เปิดที่มา “วันชาติ” วันแห่งการเฉลิมฉลองสำคัญที่เลือนหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย

เสวนา กำเนิด และ สิ้นสุด วันชาติ 24 มิถุนายน ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง และ ผศ.ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์

เปิดที่มา “วันชาติ” วันแห่งการเฉลิมฉลองสำคัญที่เลือนหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย

เพราะในอดีต “วันชาติ” ถือเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2475 ศิลปวัฒนธรรม ผู้นำสื่อด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม “สำนักพิมพ์มติชน” สำนักพิมพ์แนวหน้าของไทย “เส้นทางเศรษฐี” ผู้นำสื่อที่สนับสนุนการสร้างอาชีพเอสเอ็มอี และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) ศูนย์รวบรวมข้อมูลที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จึงผนึกกำลังจัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” เนรมิตบรรยากาศเฉลิมฉลองวันชาติสุดยิ่งใหญ่ จัดเต็มทั้งเวทีทอล์ก เปิดกรุของหายาก เทศกาลหนังสือการเมือง วอล์กกิ้งทริป และปาร์ตี้ย้อนยุค

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ศิลปวัฒนธรรมได้จัดเสวนาสุดสเปเชียล ภายใต้หัวข้อ “กำเนิดและสิ้นสุดวันชาติ 24 มิถุนายน” ณ มติชนอคาเดมี โดย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเจ้าของผลงาน “ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” (สำนักพิมพ์มติชน) และผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาบอกเล่าเรื่องราววันชาติแสนน่าสนใจที่เรา (อาจ) ไม่รู้ มาให้ทุกคนได้ฟัง!

ผศ.ดร. ศรัญญูได้เริ่มต้นเสวนาถึงเรื่องการกำเนิดของวันชาติ ที่มาที่ไปของวันชาติและความประสงค์ของคณะราษฎร ว่า วันชาติของคณะราษฎร ถ้าตามหลักฐานแล้ว ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 โดยก่อนหน้าปี 2475 ประเทศไทยไม่มีวันชาติ ซึ่งวันชาติที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีความแตกต่างจากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างมาก เพราะแต่เดิมวันชาตินั้นจะเน้นไปที่กลุ่มของชนชั้นนำ มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับกษัตริย์ แต่เมื่อคณะราษฎรเข้ามายึดอำนาจก็เริ่มจะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และเกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดของรัฐธรรมนูญ

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์

“เราจะพบว่า ในหน้าหนังสือพิมพ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 มีการนำเสนอฉลองวันชาติด้วยรูปอนุสาวรีย์ปราบกบฏ แล้วก็เอารูปหมุดคณะราษฎรมาตีพิมพ์ใหม่ในปี 2479 ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นในสำนึกใหม่บางอย่างที่เชื่อมโยงถึงการก่อกำเนิดของรัฐธรรมนูญ หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475”

โดยอ.ศรัญญูได้อธิบายไว้ว่า เหตุที่คณะราษฎรเลือกใช้ปี 2482 เป็นครั้งแรกในการฉลองวันชาติแบบใหม่ตามคติของคณะราษฎรนั้นก็มีเหตุผลมาจาก “การเมืองการปกครองหลัง 2475” ในช่วง 7 ปีแรกนั้นยังไม่มั่นคงเท่าที่ควร

“จะเห็นได้ว่าตั้งแต่หลังปฏิวัติเป็นต้นมา มีการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่าและใหม่มาตลอด มีการประนีประนอมเกิดขึ้น…ระบอบการปกครองใหม่ไม่ได้มั่งคงเท่าไหร่นัก เพราะมีการต่อสู้ในเชิงระยะยาว ก็คือหลังจากมีการออกรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ในด้านหนึ่งคณะราษฎรก็มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกต่อต้าน ทั้งจากการคัดค้านจากอำนาจเก่า และในกลุ่มของตนเอง จึงทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นมาเป็นนายก ก่อนจะโดนรัฐประหารครั้งแรกในปี 2476 และก็มีการรัฐประหารซ้ำอีกด้วย ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายก

ในเดือนตุลาคมก็เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชขึ้น ซึ่งเป็นสงครามที่มีการติดอาวุธสู้กันตั้งแต่ดอนเมือง หลักสี่จนถึงภาคอีสาน ซึ่งเป็นการชี้ชะตาว่าระบบใหม่จะรอดหรือไม่รอด แต่ท้ายที่สุดระบอบใหม่ก็ไปได้ แต่เอาจริง ๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงภายใต้ระบอบใหม่ก็ยังไม่นิ่ง เพราะต้องมีการปฏิรูปทางการเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบโครงสร้าง ส่วนท้องถิ่น เทศบาล มีการตั้งกระทรวงใหม่ ปฏิรูปราชสำนัก กว่าจะอำนาจเก่าจะเริ่มลดลง และอำนาจใหม่เริ่มลงตัวก็ปี 2479” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์กล่าว 

