ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เอนก-อัครชัย” พาส่อง “ของสะสมหายาก” ย้อนอดีตบรรยากาศฉลองวันชาติผ่านภาพและสื่อสิ่งพิมพ์
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566 “ศิลปวัฒนธรรม” นำทัพจับมือ สำนักพิมพ์มติชน, MIC และเส้นทางเศรษฐี จัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ที่มติชนอคาเดมี จัดเต็มนักวิชาการแถวหน้าอย่างคับคั่ง รวบรวมของหายากร่วม 250 ชิ้น มาไว้ที่งานนี้!
เมื่อเวลา 13:00 น. ศิลปวัฒนธรรมได้จัดเวทีเสวนาสุดน่าสนใจในหัวข้อ “เปิดภาพหายากและสื่อสิ่งพิมพ์ยุคฉลองรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2563 และ อัครชัย อังศุโภไคย นักสะสมรุ่นใหม่ มาร่วมเปิดประสบการณ์และทอล์กสุดมัน(ส์) เกี่ยวกับภาพหายากและสื่อสิ่งพิมพ์ยุคคณะราษฎร
เอนก นาวิกมูล เริ่มเสวนาด้วยคำถามที่ใคร ๆ ก็อยากรู้ว่า ทำไมคุณ “อัครชัย อังศุโภไคย” หนุ่มอายุน้อยถึงสนใจสะสมของเก่ายุค 2475 ซึ่งได้คำตอบมาว่า “จริง ๆ มันเริ่มจากตอนเด็ก ๆ ที่ห้องสมุดโรงเรียน เราก็จะชอบอ่านหนังสือเก่า อ่านพวกหนังสืออนุสรณ์งานศพ หนังสืออะไรพวกนี้ มันก็เริ่มจากการที่อ่านก่อน แล้วพอเรียนจบ ได้มีโอกาสไปเดินตามตลาดของเก่า งานหนังสือแห่งชาติ ก็ได้เริ่มสนใจ เริ่มซื้อหนังสือต่าง ๆ…แล้วก็ได้แรงบันดาลใจมาจากคำพูดของอาจารย์เอนกเองด้วย ที่บอกว่า ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า’ มันก็เป็นเหมือนแรงบรรดาลใจให้เราได้เริ่มเก็บ”
ก่อนที่ศิลปินแห่งชาติจะยิงคำถามต่อ ถึงแหล่งของการค้นพบของเก่าเหล่านี้ โดยอัครชัยก็ได้ให้ข้อมูลว่า “หลากหลายเลยครับ…ก็จะมีจากคลองถม คลองหลวง ตลาดไทย”
เมื่อถามไถ่ถึงเบื้องต้นเกี่ยวกับที่มาที่ไปอย่างอิ่มหนำ ก็ถึงเวลาต้องโชว์ของสะสมเด็ด ๆ สุด UNSEEN ที่หลายคนน่าจะไม่เคยที่ไหนมาก่อน
อัครชัย ได้เริ่มพูดถึงสิ่งพิมพ์ที่ปรากฏภาพของคุณมานิต วสุวัต ซึ่งเป็นลูกชายของหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) โดยตระกูลนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อโรงภาพยนตร์ “ศรีกรุง” และยังมีหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” เช่นเดียวกัน ซึ่งหนังสือพิมพ์นี้ได้ถูกนำมาโชว์ในงานวันนี้ด้วย ซึ่งนักสะสมคนดังกล่าวได้อธิบายว่า หนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับที่เตรียมมา (พ.ศ. 2477) นั้น ปรากฏภาพบรรยากาศของงานฉลองรัฐธรรมนูญ
“อันนี้เป็นหนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับปีพุทธศักราช 2477 ก็จะมีเขียนรายละเอียดต่าง ๆ อยู่ จะมีเรื่องเกี่ยวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ”
“ข้างในก็จะมีเรื่องโครงงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2477 ก็ถือว่า ในยุคนั้นที่มันยังไม่มีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ถือว่าเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีความสำคัญมากในการกระจายข่าวสารในเวลานั้น”
ก่อนเริ่มพูดถึงภาพโรงหนังศรีกรุงในอดีตที่อยู่บริเวณถนนสุขุมวิท และโรงถ่ายศรีกรุงที่ทุ่งบางกะปิของมานิต วสุวัต ซึ่ง เอนก ได้เพิ่มเติมข้อมูลว่า “เดี๋ยวนี้ก็อยู่ใกล้สยามสมาคม…ถือว่าเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น เพราะว่าพระอโศกมนตรีกับพระอาจวิทยาคมมาซื้อที่ แล้วก็ทำที่ดินขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นเมืองขึ้นมา ก็เลยมีชื่อถนนว่าพระอโศกมนตรีด้วย”
คุณเอนก ยังได้อธิบายเสริมถึงประวัติความเป็นมาของ “วันรัฐธรรมนูญ” เพื่อที่ทำให้ทุกคนได้เข้าใจและอินกับเรื่องราวของของสะสมให้มากยิ่งขึ้น!
