“ชาติคือกษัตริย์” “ชาติคือประชาชน” ? ความเป็น “ชาติ” กับความหมายที่แปรเปลี่ยน

ชาติ วันชาติ

“ชาติคือกษัตริย์” “ชาติคือประชาชน” ? ความเป็น “ชาติ” กับความหมายที่แปรเปลี่ยน

วันศุกร์ที่  23 มิถุนายน 2566 ที่มติชนอคาเดมี เครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สนพ.มติชน, MIC และเส้นทางเศรษฐี ร่วมจัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ระดมนักวิชาการเบอร์ต้น ๆ ของประเทศมาขึ้นเวทีทอล์ก นิทรรศการ “เปิดกรุ” จัดแสดงของหายากยุค 2475 

เวลา 15.00 -16.00 น. ในเสวนาหัวข้อ “ความเป็นชาติคืออะไร” โดย ดร. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรและคอลัมนิสต์มากความสามารถ ผู้เขียน “แรงงานวิจารณ์เจ้า” และ ดร. ฐนพงศ์ ลือขจรชัย นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ เจ้าของงานเขียน “ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม” มาร่วมพูดคุยถึง “ชาติ” ในนิยามและความหมายอันหลากหลายในแต่ละห้วงเวลาหรือยุคสมัยของสังคมไทย

คุณฐนพงศ์ เปิดประเด็นเรื่อง “ความเป็นชาติคืออะไร” ว่า เมื่อเราบอก “ขอให้ทุกคนรักชาติ” คำถามคือ ชาติคืออะไร? พร้อมยกตัวอย่างช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาลชูสโลแกนว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แต่เพื่อใคร? จึงต้องการเล่าว่า “ชาติ” มีการให้ความหมายที่เปลี่ยนแปลงหรือถูกแย่งชิงอย่างไรบ้าง โดยกล่าวว่า

“เรามีชาติสองแบบ หลัก ๆ ที่เราเห็นชัดเลยคือ ชาติหมายถึง ‘ประชาชน’ คือประชาธิปไตย หรือ ประชา+อธิปไตย แต่อีกความหมายหนึ่ง เป็นความหมายที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เคยพูดเอาไว้ คือ ชาติหมายถึง ‘องค์กษัตริย์’ ที่เป็นผู้นำของชาติ ใครรักกษัตริย์ก็คือรักชาติ ใครรักชาติก็คือรักกษัตริย์…

คำว่า ชาติ ยังเคยถูกใช้ในทางศาสนาด้วย มาจากคำว่า ‘ชาตะ’ คือ การเกิด เวลาเราพูดว่า ชาติในสมัยก่อนมันคือชาติเกิด คือ ชาติหมา ชาติแมว คือการเกิดและการดำรงอยู่ ดังนั้นเวลาเราพูดคำว่า ชาติไทย โดยนัยหมายถึงว่า คุณเกิดและคุณอยู่เป็นคนไทย”

ดร. ฐนพงศ์ ลือขจรชัย

ทั้งนี้ คำว่าชาติแบบ “การเกิด” ถูกเอามา “Merge” หรือผสานกับชาติที่แปลว่า “Nation” หรือประประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 เพราะการเข้ามาของชาติตะวันตก ทำให้ชนชั้นนำต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่า “ความเป็นชาติไทยคืออะไร” อย่างรัชกาลที่ 5 หากพูดถึงชาติ จะหมายถึงชาติไทยที่เป็นประเทศหรือรัฐไทย หมายรวมถึง ราษฎรของพระองค์ ไม่ได้ระบุหรือจำกัดเชื้อชาติ แม้ในยุคนั้นจะมีชาติพันธุ์ต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ขอให้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร (ของพระองค์) ย่อมถือว่าเป็น “ชาติ” เดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความหมายของชาติมาเปลี่ยนอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 คุณฐนพงศ์ เล่าถึงประเด็นนี้ว่า “เพราะคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยเยอะมากคือ ‘คนจีน’ เกิดกระแสชาตินิยมในประเทศจีนเหมือนกัน คนจีนอยู่ในกรุงเทพฯ ยุคนั้นประมาณ 2 ล้านคน คนจีนบอก ‘ฉันเป็นคนจีน’ แล้วรัชกาลที่ 6 จะทำยังไง? เพราะเราคือชาติไทย คนไทยพวกนั้นคือคนไทยหรือคนจีน? เพราะบางคนอยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว บางคนยังไหว้เจ้าอยู่ คำถามของรัชกาลที่ 6 เพื่อต้องการจะ ‘Merge’ คนจีน…

