“พระเสด็จโดยแดนชล” เกร็ดการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค จากพระนารายณ์ ถึงร.7

นับเป็นปีมหามงคลเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเบื้องปลายของพระราชพิธีนี้ จะมีพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งนับเป็นความพิเศษในช่วงเวลาเกือบร้อยปี นับตั้งแต่ที่มีพระราชพิธีนี้ครั้งล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 7

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นพระราชพิธีที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ ขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ วิถีชีวิต ฯลฯ ของคนไทยในหลายแม่มุม ทั้งในระดับชาวบ้าน ไปจนถึงพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนาหัวข้อ “พระเสด็จโดยแดนชล” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ, อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ และเอกภัทร เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ไอคอนลักซ์ ฮอลล์ ชั้น 1 ไอคอนสยาม คลองสาน กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร. ศานติ อธิบายว่า ในดินแดนเอเชียตะวันออเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำลำคลอง และเป็นที่ราบลุ่ม ดังนั้น “เรือ” จึงเป็นพาหนะสำคัญในการสัญจร การเสด็จของพระมหากษัตริย์ทางบกจึงเรียกว่า “สถลมารค” ส่วนการเสด็จทางน้ำจึงเรียกว่า “ชลมารค”

เอกภัทร เชิดธรรมธร, ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ และอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ

เรือเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนาน มีใช้ทั้งในชีวิตประจำวัน ในพิธีกรรม และในพระราชพิธี มาอย่างยาวนาน โดยปรากฏหลักฐานในภาพสลักที่ปราสาทหินบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งมีภาพสลักวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับน้ำ มีภาพสลักการสู้รบของกองทัพเรือเขมรโบราณกับจาม

สำหรับกระบวนเรือพระราชพิธีปรากฏชัดมากที่สุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง แสดงความเห็นว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นวิถีชีวิตไม่น่าจะสันทัดเรื่องน้ำและเรือพระราชพิธีอาจไม่มี เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอย่างกรุงศรีอยุธยา แต่เหตุสำคัญคือไม่มีการค้นพบหลักฐานใดที่ระบุว่าในสมัยสุโขทัยมีกระบวนเรือพระราชพิธี

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งกล่าวถึงเรือพระราชพิธี คือกฎหมายตราสามดวง มีการกล่าวถึงในหลายส่วน เช่น กฏมณเฑียรบาลเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค, เรือพระราชพิธีเนื่องในพระราชพิธีสิบสองเดือน โดยเฉพาะในเดือนอาสยุชหรือพระราชพิธีเดือน 11 และเรือพระราชพิธีในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง เป็นต้น

แม้จะมีการกล่าวถึงเรือพระราชพิธีและวิธีปฏิบัติที่เสมือนเป็นจารีตมาอย่างช้านาน แต่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่สมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ ปรากฏหลักฐานในสมัยสมเด็จพระนารายรณ์ เป็นตำราใหญ่ที่เรียกว่า “ขบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ซึ่งเป็นแบบแผนที่ถูกตราขึ้นเป็นตำราที่ใช้สืบเนื่องกันมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ระบุทั้งการจัดกระบวนเรือ กฎเกณฑ์ รวมถึงการกำหนดเสื้อผ้าหรือการแต่งกายของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบรรดาศักดิ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ตำราพยุหยาตราเพชรพวงมีการแตกออกเป็นสองแนวทางคือ เจ้านายกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าก็ได้บันทึกถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้แนวทางหนึ่ง ดังปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัด ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือการถ่ายทอดผ่านความทรงจำของเจ้านายและขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่เคยได้พบได้สัมผัสกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาก่อน และได้รื้อฟื้นมาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ฟื้นคืนพระราชพิธีโดยได้โปรดเกล้าฯ ให้เขียนเป็นตำราสองแบบคือ สมุดภาพตำรากระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพชรพวง และให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งลิลิตกระบวนพยุหยาตราเพชรพวงออกมาอีก เพื่อให้เห็นทั้งภาพและแบบแผนวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวว่าแนวคิดเหล่านี้คือการสร้างกรุงศรีอยุธยาที่ล่มสลายให้กลับคืนมาเป็นเหมือนเดิม พยายามยึดคติเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด

สำหรับเรือพระราชพิธีนั้นสามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยเรือพระที่นั่ง เป็นเรือของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น เรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง เรื่องพระที่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งเอกชัย เป็นต้น เรือพระที่นั่งเหล่านี้เป็นเรือไชย แต่มีการประดับตกแต่งเขียนลายอย่างสวยงาม เรือเหล่านี้ไม่มีการกระทุ้งเสา แต่ใช้กรับให้สัญญาณฝีพายแทน

เรือพระที่นั่งทรง หมายถึง เรือที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินประทับ
เรือพระที่นั่งรอง หมายถึง เรือพระที่นั่งที่ใช้สำรองในกรณีฉุกเฉิน

