“จับทหารกบฏ” เหตุเกิดในประเทศไทย หลังเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน”

กบฏแมนฮัตตัน จับทหารกบฏ
ภาพ "จับทหารกบฏ" ในเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน (AFP PHOTO)

ภาพถ่ายจาก AFP มีคำบรรยายประกอบภาพว่าเป็นการ “จับทหารกบฏ” ในเดือนกรกฎาคม 1951 (พ.ศ. 2494) หลังเกิดการต่อสู้ระหว่างกองทัพเรือและกองทัพบกในกรุงเทพ ซึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นถูกจับเป็นตัวประกัน โดยกองทัพอากาศเลือกที่จะอยู่ฝ่ายกองทัพบก

ภาพ “จับทหารกบฏ” ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน (AFP PHOTO)

เหตุการณ์ดังกล่าวรู้จักกันดีในชื่อ “กบฏแมนฮัตตัน” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ขณะที่ จอมพล ป. เดินทางไปร่วมพิธีรับมอบเรือขุดจากอเมริกันชื่อ “แมนฮัตตัน” แต่ถูกทหารเรือจับเป็นตัวประกันและพาตัวไปกักขังไว้ที่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งฝ่ายทหารเรือคาดว่า การจับจอมพล ป. เป็นตัวประกันจะช่วยให้พวกตนสามารถยึดอำนาจไว้ได้โดยง่าย แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นดังหวัง

Advertisement

กองกำลังฝ่ายรัฐบาลนำโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เลือกที่จะตอบโต้ฝ่ายกบฏอย่างรุนแรง เครื่องบินจากกองทัพอากาศยังได้เข้าโจมตีถังเก็บน้ำมันและยิงกราดที่ตั้งของฝ่ายกองทัพเรือ และยังทิ้งระเบิดใส่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ที่จอมพล ป. ถูกจับเป็นตัวประกัน (อ่านเพิ่มเติม : นายทหารผู้ทำลาย “เรือหลวงศรีอยุธยา” ในเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” เผย “เสียใจ-ไม่ได้ตั้งใจ” แต่เป็นเพราะ “ระเบิดเสื่อม”)

“จอมพล ป. จำต้องหนีออกมาจากเรือที่กำลังจะจม และว่ายน้ำเอาตัวรอดในลักษณะที่หมดสง่าผ่าเผย เมื่อเรือรบหลวงถูกทำลายลงแล้ว ฝ่ายกองทัพเรือจึงสิ้นหวัง และความเป็นศัตรูกันก็สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว” ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ระบุใน “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2560