รัชกาลที่ 6 เลยบอกว่า ‘คนไหนจงรักภักดีต่อฉัน (กษัตริย์) ถือว่าคนนั้นคือคนไทย’ อยากจะส่งโพยก๊วนกลับประเทศจีน จะสนับสนุนก๊กมินตั๋ง อยากสนับสนุนเหมาฯ ก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่คุณจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ก็ยังเป็นคนไทยเหมือนกัน” จะเห็นว่าความเป็นชาติของรัชกาลที่ 6 ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ

ความหมายของ “ชาติ” ที่เปลี่ยนแปลงอย่างลึกล้ำที่สุดเกิดขึ้นในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพราะกลุ่มคนซึ่งรับการศึกษาจากต่างประเทศ หรือกลุ่มคณะราษฎรรู้สึกว่า “กษัตริย์ไม่ได้ทำเพื่อชาติ” กลุ่มคณะราษฎรไม่ได้รู้สึกว่ากษัตริย์ทำเพื่อประชาชน จากสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ทำกับมหาอำนาจ รวมถึงการเสียเดินแดน กษัตริย์ควรจะเอาดินแดนคืนมา

ทำให้หลัง 2475 เมื่อคณะราษฎรได้ขึ้นมามีอำนาจ จึงเปลี่ยนนิยามและให้ความหมายใหม่ว่า ชาติคือประชาชน ความหมายนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก คณะราษฎรใช้ชาติในความหมายดังกล่าวจนกระทระทั่งการปฏิวัติ พ.ศ. 2490 ความหมายของชาติเปลี่ยนอีกครั้ง “ชาติคือประชาชน” ก็จริง แต่กษัตริย์ก็คือประชาชนด้วย แต่เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “สมมติเทพ” เพื่อให้กษัตริย์กับประชาชนเป็นเนื้อเดียวกัน

ความหมายนี้ค่อย ๆ แพร่หลายมากขึ้นจนเกิดจุดเปลี่ยนคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเกิดคำว่า “ราชประชาสมาสัย” คือกษัตริย์-ประชาชน คือ พวกเดียวกัน มีศัตรูคือ เผด็จการทหาร ณ ห้วงเวลานั้นคือ “ถนอม-ประภาส” ทั้งนี้ มีการให้ความหมายว่า “ต้นแบบ” ของเผด็จการทหารมีที่มาจากคณะราษฎรในอดีตนั่นเอง

ชาติยังค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นประชาชน เป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านของกษัตริย์ และชาติไทยมีกษัตริย์เป็นพ่อผู้ยิ่งใหญ่ จนรัฐประหาร 2549 ได้เกิดคำถามในความหมายของคำว่าชาติแบบเดิมมากขึ้น ตั้งแต่สมัยของพันธมิตรฯ, กปปส. รวมถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างการรัฐประหาร 2557 ความหมายแบบเดิมจึงค่อย ๆ แผ่วลงเพราะประสิทธิภาพในการบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหาร ทำให้ควาหมายของ ชาติ คือ ประชาชน “สวิง” กลับขึ้นมา อีกครั้ง และโดดเด่นอย่างมากใน พ.ศ. 2562

คุณศิโรตม์ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง “ความหมายของชาติที่เปลี่ยนแปลงไป” ว่า ชาติมีการเคลื่อนตัวของความหมายอย่างต่อเนื่อง เพราะ “ชาติเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น” ไม่ได้มีอยู่จริง เป็น “cultural artifact” หรือประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม พร้อมยกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้ ที่อำเภอสายบุรี (จังหวัดปัตตานี) ทั้งอำเภอแทบไม่มีภาษาไทยเลย ป้ายมีแต่ภาษายาวี-ภาษามลายู ถ้าจินตนาการถึงสมัยรัชกาลที่ 5-6 เทียบกรุงเทพฯ กับ เชียงใหม่ คงเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่ง นั่นเพราะ “ชาติ” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนที่แตกต่างกันรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