หากแบ่งพระที่นั่งออกเป็นตามลำดับชั้น จะแบ่งได้ดังนี้

เรือพระที่นั่งกิ่ง ปรากฏในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด เทียบกับปัจจุบันคือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งเอกไชย หรือเอกชัย เป็นเรือลำดับชั้นรองลงมา ปรากฏหลักฐานว่าเรื่อประเภทนี้ดัดแปลงมาจากเรือแซในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เช่น เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย เรือพระที่นั่งเอกไชยพื้นดำสำหรับพระมหาอุปราช เรือพระที่นั่งเอกไชยพื้นสำหรับเจ้านายทรงกรม ซึ่งปัจจุบันไม่มีเรือระดับชั้นนี้แล้ว

เรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือลำดับชั้นรองลงมา โขนเรือคล้ายเรือดั้ง เทียบกับปัจจุบันคือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

นอกจากนี้ยังมีเรือเหล่าแสนยากรหรือเรือศีรษะสัตว์ต่าง ๆ ครุฑ ยักษ์ สิงห์ ม้า เป็นต้น, เรือดั้ง คือเรือที่ทำหน้าที่ป้องกันหน้าขบวนเรือ, เรือโขมดยา เป็นเรือประจำยศของพระราชาคณะ

นอกจากเรือจะเป็นองค​์ประกอบสำคัญในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องราชูปโภค เครื่องยศ การแต่งกาย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน อาจารย์ธีรพันธุ์อธิบายว่า ผ้านุ่งในสมัยโบราณจะใช้ผ้าสมปัก แบ่งออกเป็น 3 ชนิด สมปักปูม สมปักไหมหรือสมปักยก และสมปักลาย ซึ่งเป็นผ้านุ่งสำหรับการพระราชพิธี สำหรับพระมหากษัตริย์ผ้าสมปักหรือพระภูษาจะพิเศษกว่าผ้าทั่วไป คือจะมีการเขียนทองเป็นลวดลาย ซึ่งสั่งทำมาจากชมพูทวีป

อาจารย์ธีรพันธุ์กล่าวว่ากระบวนหยุหยาตรากับการแต่งกายคือแนวคิดในการจำลองสวรรค์ เรือพระราชพิธีล้วนเป็นพระราชพาหนะของมหาเทพ ดังนั้น บรรดาขุนนางหรือข้าราชการจึงเปรียบเสมือเทวดาบนสวรรค์ การแต่งกายของขุนนางหรือข้าราชการที่เข้ากระบวนก็ต้องแต่งกายต่างกันและลดหลั่นกันไปตามลำดับบรรดาศักดิ์ 

สำหรับการทรงพระภูษาหรือการแต่งกายของพระมหากษัตริย์ ปรากฏแบบแผนในพระตำราทรงเครื่องต้น ที่ระบุระเบียบแบบแผนเป็นธรรมเนียม ซึ่งสอดคล้องกับสีมงคลเพื่อความสิริมงคล และต้องเกี่ยวโยงตามตำราโหราศาสตร์

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการเสด็จเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ปรากฏล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งริ้วกระบวนจะคล้ายกับพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ดังปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินอยู่เนือง ๆ แต่ทั้งสองพระราชพิธีนี้จะมีความแตกต่างกันคือ วัตถุประสงค์ สถานที่ และระยะทางในการเสด็จฯ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ได้ยกตัวอย่างว่า ในการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชจะอัญเชิญผ้าพระกฐิน แต่ในพระราพิธีเสด็จเลียบพระนคร (คาดการณ์ว่า) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชจะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระชัยหลังช้าง 

นอกจากกระบวนเรือพระราชพิธีในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว วิทยากรทั้งสามท่านยังได้ให้ข้อมูลว่า ในอดีตก็มีกระบวนเรือพระราชพิธีหรือกระบวนเสด็จทางชลมารคผ่านคลองคูเมืองและคลองผดุงกรุงเกษมเช่นกัน ซึ่งในอดีต คลองเหล่านี้ไม่ได้มีสภาพเหมือนเช่นปัจจุบัน จึงสามารถเสด็จฯ ทางชลมารคได้ ไม่ว่าจะเป็นในการกระบวนเชิญเสด็จฯ กระบวนเรือพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกหลากหลายประเด็น สามารถรับชมวิดีโอเสวนาเต็ม ๆ ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้

Live สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พระเสด็จโดยแดนชล” โดย – ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ- รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ- อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญเอกภัทร เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา.วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ไอคอนลักซ์ ฮอลล์ ชั้น 1 ไอคอนสยาม คลองสาน กรุงเทพมหานคร#พระเสด็จโดยแดนชล #สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา #ศิลปวัฒนธรรม

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2019

Live (ช่วง2) สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พระเสด็จโดยแดนชล” โดย – ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ- รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ- อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญเอกภัทร เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา.วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ไอคอนลักซ์ ฮอลล์ ชั้น 1 ไอคอนสยาม คลองสาน กรุงเทพมหานคร#พระเสด็จโดยแดนชล #สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา #ศิลปวัฒนธรรม

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2019


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562