จึงทำให้คณะราษฎรเริ่มฉลองวันชาติในปี 2482 และคณะราษฎรก็เริ่มสร้างแนวคิดแบบใหม่ซึ่งยึดโยงเกี่ยวกับชาติที่หมายถึงประชาชนเป็นหลัก

ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง

ก่อนที่ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง จะเริ่มพูดถึงประเด็น “กิจกรรมในวันชาติ” ว่าประชาชนในสมัยนั้นทำอะไรบ้าง โดยเจ้าของผลงาน “ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” ได้อธิบายไว้ว่า “กิจกรรมวันชาตินั้นถือว่าเป็นกิจกรรมของสามัญชนทั่วไปจริง ๆ ซึ่งเป็นงานมหกรรมที่มีลักษณะแตกต่างไปจากระบอบเก่า อย่างแต่ก่อนจะมีการจัดในสราญรมย์ที่เป็นของชนชั้นนำ ซึ่งแบ่งแย่งจากชาวบ้าน จะมีตลาดรอบนอกสำหรับคนทั่วไป ส่วนเจ้าก็จะอยู่ภายในวัง แต่งานวันชาติกลับเอาตลาดเข้ามารวมเข้ามาด้านใน”

โดยการจัดงานครั้งแรกในปี 2482 ก็จะมีกิจกรรมหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับสามัญชน ซึ่งจะมีการขายของ มีการเฉลิมฉลองตั้งแต่ในกรุงเทพ ลามไปถึงส่วนของธนบุรีที่จะมีตลาดนัดบริเวณเชิงสะพานพุทธ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่คนในฝั่งรัตนโกสินทร์เท่านั้นที่เป็นประชาชนคนไทย 

นอกจากนี้ อ.ณัฐพล ยังกล่าวต่อไปว่ากิจกรรมวันชาติไม่ได้มีแค่ตลาดนัดเท่านั้น แต่ยังมี การวางศิลาฤกษ์ การประกวด และกิจกรรมอีกมากมาย “กิจกรรมงานวันชาติ มีทั้งการทำไปรษณียากร ประกวดบทเพลง ทำสมุดบันทึกงานวันชาติ มีการรายงานผลความก้าวหน้าของรัฐบาล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลรายงานว่าเราทำอะไรบ้าง”

ทั้งยังมีการเฉลิมฉลองแบบใหม่ เช่น ในตอนเช้า มีการชักธงชาติซึ่งพึ่งเข้ามามีส่วนสำคัญในความเป็นชาติในช่วงนี้ มีการจัดพื้นที่ถนนราชดำเนินให้สวยงาม ตกบ่ายมีขบวนแห่ กิจกรรมยิงสลุตจากทหาร ตกกลางคืนมีการเดินสวนสนาม จากทหารม้า ทหารบก บริเวณพระบรมรูปทรงม้า และมีการปราสัยทางวิทยุจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม 

ในด้านของผู้คนนั้นมีความตื่นตัวอย่างมากในการเข้าร่วมงานวันชาติ โดย อ.ณัฐพล ได้พูดถึงบรรยากาศในวันนั้นซึ่งยกมาจากหลักฐานต่าง ๆ ว่า “คนแก่นั้นตื่นเต้นและตกใจกับงานอย่างมาก เหมือนตอนที่คนไทยได้เห็นปารีสครั้งแรก ส่วนกลุ่มเด็ก ๆ ก็ต่างทำผม เตรียมชุดกันไว้รอเพื่อจะได้ไปงาน”

โดย อ.ศรัญญู ได้เพิ่มเติมไว้ว่า “งานวันชาติไม่ได้มีแค่เพียงกรุงเทพเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงต่างจังหวัด เช่น ปัตตานี หนองคาย รวมถึงมีการเปิดสถานที่สำคัญ เช่น ศาลยุติธรรม”

ก่อนที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอย่าง อ.ณัฐพล จะสรุปว่า “วันชาติ” ในยุคของคณะราษฎร คือการเฉลิงฉลองที่มีประชาชน และความเป็นชาติโดยสำคัญ เห็นได้จากเหรียญสร้างชาติที่จอมพล ป. ได้มอบให้ประชาชนทั้งหมด 2 ล้านเหรียญปรากฏรูปอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเป็นลวดลายสำคัญ

อย่างไรก็ตาม “วันชาติ” ที่เคยครึกครื้นกลับเงียบเหงาลง เหตุเพราะสงคราม และต่อมาคือเรื่องการเมือง ก่อนจะยุติวันชาติเดิม และเปลี่ยนเป็นวันใหม่อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน โดย อ.ศรัญญู ได้กล่าวไว้ว่า

“เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2486 วันชาติมันก็ไม่ค่อยคึกคักแล้วเพราะภัยสงคราม แล้วก็เริ่มซบเซาหลังปี 2490 เพราะคณะรัฐประหารยึดอำนาจ อนุรักษ์นิยมเริ่มฟื้นตัว ก่อนที่ประตูของคณะราษฎรจะปิดลง และเปลี่ยนวันชาติในปี 2503 ซึ่งก็คือวันที่ 5 ธันวาคม นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 23 มิถุนายน 2566