มีการกล่าวถึงคณะราษฎรว่า เป็นคนหนุ่มช่วงก่อน 2475 ผู้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต้องการให้ประเทศมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของนิยามความเป็นชาติเช่นกัน เพราะชาติเคลื่อนจากไม่ใช่ของประชาชน มาเป็นของประชาชน หรือ ชาติคือพลเมือง รวมถึงเรื่องคณะราษฎรในประเด็นที่มักถูกด้อยค่าว่าเป็น “คนกลุ่มน้อย” และยกภาพคณะรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่มีภาพนายพล 4-5 คนพร้อมคนมาถามว่า “นี่คือคนกลุ่มน้อยหรือไม่?” และ “ 5 คนนี้ ยังไงก็น้อยกว่า 99-100 คน (คณะราษฎร)”

คุณศิโรตม์ ขมวดปมเหล่านี้ว่า “เมื่อ ‘ชาติ’ ถูกวิวัฒนาการไปสู่การสร้างประชาธิปไตย มันจะถูกโจมตีว่าประชาธิปไตยเป็นความต้องการของคนส่วนน้อย เช่น 2475 คือคนส่วนน้อย หรือแม้กระทั่ง 14 ตุลาฯ ก็ถูกหาว่าเป็นคนส่วนน้อยเพราะเป็นเรื่องของนักศึกษา…

อีกเวอร์ชันหนึ่ง คือ ชาติ ถูกดึงกลับไปเป็นของคนส่วนน้อยจริง ๆ ด้วยการรัฐประหาร จะไม่มีเรื่องเล่าแบบนี้เลย เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นโดยคนส่วนน้อย คนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารหรือการต่อต้านประชาธิปไตย จะบอกตลอดเวลาว่า ถึงแม้ผู้กระทำการปฏิวัติรัฐประหารจะเป็นคนส่วนน้อย แต่เขาทำตามเจตจำนงค์ของคนส่วนใหญ่”

ดร. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นอกจากนี้ ยังมีการยกภาพของ “หยก” ซึ่งเป็นกรณีนี้มีคนในสังคมเห็นแตกต่างกันเยอะ บางคนบอกว่าหยกเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมของชาติ (สีผม เสื้อผ้า) จากสิ่งที่แสดงออก แต่หยกบอกว่าชาติต้องอยู่บนความเท่าเทียม ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ เรากำลังเห็นการปฏิวัติความหมายของคำว่าชาติอีกครั้ง  รวมถึงการทำให้ประชาธิปไตยเป็นความหมายของความเป็นชาติมากขึ้น

คุณฐนพงศ์ เห็นตรงกันกับคุณศิโรฒม์ในเรื่อง “ชาติเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น” พร้อมเล่าถึงการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในฝรั่งเศสด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม รวมถึงการเกิดขึ้นของหนังสือ “ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม” ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนด้วยเค้าโครงของประวัติศาสตร์ชาตินิยมโดยประชาชน รวมถึงประเด็นที่คณะราษฎรมักถูกด้อยค่า ให้กลายเป็น “คนกลุ่มเล็ก” ถูกทำให้มองว่าเป็นรอยสะดุดของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เพราะประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ส่วนรัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน ขณะที่คณะราษฎรกลายเป็นจุดหักของเรื่องราวเหล่านี้

คุณศิโรตม์ สรุปประเด็นหลักของการพูดคุยอีกครั้งว่า ความหมายของชาติเคลื่อนตัวตลอดเวลา แม้แต่ชัยชนะของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็เป็นหมุดหมายหนึ่งของการเคลื่อนตัวดังกล่าว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่กลายเป็นตัวเรียกคะแนนให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ทั้งที่ในอดีต การเกณฑ์ทหาร หรือเป็นทหาร หมายถึงการทำหน้าที่เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน และเป็นการแสดงออกถึงความรัก “ชาติ” แปลว่าความเชื่อเรื่องชาติ (แบบเดิม) ได้สั่นคลอนไปเยอะแล้ว เพราะคนไม่ต้องการถูกบังคับเกณฑ์ทหาร สิ่งเหล่านี้ยังเป็นรากฐานในเรื่องแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม ขณะที่แนวคิด “ชาติ” ภายใต้อำนาจนิยมถูกต่อต้านอย่างเด่นชัดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 23 มิถุนายน 2566