“ทีนี้ต้องแทรกนิดนึง เมื่อกี้นี้เราไม่ได้เท้าความว่าปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ก็กลายมาเป็นประชาธิปไตย ทีนี้ปฏิวัติแล้วไม่ใช่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญทันที ต้องใช้เวลาในการร่าง การดู ในที่สุดจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ถึงได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นครั้งแรก
แล้วก็วันที่ 10 11 12 ก็มีการจัดงานรัฐธรรมนูญครั้งแรกในเมืองไทยขึ้นมาตั้งแต่ปี 2475 แล้วก็จัดเรื่อยมา ถามว่ามันสิ้นสุดเมื่อไหร่ ก็จัดมาตลอดแต่ว่ามันมีบางช่วงมีสงครามก็อาจจะหยุด ก็คือยุค 2484-2485 มันไม่สะดวก 2485 ก็น้ำท่วม จนมาจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ท่านขึ้นมาเป็นนายกแทนจอมพล ป. ปี 2500 ก็เลยยุติการจัดงานรัฐธรรมนูญ อันนี้ต้องสรุปให้ทราบสั้น ๆ”
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงของ “ของสะสมหายาก” ต่อทันที
โดยคุณอัครชัยก็ได้หยิบยก “หนังสืออนุสรณ์งานศพ” ขึ้นมากล่าวต่อ เพราะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สนใจควบคู่กันมากับสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ “ตระกูลวสุวัต” จัดทำขึ้นมาเช่นกัน ในหนังสือจะมีการบันทึกทั้งเรื่องราวของโรงภาพยนตร์ศรีกรุง มีการบันทึกอัตชีวประวัติของผู้วายชมน์อีกด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีภาพ “แผ่นเสียงศรีกรุง” มาปรากฏให้ทุกคนได้ดูด้วยตาเนื้ออีกด้วย ซึ่งศิลปินแห่งชาติได้อธิบายถึงวัตถุโบราณมีค่าชิ้นนี้ไว้ว่า “คือทำหนังสมัยก่อนมันเป็นหนังใบ้ ทีนี้ก็คณะศรีกรุงเป็นนักประดิษฐ์ เขาก็เลยพยายามที่จะทำหนังเสียงขึ้นมาด้วย แบบต่างประเทศแล้วมันก็สำเร็จ มันก็เลยมีคำว่าแผ่นเสียงศรีกรุง เพราะฉะนั้น เพลงจากศรีกรุงจากค่ายศรีกรุงก็เลยติดหูเรามาเรื่อย ๆ มีจำนวนมาก คนที่ช่วยแต่งเพลงเพราะ ๆ ให้คือขุนวิตรมาตราหรือสง่า กาญจนาคพันธุ์”
ต่อด้วยภาพการสร้างอาคารโรงละครขนาดใหญ่ที่สามารถจุที่นั่งได้ 2,000-3,000 ที่นั่งในปี 2476 ที่ถนนสาธรในปัจจุบัน โดยใช้เวลาหนึ่งปีในการก่อสร้างเสร็จ และมีความสำคัญอย่างมากเพราะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนที่สนับสนุนวันรัฐธรรมนูญและสื่อสิ่งพิมพ์
ของสะสมหายากไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้น แต่คุณอัครชัยยังพูดถึง ภาพร้านอาหารในอดีต, ภาพของกลุ่มเจ้านายต่าง ๆ, การแต่งกายของคนสมัยก่อน, งานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2483 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สนามหลวง เสือป่า สวนสราญรมย์ ก่อนจะเริ่มซบเซาลงเพราะภัยธรรมชาติและสงคราม
คุณเอนกได้เพิ่มเติมข้อมูลอีกว่า “มันจะมีปีหนึ่งที่มีตลาดนัดที่จัดบริเวณสนามหลวง เสือป่า สวนสราญรมย์ซึ่งเป็นที่มาของตลาดหนังสือเก่านั่นเอง”
ก่อนจะพูดเรื่องเรื่องรัฐธรรมนูญจำลอง สโมสรคณะราษฎร ที่แสดงให้เห็นถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งศิลปินแห่งชาติได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “หลัก 6 ประการ 1.ความปลอดภัย 2.สิทธิเสรีภาพ 3. เรื่องการศึกษา อะไรต่อมิอะไร แต่ก่อนผมก็เคยได้ยินนะ จากใครรู้ไหม จากพ่อเพลงแม่เพลง…เขาจะทำขึ้นมา 6 เสาให้เราได้เตือนว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วมันจะมีหลักสำคัญอยู่ 6 หลักนี้ด้วย”
เมื่อคุณอัครชัยอธิบาย “ของสะสมหายาก” ของตนเองจนจุใจ ก็ถึงเวลาของเอนก ที่จะได้มาโชว์ของสะสมสุดรักสุดหวงของตนเองบ้าง
เริ่มต้นด้วยภาพในหนังสือ “สยามนิกร” ซึ่งเป็นหนังสือการรวมภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ อ.รพี บุนนาค ถ่ายนำมาประมวลในแต่ละปี
“อย่างอันนี้ก็จะเป็นปี 2482 จะมีซุ้มของกองการโฆษณา ปราสาทหิน ฉลองรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นถึงหัวคิดที่จะทำให้คล้ายกับงานเอ็กซ์โปรของในต่างประเทศ”
ก่อนจะพูดถึงแผนที่การจราจรงานรัฐธรรมนูญปี 2497, ภาพบรรยากาศวันที่ 24 มิถุนายน และปิดท้ายด้วยภาพสนามกีฬา ซึ่งเอนก นาวิกมูล ได้อธิบายถึงภาพนี้สั้น ๆ ว่า
“เขารื้อวังวินเซอร์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศออก เสียดายมาก แล้วมาสร้างสนามกีฬา เป็นกรมพลศึกษา”
อ่านเพิ่มเติม :
- สร้างชาติ ละลายอัตลักษณ์ทางชนชั้นด้วย “อาหาร” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- เปิดที่มา “วันชาติ” วันแห่งการเฉลิมฉลองสำคัญที่เลือนหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 24 มิถุนายน 2566