่า ภูเขา
ส่วน สุ แปลว่า ดีงาม จึงมีข้อสันนิษฐานว่า สุเมรุน่าจะหมายถึงเขาไกรลาส
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2563